รมช.คลัง “วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ” เผยภายในเดือนมีนาคมนี้ร่างพรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวาระ2และ3 ปีนี้ประกาศใช้แน่นอน ด้านนักกฎหมายชี้ภาษีที่ดินฯใหม่ดัน ดันตลาดบ้านมือสองโต ผู้ประกอบการหันพัฒนาบ้านหลังใหญ่มากขึ้นสอดคล้อง “บ้านหลังหลัก”ยกเว้นภาษี
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา เรื่อง “รวมประเด็นสำคัญ ร่างพรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ล่าสุด” โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกล่าวเปิดงานพร้อมกับระบุว่า ปัจจุบันร่างพรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ….. นั้นอยู่ในขั้นตอนของวาระ 1 และจะเข้าสู่การพิจาณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 2 และ 3 ในเดือนมีนาคมนี้ คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะประกาศใช้ในปี2561 มีผลบังคับใช้ในปี 2562 และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้เชื่อว่าจะลดความเหลื่อมล้ำ การเสียภาษี คนมีทรัพย์สินมากจะเสียภาษีมาก คนมีทรัพย์สินน้อยก็จะเสียภาษีน้อยตาม และภาษีที่ดินฯใหม่นี้ก็จะช่วยกระจายรายได้การจัดเก็บภาษีไปยังหน่วยงานท้องถิ่นให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินงาน จากเดิมที่ท้องถิ่นสามารถจัดเก็บภาษีได้เพียง 11% ส่วนงบประมาณที่เหลือรัฐบาลเป็นผู้จัดส่งไปให้
ด้านนายชินภัทร วิสุทธิแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีอากร บริษัทสำนักกฎหมาย สยามซิตี้ จำกัด กล่าวว่า เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ในปี 2562 จะส่งผลกระทบต่อเจ้าของทรัพย์สิน โดยเฉพาะผู้ที่มีทรัพย์สินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนวนมาก และจะส่งผลต่อแนวโน้มของตลาดอสังหาริมทรัพย์หรือตลาดที่อยู่อาศัยในอนาคตอย่างชัดเจน กล่าวคือ จะทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านหลายหลังนั้น “ลดลง” ด้วยการขายออกสู่ตลาด เพื่อลดภาระภาษีซึ่งจะทำให้ตลาด “บ้านมือสอง”ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะพัฒนาบ้านหลังใหญ่ออกสู่ตลาดมากขึ้น เพื่อสอดคล้องกับการยกเว้นภาษี “บ้านหลังหลัก”
ทั้งนี้ภาษีที่ดินฯยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่อย่างน้อย 2 ลักษณะคือ 1).เปลี่ยนลักษณะการถือครองที่ดินจากบุคคลธรรมดาไปยังบริษัท(ตั้งบริษัทถือครองที่ดิน) เพราะภาษีที่ดินเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท และ 2) ภาษีที่ดินฯจะทำให้เกิดการเปลี่ยนลักษณะการใช้สอยที่ดิน กล่าวคือ จะเปลี่ยนจากที่รกร้างว่างเปล่าสู่ที่ดินการเกษตร และเปลี่ยนจาก “ที่ดินรายได้ต่ำ” สู่ “ที่ดินรายได้สูง”
ขณะที่นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวให้ความเห็นว่า มีหลายประเด็นสำคัญในภาษีที่ดินฯใหม่ที่ควรปรับปรุงแก้ไข อาทิ การจัดเก็บภาษีที่ดินฯที่มีการจัดเก็บแบบอัตราก้าวหน้านั้น เพื่อเป็นการป้องกันการวางแผนภาษี จึงเสนอให้มีการจัดเก็บแบบอัตรา “คงที่” อัตราเดียว และเพื่อการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมจากการขยายตัวของเมืองและชุมชน ควรมีการกำหนดอัตราภาษีสูงสุดต่อ1ไร่ จะเป็นประโยชน์มากกว่าการยกเว้น 50 ล้านบาทหรือไม่ ส่วนประเด็นการยกเว้นสำหรับ “บ้านหลังหลัก” ได้รับยกเว้น 20 ล้านบาทนั้น ได้เสนอผ่านสภาหอการค้าให้ “ยกเว้นโดยมูลค่ารวม “
พร้อมกันนี้ยังมีการเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ภาครัฐควรจัดตั้งหน่วยงานพิเศษประเมินภาษีควบคู่กับกรมธนารักษ์ เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง มาตรการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลาง ขยาดย่อม (SME)ที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น