ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เผยอนาคต 1-3 ปี จะเกิดย่านนวัตกรรมจำนวน 12 ย่าน สตาร์ทอัพ 100 ราย/ย่าน/ปี หรือ 1,200 คน/ปี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4,800 ล้านบาท ภายใน 3-5 ปี และระยะเวลา 5-10 ปี เกิดการจ้างงาน 10 คน/ 1 ธุรกิจ หรือจำนวน 12,000 คน/ปี ด้านเอกชนระบุต้องปรับตัวรับนวัตกรรมโลก ชูความเป็นศูนย์กลางอีอีซี ลงมือก่อนได้เปรียบ
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ NAI เปิดเผย ในงานสัมมนาซึ่งจัดโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้หัวข้อ”การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ : Area Based Innovation กับภาคอสังหาริมทรัพย์” ว่า ย่านนวัตกรรมจะต่างจากเมืองอัจฉริยะ คือ พื้นที่ขนาดไม่เกิน 4 ตารางกิโลเมตร ที่มีความเข้มข้นของการเกิดนวัตกรรมหรือการใช้นวัตกรรม มีกิจกรรมและการจัดการร่วมกันของชุมชนคนภายในพื้นที่อย่างชัดเจนและเป็นประจำ มีการร่วมแบ่งปันทรัพยากรและร่วมรังสรรค์นวัตกรรมให้ตรงกับเป้าหมายของแต่ละองค์กร หรือให้ตรงความต้องการของคนภายในย่าน
เป็นแนวคิดใหม่ของการวางแผนและออกแบบพื้นที่และสังคมเมืองในหลักการที่ว่าการพัฒนาเมืองหรือย่านให้เป็นกลุ่มคลัสเตอร์ของผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและกลไกที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัยและผู้ดำเนินกิจกรรมในย่าน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ยกระดับระบบสารสนเทศในย่าน เพื่อเชื่อมต่อผู้คนและไอเดียภายในย่าน รวมถึงการมีกลไกที่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ร่วมกัน แบ่งปันความรู้แก่กันของชุมชน ธุรกิจ และหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งมี 12 ย่าน ได้แก่โยธี,รัตนโกสินทร์,ปทุมวัน,คลองสาน,กล้วยน้ำไท,ลาดกระบัง,ปุณณวิถี,บางแสน,ศรีราชา,พัทยา อู่ตะเภา และบ้านฉาง
ทั้งนี้เมื่อเกิดการรวมตัวกันของย่านนวัตกรรมหลายแห่ง อาจมีอัตลักษณ์ที่คล้ายหรือแตกต่างกันก็ได้ จะเกิดนวัตกรรมระดับเมืองซึ่งแตกต่างทั้งขนาด จำนวนผู้คน ทรัพยากรและปัญหาที่แตกต่างกัน โดยในแต่ละย่านจะมีบทบาทที่ส่งเสริมให้ย่านอื่นมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้นได้ ระดับความเข้มข้นของการเกิดนวัตกรรมจะน้อยกว่าย่านนวัตกรรม จะเน้นไปที่การใช้งานนวัตกรรมเป็นสำคัญ เทคโนโลยีสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรมคือเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะมีบทบาทอย่างมากในการส่งผ่านข้อมูล การบริหารจัดการทางไกล การวิเคราะห์ปัญหาล่วงหน้า โดยจะเน้นที่เรื่องความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน การเดินทาง การประกอบอาชีพ และการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคนที่อยู่ในเมืองนวัตกรรม
อย่างไรก็ตามหากย่านพวกนี้ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนได้จะดำเนินการได้ลำบาก คาดว่าภายในระยะเวลา 1-3 ปี จะเกิดย่านนวัตกรรมจำนวน 12 ย่าน มีสตาร์ทอัพ 100 ราย/ย่าน/ปี หรือ 1,200 คน/ปี ,ระยะเวลา 3-5 ปี จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 4,800 ล้านบาท และระยะเวลา 5-10 ปี เกิดการจ้างงาน 10 คน/ 1 ธุรกิจ หรือจำนวน 12,000 คน/ปี
ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่(Area Based Innovation )ในภาคธุรกิจอสังหาฯ ผู้ประกอบการต้องคิดอะไรให้มากกว่าการพัฒนาโครงการ ต้องพัฒนาเป็นย่านนวัตกรรม หรือเป็นเมืองอัจฉริยะอัจฉริยะ(สมาร์ทซิตี้) เพราะการพัฒนาพร้อมกันทั้งประเทศคงเป็นเรื่องทำได้ยาก ซึ่งสามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มได้ จากการทำเมืองสมาร์ทซิตี้ ของญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์ เป็นอย่างไร
“ถ้าเราอยู่นิ่ง ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ปรับตัว จะไม่ทันการเติบโตของนวัตกรรมโลก และเทคโนโลยี รวมทั้งพร็อพเทค ฟินเทค เข้ามาเร็วมาก ต้องหาความรู้เพิ่ม ประเทศไทยถือว่าได้เปรียบในเรื่องของภูมิศาสตร์ทำเลเป็นศูนย์กลางของเออีซี ดังนั้น อย่าอยู่เฉยๆ ต้องทำให้เราโดดเด่นขึ้นมาในภูมิภาคให้ได้ เรื่องการทำอีอีซีถือเป็นเรื่องที่ดี มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็คิด ขึ้นอยู่ว่าใครชิงลงมือได้ก่อนใคร “นายพรนริศ กล่าวในที่สุด