ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ วิเคราะห์ความต้องการที่อยู่อาศัย ผ่านแอพฯ “คนไทยมีบ้าน”

  • Post author:
You are currently viewing ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ วิเคราะห์ความต้องการที่อยู่อาศัย ผ่านแอพฯ “คนไทยมีบ้าน”

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยหน่วยงานการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดทำแอพพลิเคชั่น “คนไทยมีบ้าน” หรือ “Home for All” ขึ้น เพื่อสำรวจความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนทั้งประเทศ โดยประชาชนสามารถ Download แอพพลิเคชั่น ทั้งในระบบ Android และ iOS หรือตอบแบบสำรวจผ่านเว็บไซต์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ 

จำนวนผู้ตอบแบบสำรวจทั่วประเทศ

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานกลยุทธ์ 2 และรักษาการผู้อํานวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า จากจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจทั่วประเทศ ซึ่งทำการสำรวจตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กันยายน 2560 มีจำนวนรวม 78,586 ราย ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มอายุ 21 – 40 ปี (Gen Y) มากที่สุด มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 71.5 ส่วนกลุ่มอายุ 41 – 60 ปี (Gen X)  มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 25.5 กลุ่มอายุน้อยกว่า 21 ปี (Gen Z) มีสัดส่วนร้อยละ 2.0 และกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี (Baby Boomer) มีสัดส่วนรวมกันเพียงร้อยละ 1

 

ในด้านอาชีพของผู้ตอบแบบสำรวจ ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.9 มีอาชีพประจำ ประกอบด้วย พนักงานบริษัทเอกชน ข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ส่วนผู้ที่มีอาชีพอิสระ มีสัดส่วนร้อยละ 42.1 ซึ่งประกอบด้วย อาชีพรับจ้าง/ลูกจ้างไม่ประจำ อาชีพค้าขาย เจ้าของกิจการ/ธุรกิจส่วนตัว นิสิต/นักศึกษา เกษตรกร วิชาชีพเฉพาะ เช่น แพทย์/สถาปนิก/วิศวกร ฯลฯ รวมทั้งไม่มีอาชีพ หรือว่างงาน และเกษียณ

 

ที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน (ภูมิลำเนา) ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 78,586 รายนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 42.4 อยู่ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล รองลงมาอยู่ในภาคเหนือ ร้อยละ 17.3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 15.2 ภาคตะวันออก ร้อยละ 9.4 ภาคใต้ ร้อยละ 9.0 ส่วนภาคกลางและภาคตะวันตกมีสัดส่วนเท่ากัน ร้อยละ 3.3

 

โดยผู้ตอบแบบสำรวจความต้องการที่อยู่อาศัยผ่านแอพพลิเคชั่นคนไทยมีบ้าน (Home for All) ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ปานกลาง – รายได้น้อย โดยสังเกตจากร้อยละ 85 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีรายได้ไม่ถึง 35,000 บาท/เดือน

 

ความต้องการที่อยู่อาศัย และความต้องการบ้านหลังแรก

ผู้ตอบแบบสำรวจทั่วประเทศ จำนวนรวม 78,586 ราย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มที่มีความต้องการที่อยู่อาศัย มีจำนวน 70,068 ราย (ร้อยละ 89.2) และ 2) กลุ่มที่ไม่มีความต้องการที่อยู่อาศัย แต่ต้องการสินเชื่อด้านอื่น ๆ  8,518 ราย (ร้อยละ 10.8)

 

1) กลุ่มที่มีความต้องการที่อยู่อาศัย 70,068 ราย แบ่งออกเป็นผู้ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย หรือกลุ่มผู้มีความต้องการบ้านหลังแรก จำนวน 61,642 ราย (ร้อยละ 88 ) และที่เหลือเป็นกลุ่มผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยอยู่แล้วในปัจจุบัน 8,426 ราย (ร้อยละ 12) แต่เมื่อแบ่งออกเป็นกลุ่มตามความต้องการซื้อจะพบว่า มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย 46,095 ราย (ร้อยละ 65.8) และมีความต้องการปลูกสร้างบ้าน 23,973 ราย (ร้อยละ 34.2)

 

สำหรับในกลุ่มที่ไม่มีความต้องการที่อยู่อาศัยแต่ต้องการสินเชื่อด้านอื่นๆ 8,518 ราย (ร้อยละ 10.8) แบ่งออกเป็นต้องการสินเชื่อเพื่อปรับปรุง / ต่อเติม 7,156 ราย (ร้อยละ 9) และต้องการสินเชื่อเพื่อซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในบ้าน 1,362 ราย (ร้อยละ1.7)

 

ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย

ผู้ตอบแบบสำรวจที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจำนวน 46,095 ราย ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 58.7 ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ จะวิเคราะห์เฉพาะกลุ่มที่ต้องการซื้อในช่วง 1 – 3 ปี หรือตั้งแต่ปี 2560 – 2562 จำนวน 40,338 ราย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 87.5 ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดเท่านั้น ส่วนอีก 5,757 ราย หรือร้อยละ 12.5 ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ถือเป็นกลุ่มที่มีความต้องการในอนาคต ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนในการตัดสินใจ

 

กลุ่มที่มีความต้องการซื้อในช่วงปี 2560 – 2562 จำนวน 40,338 รายนี้ หากนำมาคัดกรองเพื่อค้นหากลุ่มที่มีความพร้อมในการผ่อนชำระสินเชื่อซึ่งเป็นกลุ่มความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีศักยภาพ หรือมีความสามารถผ่อนชำระสินเชื่อได้ พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

 

ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่มีศักยภาพ

ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ร้อยละ 57.3 ต้องการซื้อบ้านเดี่ยว รองลงมา ร้อยละ 25.1 ต้องการซื้อทาวน์เฮ้าส์  ส่วนห้องชุด มีความต้องการซื้อเพียงร้อยละ 8.81 บ้านแฝด และอาคารพาณิชย์ มีความต้องการร้อยละ 4.6 และ 4.1 ตามลำดับ

 

ในด้านราคาที่อยู่อาศัยที่ต้องการซื้อ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 34.7 ต้องการซื้อในช่วงราคา 1,000,001 – 2,000,000 บาท รองลงมาต้องการซื้อในช่วงราคา 700,000 – 1,000,000 บาท ร้อยละ15 โดยจะเห็นได้ว่า ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยระดับราคาต่ำกว่า 1,000,000 บาท มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 45 ส่วนระดับราคา 1,000,001 – 3,000,000 บาท มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 47.7 ส่วนระดับราคาตั้งแต่ 3,000,001 บาทขึ้นไป มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 7.3

 

ในด้านทำเลหรือจังหวัดที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย พบว่ามีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ – ปริมณฑลมากที่สุดร้อยละ 53.2 รองลงมาเป็นภาคตะวันออก มีความต้องการซื้อร้อยละ 11.5 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือมีสัดส่วนความต้องการซื้อใกล้เคียงกัน ร้อยละ 10.6 และ 10.3 ตามลำดับ ภาคใต้มีสัดส่วนร้อยละ 8.3  ภาคตะวันตกมีสัดส่วนร้อยละ 3.2 และภาคกลางมีสัดส่วนร้อยละ 3.0

 

กรุงเทพฯ – ปริมณฑล และภาคตะวันออก เป็นภาคที่มีสัดส่วนความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคา 1,000,001 – 3,000,000 บาท มากกว่าระดับราคาไม่เกิน 1,000,000 บาท ส่วนภาคอื่นๆ มีสัดส่วนความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 1,000,000 บาท มากกว่าระดับราคา 1,000,001 – 3,000,000 บาท

 

ทำเลหรือจังหวัดที่มีความต้องการซื้อสูงสุดในแต่ละภูมิภาค พบว่า ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดหลักที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ติดตามจัดเก็บข้อมูลอุปทานโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายเป็นประจำทุกปี และในแต่ละจังหวัดหลัก ส่วนใหญ่จะมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยกระจุกตัวอยู่ในอำเภอเมือง หรืออำเภอที่เป็นเขตอุตสาหกรรมหลักของจังหวัด เช่น อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฯลฯ หรืออำเภอที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด เช่น อำเภอหาดใหญ่ และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ฯลฯ หรืออำเภอที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักตากอากาศ เช่น อำเภอบางละมุง (พัทยา) จังหวัดชลบุรี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ฯลฯ

 

ส่วนความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ จะกระจายตามเขตต่างๆ ตามชานเมืองของกรุงเทพฯ เช่น เขตบางนา บางกะปิ บางขุนเทียน ลาดกระบัง เป็นต้น ส่วนจังหวัดปริมณฑลจะมีความต้องการซื้อกระจุกตัวในอำเภอเมือง ยกเว้นจังหวัดปทุมธานี ที่มีความต้องการซื้อในอำเภอคลองหลวงมากกว่าอำเภอเมืองปทุมธานี และจังหวัดนครปฐม ที่มีความต้องการซื้อในอำเภอสามพรานมากกว่าอำเภอเมืองนครปฐม

 

ความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย

ความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยจำนวน 23,973 ราย ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 30.5 ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 78,586 ราย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้คัดเลือกเฉพาะกลุ่มที่ต้องการปลูกสร้างในช่วง 1 – 3 ปี หรือตั้งแต่ปี 2560 – 2562 จำนวน 19,109 ราย จากนั้นนำมาคัดกรองหาความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยที่มีศักยภาพหรือมีความสามารถผ่อนชำระสินเชื่อ พบว่ากลุ่มที่มีความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและมีศักยภาพหรือมีความสามารถที่จะผ่อนชำระได้ มีจำนวนร้อยละ 28 ในด้านราคาที่อยู่อาศัยที่ต้องการปลูกสร้าง พบว่า กลุ่มที่มีศักยภาพในการผ่อนชำระ ส่วนใหญ่ร้อยละ 21.7 ต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในช่วงราคา 1,000,001 – 2,000,000 บาท รองลงมาต้องการปลูกสร้างในช่วงราคา 700,000 – 1,000,000 บาท ในสัดส่วนร้อยละ 18.7 โดยจะเห็นได้ว่าความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยระดับราคาต่ำกว่า 1,000,000 บาท มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 70.0 ส่วนระดับราคา 1,000,001 – 3,000,000 บาท มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 27.2 ส่วนระดับราคาตั้งแต่ 3,000,001 บาทขึ้นไป มีสัดส่วนรวมกันเพียงร้อยละ 2.8

 

ในด้านทำเลหรือภาคและจังหวัด ที่มีความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย จะมีความแตกต่างจากทำเลหรือภาคและจังหวัดที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย กล่าวคือ ภาคที่มีความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยมากที่สุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีสัดส่วนร้อยละ 33.1 รองลงมาเป็นภาคเหนือ มีสัดส่วนร้อยละ 24.0 ภาคใต้ มีสัดส่วนร้อยละ 12.7 กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีสัดส่วนร้อยละ 10.6 ภาคตะวันออก มีสัดส่วนร้อยละ 8.2 ภาคตะวันตกร้อยละ 6.5 และภาคกลาง ร้อยละ 4.8 ซึ่งในแต่ละจังหวัดของแต่ละภูมิภาค จะมีความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยกระจากไปยังอำเภอต่างๆ ไม่กระจุกตัวอยู่ในอำเภอเมือง หรืออำเภอที่เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด

 

ในด้านราคาที่อยู่อาศัยที่ต้องการปลูกสร้างในแต่ละภูมิภาครวมทั้งกรุงเทพฯ – ปริมณฑล พบว่า ส่วนใหญ่จะต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 1,000,000 บาทรองลงมาเป็นระดับราคา 1,000,001 – 3,000,000 บาท ส่วนระดับราคามากกว่า 3,000,000 บาทขึ้นไป มีจำนวนน้อยที่สุด

 

จากการกลั่นกรองข้อมูลความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนทั่วประเทศ ที่ได้สำรวจผ่านแอพพลิเคชั่น “คนไทยมีบ้าน” หรือ Home for All และทำการคัดแยกกลุ่มความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีศักยภาพออกจากกลุ่มที่ไม่มีศักยภาพตามข้อมูลดังกล่าวข้างต้นนั้น สรุปได้ว่าภาพรวมความต้องการที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางที่มีศักยภาพ ในช่วงปี 2560 – 2562 จะมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดทั่วประเทศ