เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กนศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบหลักการของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อเตรียมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไปเร็วๆ นี้ รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP1 กล่าวคือ ภาครัฐจะดำเนินการเวนคืนที่ดิน และภาคเอกชนจะดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จัดหาขบวนรถ เดินรถและซ่อมบำรุง เนื่องจากโครงการไม่คุ้มค่าทางการเงินจึงทำให้ภาครัฐต้องให้เงินสนับสนุนในระยะก่อสร้างและ/หรือระยะดำเนินการ ในขณะที่รูปแบบการรับรายได้ของเอกชน จะแบ่งเป็น City Line ในรูปแบบ Net Cost และ Inter-City Line ในรูปแบบ Gross Cost เพื่อแบ่งรับความเสี่ยงระหว่างภาครัฐและเอกชน สำหรับการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์จะเป็นรูปแบบ PPP1 เช่นเดียวกัน ภาคเอกชนจะได้รับรายได้จากการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ และภาครัฐจะได้รับค่าเช่าจากที่ดินมักกะสัน
การพัฒนา EEC เป็นการสร้างพื้นที่ต่อขยายของเมืองให้กับกรุงเทพฯ รถไฟความเร็วสูงเส้นนี้มีความสําคัญ 4 ด้านคือ 1) รถไฟความเร็วสูงสายนี้จะเข้าเชื่อมโยง 3 สนามบิน จะเป็นการยกระดับสนามบินอู่ตะเภามาเป็น สนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ให้ทํางานควบคู่กับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิที่มีผู้โดยสารเกินความจุแล้ว 17 ล้านคนต่อปี
โครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นการเปิดพื้นที่การพัฒนา 2) รถไฟความเร็วสูง เป็นการเปิดพื้นที่การพัฒนาจากกรุงเทพฯ เชื่อม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยจะมีสถานีรถไฟ 5 สถานี (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา) ซึ่งนอกจากจะมีการพัฒนาบริเวณสถานีให้เป็นพื้นที่พัฒนาเชื่อมโยงกับชุมชนชนเก่าแล้ว ประชาชนตลอดเส้นทาง สามารถมาใช้บริการโดยนำรถยนต์ไปจอดที่สถานีเหล่านี้ได้ ทำให้ประหยัดเวลาการเดินทางมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้รถติดมาก และประเทศได้ประโยชน์จากการลดการใช้น้ำมันและลดความแออัดบนถนน
ด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชม. สนามบินอู่ตะเภาสามารถเชื่อมกับกรุงเทพฯ ได้ใน 45 นาที เทียบกับ 2-3 ชั่วโมงโดยรถยนต์ คาดว่าใช้เวลาเดินทางจาก กรุงเทพฯ – ระยอง 60 นาที กรุงเทพฯ – จันทบุรี 100 นาที และกรุงเทพฯ – ตราด 120 นาทีในอนาคตผู้โดยสาร สามารถลงเครื่องบินที่สนามบินอู่ตะเภา แล้วขึ้นรถไฟความเร็วสูงเข้า กรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว (ใช้เวลาใกล้เคียงกับ สนามบินนาริตะเข้ากรุงโตเกียว)
ผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจตลอดทั้งโครงการประมาณ 700,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน)โดยแบ่งเป็น 50 ปีแรก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 400,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ซึ่งมากกว่าเงินลงทุนประมาณ 200,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) จึงถือว่าเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุน เมื่อครบ 50 ปี แล้ว ยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจนสิ้นอายุของโครงการอีกอย่างน้อย 300,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน)
โครงการนี้ครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภา โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงรวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร
1) รถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยาย แอร์พอร์ตลิงก์ ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กม. (อยู่ในแผนเดิมที่จะมีการก่อสร้าง ความเร็ว 160 กม./ชม.)
2) รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กม. (ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน ความเร็ว 160 กม./ชม.)
3) รถไฟความเร็วสูงจาก สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. (ปรับจากแผนเดิมของรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก (ลาดกระบัง-ระยอง ความเร็ว 250 กม./ชม.)
4) พัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการผู้โดยสาร
* สถานีมักกะสันประมาณ 150 ไร่ สำหรับการเป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง รวมที่จอดรถและเชื่อมโยงกับรถไฟใต้ดิน
* สถานีศรีราชาประมาณ 100 ไร่ สำหรับการเป็นสถานี ที่จอดและอู่ซ่อม เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟแต่ใช้ประโยชน์พื้นที่เพียง 75 ไร่ เพื่อปรับปรุงเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูง และอู่ซ่อมรถจักรของการรถไฟ ส่วนพื้นที่ที่เหลือ 25 ไร่ จึงกำหนดให้เอกชนนำไปพัฒนา และจ่ายค่าเช่าให้การรถไฟตามราคาตลาด
รวมแอร์พอร์ตลิงก์: เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนเรื้อรังของแอร์พอร์ตลิงก์ โดยให้เอกชนซื้อกิจการ
กรณีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ปัจจุบันการดำเนินงานขาดทุนสะสมประมาณ 1,785 ล้านบาท โดยปี 2560 ขาดทุนประมาณ 280 ล้านบาท และเป็นหนี้จากการก่อสร้างประมาณกว่า 33,000 ล้านบาท เมื่อต้องทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จึงนำโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ มารวมและแก้ปัญหาการขาดทุนทีเดียว ทั้งนี้ผู้ลงทุนจะต้องซื้อกิจการในมูลค่าที่เหมาะสม และการรถไฟจะสามารถนำไปลดหนี้ได้
มูลค่าการลงทุนโครงการให้เอกชนเข้าร่วมทุนฯ
เงินลงทุนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หน่วย (ล้านบาท)
- ค่าเวนคืนที่ดิน 4,992 ล้านบาท
- เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (เช่น ทางวิ่ง สถานี depot การแก้ปัญหาจุดตัดระดับดิน) 148,842 ล้านบาท
- เงินลงทุนงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 32,577 ล้านบาท
- เงินลงทุนงานจัดหาขบวนรถ 22,032 ล้านบาท
- ค่าที่ปรึกษา 5,866 ล้านบาท
รวมเงินลงทุนรถไฟความเร็วสูง 214,308 ล้านบาท
เงินลงทุนพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมที่ดินมักกะสัน (ขนาดประมาณ 140 ไร่) 56,685 ล้านบาท
เงินลงทุนที่ดินรอบสถานีความเร็วสูง 4 สถานี (ฉะเชิงเทรา ศรีราชา พัทยา ระยอง) ใช้เขตทางเดิม 25,428 ล้านบาท
รวมเงินลงทุนการพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรม 82,113 ล้านบาท
รวมเงินลงทุนทั้งหมด* 296,421 ล้านบาท
หมายเหตุ * สัดส่วนการลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ยังอยู่ระหว่างการศึกษา
ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ (ก่อสร้างและให้บริการ) ให้เอกชนร่วมทุนฯ
ขึ้นอยู่กับรูปแบบร่วมลงทุนที่เหมาะสมสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชน โดยปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการศึกษา คาดว่าจะมีระยะเวลาโครงการ 30 ปี ถึง 50 ปี
อัตราค่าโดยสาร
ค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงจากมักกะสัน ถึงพัทยา ประมาณ 270 บาท
ค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงจากมักกะสัน ถึงสนามบินอู่ตะเภา ประมาณ 330 บาท
แผนการปฎิบัติงาน (Timeline)
- ประกาศเชิญชวนนักลงทุน มกราคม 2561
- ให้เอกชนเตรียมยื่นข้อเสนอ กุมภาพันธ์ 2561
- ประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือก พฤษภาคม 2561
- ลงนามในสัญญา สิงหาคม 2561
- เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ พ.ศ. 2566