ภาษีที่ดินฯบีบปั๊ม-แบงก์สาขา-รัฐวิสาหกิจ ตกกระไดพลอยโจนผันสู่ผู้ประกอบการอสังหาฯ

  • Post author:
You are currently viewing ภาษีที่ดินฯบีบปั๊ม-แบงก์สาขา-รัฐวิสาหกิจ ตกกระไดพลอยโจนผันสู่ผู้ประกอบการอสังหาฯ

จากการที่ภาครัฐอยู่ในระหว่างการแก้ไขภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ…. ที่จะประกาศใช้ในต้นปี 2562 นั้น ที่ผ่านมาเจ้าของแลนด์ลอร์ดทั้งหลายต่างเริ่มปรับตัวตั้งรับกับภาษีใหม่ที่จะประกาศใช้ เพื่อลดภาระทางภาษีให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็จะมีภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจบางส่วนก็เตรียมปรับแผนในการนำที่ดินที่เคยเป็นที่ตั้งหน่วยงาน องค์กร หรือสถานที่ทำธุรกิจมาประยุกต์ให้เกิดรายได้ที่มากขึ้น เพื่อสร้างผลกำไรที่มากพอในการที่จะไม่ต้องแบกภาระด้านภาษี

 

 

ปั๊มน้ำมันจำขายที่ดิน-พัฒนาโครงการเอง

นายเลิศมงคล วราเวณุชย์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์นนทบุรี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้เคยกล่าวถึงกรณีสถานีบริการน้ำมันแบรนด์ต่างๆที่มีอยู่ทั่วประเทศ หากมีการประกาศใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ… ในปี 2562 เชื่อว่าหากไม่มีการปรับแผนการใช้ที่ดิน จะต้องแบกรับภาระภาษีอย่างแน่นอนโดยอัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 2%   หากเป็นสถานีบริการน้ำมันที่อยู่ย่านใจกลางเมือง เช่น สาทร สุขุมวิท พหลโยธิน หรือทำเลแนวรถไฟฟ้า ราคาที่ดินจะมีราคาสูง เช่น ที่ดินราคา 200,000 บาท/ตารางวา ก็จะต้องเสียภาษีตารางวาละ 2,000 บาท ซึ่งเชื่อว่าหากจะนำมาทำเป็นสถานีบริการน้ำมันหรือบัดเจ็ทโฮเทล คงไม่คุ้มค่าอย่างแน่นอน

 

ซึ่งสถานีบริการน้ำมันที่มีสาขามากเป็นอันดับหนึ่งคือปตท.ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ทั่วประเทศมีมากถึง 1,700 แห่ง โดยสาขาที่อยู่ในต่างจังหวัดเกิน 20 ปี แม้ว่าจะเป็นสถานีฯที่เก่า แต่อยู่ในทำเลดี ราคาที่ดินก็สูงมากส่งผลให้ต้องเสียภาษีมากตามไปด้วย เชื่อว่าผู้ให้บริการสถานีน้ำมันคงไม่ขายที่ดิน ส่วนบัดเจ็ทโฮเทล หากจะพัฒนาในพื้นที่ใจกลางเมืองก็ไม่คุ้มค่า และเชื่อว่าสุดท้ายสถานีบริการน้ำมันทั้งของปตท.และแบรนด์อื่นๆก็อาจจะขายที่ดินบางแปลงเท่าที่มีความจำเป็น และจะหันนำที่ดินมาพัฒนาโครงการอสังหาฯเองด้วยอย่างแน่นอน

 

CAT-MCOTไม่ยกเว้นเตรียมดิ้นหาทางรอด

ส่วนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือCAT ก็ไม่ได้รับการยกเว้นในการจัดเก็บภาษีฯด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ดินที่เป็นหน่วยงานของกสท.แต่ละแปลงล้วนซื้อมานานหลายสิบปี ตั้งแต่ราคาที่ดินยังถูก จนปัจจุบันราคาพุ่งไปสูงมาก ขณะนี้มีทั้งหมด 4 แปลงใหญ่ คือที่นนทบุรี งามวงศ์วาน ติวานนท์และเจริญกรุง ล่าสุดกสท.ได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อที่จะบริหารดูแลที่ดินทั้ง 4 แปลงดังกล่าวมาใช้ให้เกิดผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ คาดว่าในขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูล


อีกหน่วยงานคือบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT ซึ่งยังมีที่ดินบริเวณศูนย์วัฒนธรรมกว่า 50 ไร่ ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานและห้องส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ เชื่อว่าสุดท้ายอาจจะต้องนำมาพัฒนาในรูปแบบของคอมเพล็กซ์อย่างแน่นอน

 

แบงก์ปรับตัวนำที่ดินสร้างรายได้ระยะยาว

ส่วนสถาบันการเงินต่างๆที่ผ่านมาแต่ละสถาบันล้วนมีมากกิน 1,000 สาขาทั่วประเทศ และปัจจุบันผู้ใช้บริการก็หันมาทำธุรกรรมผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือมากขึ้น  และในอนาคตเมื่อมีการนำระบบFinTech (ฟินเทค) ที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงกับระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเงินโลกมาใช้ ก็จะยิ่งทำให้สถาบันการเงินต่างๆปิดสาขามากขึ้น เพราะจะมีผู้ไปใช้บริการตามสาขาน้อยลง  ขณะเดียวกันที่ดินบางแปลงซึ่งเป็นที่ตั้งสาขาของสถาบันการเงินแต่ละแห่งซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพ ราคาสูง ซึ่งในอนาคตอาจจะต้องผันนำมาพัฒนาเป็นอาคารสำนักงานให้เช่าหรือศูนย์สัมมนา เพื่อสร้างรายได้ในระยะยาว

 

“ที่ผ่านมาแบงก์จะมีสาขาที่เปิดใหม่เป็นจำนวนมาก แต่หลังจากที่เทคโนโลยีสมัยมาอย่างฟินเทคเข้ามาก็ทำให้ สถิติการเปิดสาขาใหม่และการปิดสาขาติดลบมากขึ้น เนื่องจากทุกแบงก์เริ่มนำระบบ Digital Banking มาใช้ เชื่อว่าในอนาคต 5 ปี แต่ละแบงก์คงลดสาขาเหลือเพียงครึ่งเดียว และหากใครไม่ปรับตัวก็ต้องปิดตัวไป ”นายเลิศมงคล กล่าว

 

เชื่อว่าในปี 2562 ก่อนจะประกาศใช้ภาษีที่ดินฯ สถานีบริการน้ำมัน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงิน จะมีความชัดเจนในการผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการอสังหาฯ อย่างแน่นอน ทั้งนี้จะต้องมีการเตรียมการวิเคราะห์ศึกษาและตัดสินใจตั้งแต่ปีนี้ก่อนเลย เพื่อเตรียมพัฒนาหรือสร้างเสร็จในปี2562 ได้อย่างทันท่วงที

 

toppercool

CEO,Prop2morrow Blogger อสังหาฯ , นักการตลาดดิจิตัล สาย Content marketing