การนิคมฯ โชว์ผล ลงทุน – ยอดซื้อพื้นที่ – จ้างงาน ยังส่งสัญญาณแรงบวก พร้อมเปิดแอคชั่นแพลน ดัน 3 ยุทธศาสตร์หนุนอุตฯ แห่งอนาคตเต็มสูบ
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ผลประกอบการจากการดำเนินงานของการนิคมอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค. – ธ.ค. 2560) พบว่ามียอดพื้นที่ขาย / เช่า จำนวน 737 ไร่ มีเงินลงทุนรวมกว่า 19,744 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า 2,368 คน มีการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่
1) กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม ประกอบด้วยการค้า และโลจิสติกส์ การสร้างโรงงานเพื่อขาย หรือให้เช่า
2) กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
3) อุตสาหกรรมเหล็กและโลหะ
4) อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก
5) อุตสาหกรรมเครื่องจักร
ปัจจุบัน กนอ. มีนิคมอุตสาหกรรม 56 แห่ง ใน 16 จังหวัด โดยมีพื้นที่สำหรับขาย/ เช่า (รวมพื้นที่ระบบสาธารณูปโภค) ประมาณ 166,063 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ระบบสาธารณูปโภค ประมาณ57,650 ไร่ และพื้นที่สำหรับขาย / เช่า จำนวน 108,413 ไร่ ณ วันที่ 31 มกราคม 2561 มีพื้นที่ขายและเช่าแล้วจำนวน 87,385 ไร่ ดังนั้นจะคงเหลือพื้นที่สำหรับขาย / เช่า อีก 21,028 ไร่ สำหรับมูลค่าการลงทุนสะสมทั้งสิ้น 3.143 ล้านล้านบาท มีผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมากกว่า 4,566 ราย เป็นผลให้เกิดการจ้างงาน 606,552 คน
สำหรับในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมามีการ ขาย/ เช่า พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 3,300 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 8.3 หมื่นล้านบาท และในปีงบประมาณ 2561 คาดว่าจะสามารถ ขาย / เช่า พื้นที่ได้ประมาณ 3,500 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 9 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความชัดเจนขึ้น หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนช. ได้ผ่านความเห็นชอบ พ.ร.บ. อีอีซี ซึ่งเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
นอกจากนี้การพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปีนับจากปี 2561นี้ กนอ.ได้มุ่งเน้นที่จะสนับสนุนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ โดยมีแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตใน 5 กลุ่มที่สำคัญคือ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิตอล และกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุนในปีนี้ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ แรก คือ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : EEC ขณะนี้มีการประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมรวม 21 แห่ง ประกอบด้วย จังหวัดระยอง จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ เหมราชระยอง 36, อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง), เหมราชตะวันออก (มาบตาพุด), เหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด และอมตะซิตี้ มีพื้นที่ประกาศเขตส่งเสริมรวม 40,268 ไร่ และเป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับการลงทุน 8,043 ไร่ และคาดว่าจะมีเงินลงทุนได้ 290,113 ล้านบาท จังหวัดชลบุรี จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ อมตะนคร1-2, ปิ่นทอง 1-5, ยามาโตะอินดัสทรีส์, เหมราชชลบุรี 1-2, เหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ดแห่งที่ 2-3 มีพื้นที่ประกาศเขตส่งเสริมรวม 42,300 ไร่ เป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับการลงทุน 17,663 ไร่ และคาดว่าจะมีเงินลงทุนได้ 762,092 ล้านบาท จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ทีเอฟดี 2 มีพื้นที่ประกาศเขตส่งเสริมรวม 841 ไร่ เป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับการลงทุน 660 ไร่ และคาดว่าจะมีเงินลงทุนได้ 51,900 ล้านบาท
ในอนาคต กนอ. จะมีการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีกประมาณ 15,000 ไร่ และส่วนพื้นที่ที่เหลือให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมนอก กนอ. ที่อยู่ในการส่งเสริมของ BOI หรือ อยู่ในเขต/สวนอุตสาหกรรม ทั้งนี้ โครงการที่จะเห็นอย่างเป็นรูปธรรมและมีความสำคัญในการดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายของรัฐบาลได้แก่
โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในพื้นที่ EEC ที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ในภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และเขตจังหวัดอื่นที่มีพื้นที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้อง ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาท่าเทียบเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลวและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการนำเข้าพลังงาน มีพื้นที่รวมทั้งโครงการ 1,000 ไร่ ประกอบด้วย บ่อกักเก็บตะกอน, คลังสินค้า และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ, ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว และท่าเทียบเรือก๊าซ เมื่อแล้วเสร็จจะรองรับสินค้ากลุ่มน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติเหลว และสินค้าเหลว คาดว่าจะสามารถขนถ่ายผ่านท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ได้รวมประมาณ 19 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ กนอ.กำหนดจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 เพื่อนำเสนอรูปแบบ แนวทาง และรายละเอียดในการร่วมลงทุนของโครงการในวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2561 โดยผลสรุปที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจะเป็นส่วนหนึ่งในรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) พิจารณาอนุมัติ ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนภายในปลายปี 2561
ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : นิคมอุตสาหกรรม Smart Park ที่มีความสำคัญต่อการส่งเสริมด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับระบบดิจิทัลของประเทศไทยและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน เพื่อให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่เน้นบริเวณชายแดน โดยใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยง และสนับสนุน SMEs ไทยให้มีการลงทุนต่อเนื่องในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประกอบด้วย
โครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพัฒนาและมีความคืบหน้าไปแล้วมากกว่า 80 เปอร์เซนต์ โดยจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบได้ภายในเดือนเมษายนนี้
โครงการการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว มีการก่อสร้างลานประชารัฐ สำหรับผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อการจำหน่ายสินค้า OTOP เสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ระบบป้องกันน้ำท่วม ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในเดือน ธันวาคมนี้
โครงการการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก ขณะนี้ กนอ. อยู่ระหว่างการทบทวนรายงาน EIA และ การออกแบรายละเอียดการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน สิงหาคม นี้
โครงการการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (นิคมฯ สะเดา) จ.สงขลา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒน์เพื่อให้ความเห็นประกอบการนำเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งนิคมฯ ดังกล่าว
ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ โครงการจัดตั้งศูนย์ SMEs Industrial Transformation Center: SMEs-ITC ซึ่งเป็นศูนย์บริการผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ในการเข้าถึงข้อมูล องค์ความรู้ รวมทั้งการให้คำปรึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการ SMEs ให้มีศักยภาพในการประกอบกิจการที่ดียิ่งขึ้น โดยกำหนดจัดตั้งรวม 10 ศูนย์ ในพื้นที่ 10 นิคม มีศูนย์ฯนำร่องที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ที่เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ในปีที่ผ่านมา แล้วจะเปิดให้บริการภายในเดือนเมษายน อีกจำนวน 4 นิคมได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ และนิคมอุตสาหกรรมบางชัน และเปิดในเดือนสิงหาคมอีก 5 นิคม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด