พลัส พร็อพเพอร์ตี้ คาดการณ์ทิศทางคอนโดมิเนียมปี 2561 เติบโตต่อเนื่อง หลังพบหลายโซนจะปิดการขายได้เร็วกว่าค่าเฉลี่ย และยังมีดีมานด์ตอบรับสูง โดยเฉพาะโซนกรุงเทพฯชั้นใน เพลินจิต-ชิดลม สีลม-สาทร สุขุมวิท พบราคา 1.6-4 แสนบาท/ตร.ม.มีแนวโน้มปิดการขายได้ใน 3-4.5 เดือน โซนกรุงเทพฯ ชั้นกลาง พหลโยธิน-พญาไท-พระราม3-รัชดา คอนโดฯ ระดับราคา 1.3-1.6 แสนบาท/ตร.ม. แนวโน้มปิดการขายได้ 1 เดือน โซนชั้นนอกช่วงสุขุมวิทรอบนอก ราคา 1.3-2 แสนบาท/ตร.ม. เชื่อปิดขายหมดภายใน 5 – 6 เดือน
นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผยว่า ตลาดคอนโดมิเนียมในปัจจุบันยังเติบโตอย่างน่าสนใจแม้จะมีบางทำเลที่มีผู้ประกอบการเข้าไปแข่งขันกันค่อนข้างมากจนทำให้การดูดซับเริ่มทรงตัว แต่ในปี 2560 ที่ผ่านมาพบว่า จากอุปทานเสนอขายห้องชุด จำนวน 121,291 ยูนิต อุปสงค์ให้การตอบรับแล้ว 68,228 ยูนิต ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้น 13% หรือเพิ่มขึ้น 9,228 ยูนิต จากปีก่อน ซึ่งยอดขายได้ในรอบนี้ปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกช่วงราคา มาจากทิศทางเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น และหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลง สำหรับสถานการณ์ตลาดคอนโดมิเนียมช่วงครึ่งปีหลัง 2560 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน โซนเพลินจิต-ชิดลม-สีลม-สาทร-สุขุมวิท มีจำนวนทั้งสิ้น 11,148 ยูนิต มีอัตราการดูดซับ 45% ยังมีการตอบรับสูง โดยโครงการที่มีอุปสงค์อยู่ในระดับสูงจะเป็นโครงการในช่วงระดับราคากลาง-บน ราคาขายเฉลี่ย 130,000 – 160,000 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งมีแนวโน้มอัตราการดูดซับดี โดยในทำเลสุขุมวิทพบว่า โครงการระดับราคา 160,000 – 400,000 บาทต่อตารางเมตร ประเมินว่าจะสามารถปิดการขายได้ในระยะเวลาเพียง 3-4.5 เดือน เร็วกว่าค่าเฉลี่ยที่5.5 เดือน เนื่องจากในทำเลดังกล่าวเหลือพื้นที่พัฒนาโครงการไม่มาก แต่ยังมีความต้องการซื้อสูง โครงการในระดับราคาดังกล่าวที่เข้าสู่ตลาดจึงได้รับการตอบรับที่ดี
สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นกลาง โซนพหลโยธิน-พญาไท-พระราม 3-รัชดา มีจำนวนทั้งสิ้น 17,878 ยูนิต มีอัตราการดูดซับ 47% พบอุปสงค์ส่วนใหญ่เป็นโครงการในระดับกลาง ราคา 70,000 – 160,000 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งคอนโดมิเนียมในโซนกรุงเทพฯ ชั้นกลาง ประเมินว่าจะใช้เวลาเฉลี่ยปิดการขายภายในระยะเวลาประมาณ 3 เดือน โดยทำเลพหลโยธินพบว่าคอนโดมิเนียมที่มีอุปสงค์สูงจะเป็นโครงการในช่วงระดับราคา 130,000 – 200,000 บาทต่อตารางเมตร ส่วนคอนโดมิเนียมย่านรัชดาภิเษกโครงการที่มีอุปสงค์สูงจะอยู่ในช่วงราคา 100,000 – 160,000 บาทต่อตารางเมตร แต่โครงการระดับกลาง-บน ในราคา 130,000 – 160,000 บาทต่อตารางเมตร พบว่าเป็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นโครงการที่อยู่บริเวณตามแนวรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ที่จะมีการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเพิ่มเติมตัดเชื่อมผ่านสถานีศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร และยังอยู่ในทำเลศักยภาพที่มีทั้งศูนย์การค้า อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ และในอนาคตจะมีอาคารสูงที่คาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คของประเทศ จึงมีความต้องการซื้อทั้งเพื่ออยู่เองและเพื่อการลงทุน โครงการในระดับราคาดังกล่าวจึงมีดีมานด์ตอบรับดี จากการประเมินจะสามารถขายหมดได้เร็วกว่าค่าเฉลี่ย คือสามารถปิดการขายได้ในระยะเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น
ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก ธนบุรี-สุขุมวิทรอบนอก-บางซื่อ-มีนบุรี-นนทบุรี-พระราม2-รามคำแหง-สุวรรณภูมิ มีจำนวนทั้งสิ้น 18,062 ยูนิต มีอัตราการดูดซับ 43% โดยโซนสุขุมวิทรอบนอก พบว่ามีอุปสงค์ตอบรับในโครงการระดับกลาง คือระดับราคา 50,000 – 100,000 บาทต่อตารางเมตร แต่หากดูจากข้อมูลประเมินจำนวนเดือนที่ควรจะขายหมด พบว่า คอนโดมิเนียมในโครงการระดับกลาง-บนราคา 130,000 – 200,000 บาทต่อตารางเมตร เป็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากทำเลสุขุมวิทรอบนอกกินพื้นที่ค่อนข้างกว้างและศักยภาพแต่ละโซนแตกต่างกัน จึงมีโครงการที่ครอบคลุมหลายระดับราคา โดยโครงการที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายยังมีจำนวนไม่มากและค่อนข้างกระจุกตัว จึงสามารถทำราคาได้สูงกว่าราคาเฉลี่ยในตลาด ซึ่งมีดีมานด์ตอบรับสูงเช่นกัน ทำให้มีแนวโน้มปิดการขายหมดได้เร็วกว่าอัตราประเมิน คือน่าจะสามารถขายหมดภายใน 5 – 6 เดือน จากอัตราเฉลี่ย 7 เดือน
ด้านยอดขายคอนโดมิเนียมของพลัสฯ ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีมูลค่ายอดขายรวม 21,250 ล้านบาท เติบโต 7% จากปี 2559 ที่ 19,890 บาท ส่วนใหญ่มาจากคอนโดมิเนียมระดับกลาง-บน (ราคา 3-7 ล้านบาท) มีอุปสงค์ตอบรับที่ดี โดยโครงการที่เป็นห้องรูปแบบ 1 ห้องนอนมีสัดส่วนขายได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 69% ในปี 2558 เป็น 87% ในปี 2560 ซึ่งทำเลที่ขายได้ดีคือโซนสุขุมวิทตอนต้น-ตอนกลาง (เพลินจิต-เอกมัย) สุขุมวิทตอนปลาย (พระโขนง-บางนา) พหลโยธิน และรัชดาภิเษก ตามลำดับ
สำหรับสถานการณ์ตลาดคอนโดมิเนียมในช่วงครึ่งปีแรก 2561 นี้ คาดว่าตลาดจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากสภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ส่งผลให้เกิดการลงทุนในฝั่งผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและต่างชาติ อีกทั้งในอนาคตยังมีการปรับผังเมืองในกรุงเทพฯ ที่ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้เกิดอุปทานใหม่ในตลาด จึงเป็นสัญญาณที่ดีของภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยในอนาคตคาดว่าจะเกิดโครงการคอนโดมิเนียมในรูปแบบใหม่ เช่น โครงการมิกซ์ยูส , คอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับโครงการอีกด้วย