เทคโนโลยีเปลี่ยนนิยามใหม่ให้กับสถานที่ทำงานและคนทำงานในเอเชียแปซิฟิก

  • Post author:
You are currently viewing เทคโนโลยีเปลี่ยนนิยามใหม่ให้กับสถานที่ทำงานและคนทำงานในเอเชียแปซิฟิก

ทำเลไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดอีกต่อไป เพราะประสบการณ์ที่มีกับสถานที่ทำงานจะส่งผลต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การทำงานที่ยืดหยุ่น และกลุ่มมิลเลนเนียล ส่วนบทบาทของเจ้าของอาคารคือผู้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

 

กรุงเทพฯ, 13 พฤศจิกายน 2560  เทคโนโลยีได้กลายเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิวัติวงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในเอเชียแปซิฟิกในระยะยาว  มีบริษัทในภูมิภาคนี้จำนวนมากขึ้นที่เริ่มตระหนักว่าถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งจากการวิจัยของซีบีอาร์อี พบว่า ทั่วทั้งภูมิภาคนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เปลี่ยนความคาดหวังในเรื่องทำเลไปจากเดิม และทำให้ประสบการณ์ในการใช้สถานที่ทำงานของพนักงานกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

 

นายสตีฟ สเวิร์ดโลว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีบีอาร์อี ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “บทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยีในตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์จะยังคงเพิ่มมากขึ้น และจะมีอิทธิพลต่อประสบการณ์ในการใช้สถานที่ทำงานของพนักงานทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิกด้วย ในขณะที่ทำเลยังคงมีความสำคัญ แต่การจัดลำดับปัจจัยสำคัญในตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังเปลี่ยนแปลงไป และจะทำให้อาคารและพื้นที่ในการทำงานต้องมีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน”

ประเด็นสำคัญจากรายงาน

 

  • ทำเลไม่ใช่ทุกอย่างอีกต่อไป: ทำเลเป็นปัจจัยสำคัญในการหาที่ตั้งธุรกิจมาโดยตลอด แต่เทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือได้ทำให้บริษัทต่างๆ มีทางเลือกมากขึ้นที่นอกเหนือไปจากการมีสำนักงานแบบถาวรเพียงแห่งเดียว นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและการมีทุนมนุษย์ (Human Capital) กำลังทำให้ความนิยมในเรื่องทำเลเปลี่ยนแปลงไป
  • เทคโนโลยีทำให้พนักงานกลายเป็นศูนย์กลางของสถานที่ทำงาน: การเปลี่ยนแปลงไปสู่สถานที่ทำงานที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้นั้น เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาประสบการณ์ในการใช้สถานที่ทำงานของพนักงาน
  • การทำงานจากที่ใดก็ได้ทำให้ความต้องการพื้นที่สำนักงานเปลี่ยนไป: โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก บริษัทต่างๆ พยายามสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ทำให้พนักงานมีความพึงพอใจและสะดวกสบายมากขึ้น เนื่องจากพนักงานสามารถเลือกได้ว่าจะทำงานที่ไหน เมื่อใด และอย่างไร จากการศึกษาของแผนกวิจัยซีบีอาร์อีพบว่า บริษัทมีแนวโน้มจะเพิ่มปริมาณพนักงานด้านไอที รวมถึงจ้างผู้เชี่ยวชาญภายนอก หรือย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่อาจจะลดจำนวนพนักงานฝ่ายสนับสนุนให้น้อยลง
  • เจ้าของอาคารคือผู้ที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง: ผู้เช่าพื้นที่สำนักงานคือผู้ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของสถานที่ทำงาน ดังนั้น เจ้าของอาคารจะต้องทำงานให้ใกล้ชิดกับผู้เช่ามากขึ้นในการพัฒนาอาคารอัจฉริยะ (Smart Buildings) โดยให้ผู้เช่าเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนเพื่อค้นหาคุณลักษณะและเทคโนโลยีที่ผู้เช่าต้องการ

 

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ราว 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นผู้เช่าพื้นที่สำนักงาน คาดว่าจะมีความต้องการใช้พื้นที่สำนักงานน้อยลงในอนาคต ซึ่งเหตุผลหลักมาจากการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ได้ดีขึ้นและจำนวนพนักงานที่ลดลง

 

อย่างไรก็ตาม  ขณะที่ปริมาณพื้นที่สำนักงานที่ต้องการมีแนวโน้มลดลง  แต่เจ้าของอาคารนั้นค่อนข้างจะมีความมั่นใจในเรื่องปริมาณความต้องการในอนาคต เนื่องจากมีความต้องการที่มาจากโค-เวิร์กกิ้ง สเปซ และบริษัทสตาร์ทอัพ

 

รายงาน WORK_IT: เทคโนโลยี | สถานที่ทำงาน | งาน ของซีบีอาร์อี มาจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวและทางโทรศัพท์ราว 100 รายโดยแผนกวิจัยซีบีอาร์อี ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2560 ผู้ตอบแบบสอบถามประกอบด้วยผู้เช่าพื้นที่สำนักงาน 69% และเจ้าของอาคารสำนักงาน 31% เพื่อให้มีมุมมองที่สมดุลจากทั้งสองกลุ่ม ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท รวมถึงผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีของบริษัท