ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลประจำไตรมาส 4 /2559 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน ในภาพรวมของตลาด มีค่าเท่ากับ 51.9 จุด ซึ่งปรับลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้ว (ไตรมาส 3/2559) ที่ดัชนีมีค่าเท่ากับ 53.8 จุด และดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้า มีค่าเท่ากับ 59.6 จุด ซึ่งปรับลดลงจากไตรมาสที่แล้ว (ไตรมาส 3/2559) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 64.7 จุด
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC)ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประจำไตรมาส 4 ปี 2559 พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ในภาพรวมของผู้ประกอบการในภาพรวมของตลาด มีค่าเท่ากับ 51.9 จุด ซึ่งยังคงมีค่าที่สูงกว่าค่ากลาง (ระดับ 50 จุด) แต่ปรับลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้ว (ไตรมาส 3/2559) ที่ดัชนีมีค่าเท่ากับ 53.8 จุด
ทั้งนี้ ในภาพรวมผู้ประกอบการมีค่าความเชื่อมั่นในระดับที่ใกล้เคียงค่าดัชนีของไตรมาสก่อนหน้าในหลายด้าน แต่มีค่าดัชนีต่ำลงเล็กน้อย ประกอบด้วย ด้านผลประกอบการ ด้านการลงทุน การจ้างงาน ด้านต้นทุนการประกอบการ และด้านการเปิดโครงการใหม่ แต่ดัชนีความเชื่อมั่นด้านยอดขายมีการปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ทั้งนี้คงเป็นผลจากการที่มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองของรัฐบาลได้สิ้นสุดลง
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากลุ่มกลุ่มผู้ประกอบการ 2 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed Companies) และที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Non-listed Companies) พบว่าทั้งสองกลุ่มมีระดับความเชื่อมั่นที่แตกต่างกัน โดยผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในระดับที่สูงกว่า ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ดังจะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันเท่ากับ 60.2 จุด ซึ่งยังคงสูงกว่าค่ากลาง (ระดับ 50 จุด) มากพอสมควร แต่ก็ได้มีการปรับลดลง 1.8 จุดจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 62.0 จุด ขณะที่ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายกลางและรายย่อย ก็มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันลดลงในทิศทางเดียวกัน โดยลดลงเหลือเท่ากับ 43.6 จุด ซึ่งเป็นค่าดัชนีไม่ต่ำมากนักว่าค่ากลาง (ระดับ 50 จุด) โดยลดลงไป 2.1 จุดจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 45.7 จุด
การปรับลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นของทั้งสองกลุ่มเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีการลดลงจากช่วงต้นปี 2559 แต่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีค่าความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและต้นทุนการประกอบการที่เพิ่มขึ้น และมีความเชื่อมั่นเรื่องการจ้างงานที่ไม่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งแตกต่างจากผู้ประกอบการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ยังคงมีความเชื่อมั่นเรื่องยอดขายที่สูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมาถึง 5.1 จุด และความเชื่อมั่นด้านยอดขายและด้านการเปิดโครงการใหม่ที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่มีความเชื่อมั่นด้านการลงทุน ด้านต้นทุนการประกอบการ และด้านการจ้างงานที่ลดลงพอสมควร
สำหรับดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) ประจำไตรมาส4/2559 มีค่าเท่ากับ 59.6 จุด ซึ่งปรับลดลงจากไตรมาสที่แล้ว (ไตรมาส 3/2559) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 64.7 จุด อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ข้างต้น ก็อาจกล่าวได้ว่า ในภาพรวมผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้สะท้อนมุมมองที่มีความคาดหวังเชิงบวกต่อทิศทางของตลาดที่อยู่อาศัย โดยมีความคาดหวังในเชิงบวกในเกือบทุกด้าน ยกเว้นด้านต้นทุนการประกอบการ
หากพิจารณากลุ่มผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีค่าดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 62.5 จุด ซึ่งปรับลดลงมากจากระดับ 69.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็มีค่าดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 56.7 จุด ซึ่งปรับลดลงจากระดับ 59.8 จุด ในไตรมาสที่แล้ว สะท้อนว่าผู้ประกอบการซึ่งทั้ง 2 กลุ่มมีความคาดหวังที่ดีต่ออนาคต แต่ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ทั้งนี้ทั้ง 2 กลุ่มมีค่าดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้าที่สูงกว่าค่ากลาง (ระดับ 50 จุด) มากพอสมควร
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบค่าดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) กับ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ข้างต้น ก็อาจกล่าวได้ว่า ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้ง 2 กลุ่มได้สะท้อนมุมมองที่มีความคาดหวังเชิงบวกต่อทิศทางของตลาดที่อยู่อาศัย โดยมีความคาดหวังในเชิงบวกในเกือบทุกด้าน ยกเว้นด้านต้นทุนการประกอบการ
หมายเหตุ: ในการสำรวจดังกล่าวเป็นการตอบแบบสอบถามจำนวน 168 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 32 บริษัท และบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 136 บริษัท โดยมีค่ากลางของดัชนีเท่ากับ 50