SCB EICเตรียมทบทวนประมาณการGDP ปลายไตรมาส2/61

  • Post author:
You are currently viewing SCB EICเตรียมทบทวนประมาณการGDP ปลายไตรมาส2/61

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ฯเตรียมทบทวนประมาณการGDP ปลายไตรมาส2/61 หลังรับอานิสงส์จากหลายปัจจัยบวก ชี้รัฐเพิ่มความชัดเจนEECช่วยดึงนักลงทุนไทย-เทศ ด้านหนี้ครัวเรือนไม่ปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ถึงสิ้นปี61

 

 

นายยรรยง ไทยเจริญ รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCB EIC เปิดเผยว่า อีไอซีเตรียมทบทวนประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ในช่วงปลายไตรมาส 2/61 จากปัจจุบันที่ยังคงประมาณการณ์ไว้ 4% จากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 3.9% โดยได้รับปัจจัยหนุนตามกำลังซื้อจากต่างประเทศที่ขยายตัวดีและการลงทุนที่ฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น โดยพื้นฐานเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่งส่งผลให้ทั้งภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกสินค้าของไทยจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในปีนี้ ขณะเดียวกันยังคงประเมินการส่งออกปีนี้ขยายตัวที่ 5% จากปีก่อนที่ขยายตัวที่ 9.8% และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นที่ 7.9% หรือ 38.2 ล้านคน จากปีก่อนที่มีนักท่องเที่ยวเติบโต 8.8%

 

“ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขณะที่ส่งออกโต 13.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวหันของปีก่อน ประกอบกับ ราคาน้ำมันก็ปรับตัวสูงขึ้นจึงช่วยหนุนส่งออกโตมากกว่าคาด ปีก่อนราคาน้ำมันอยู่ที่ 54 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และสิ้นปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 64 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แม้ว่าต้นปีนี้ราคาน้ำมันจะขยับขึ้นมาถึง 66 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่การเติบโตของส่งออกส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนมีการขยายตัวในส่วนของเครื่องมือเครื่องจักร โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 67-68% จาก 1-2 ปีก่อนอยู่ที่ 64-65% ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป”นายยรรยง กล่าว

 

ด้านการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการขยายตัวของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยเฉพาะความชัดเจนที่มีเพิ่มขึ้นของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หลังพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ผ่านการอนุมัติให้เป็นกฎหมาย ซึ่งโครงการดังกล่าวมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนทั้งจากในและต่างประเทศ  ในส่วนประเด็นความเสี่ยงจากการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวก็ลดลงหลังมีการผ่อนคลายการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวทั้งจากการเลื่อนการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวรวมถึงการปรับลดบทลงโทษที่เกี่ยวข้อง

 

สำหรับการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่มีแนวโน้มกระจุกตัว และ การบริโภคในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นสำคัญ ซึ่งสะท้อนจากการบริโภคสินค้าคงทนที่นำโดยยอดขายรถยนต์นั่งที่เติบโตได้ในระดับสูงในช่วงต้นปีนี้ แต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีข้อจำกัดทั้งจากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการฟื้นตัวของภาวะการจ้างงาน และ รายได้ที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งดูได้จากอัตราการว่างงานที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงหลัง ขณะที่จำนวนการจ้างงานแบบล่วงเวลาลดลง ซึ่งสะท้อนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ส่งผ่านถึงตลาดแรงงานมากนัก

 

 

ในส่วนของหนี้ครัวเรือนในช่วง  2 เดือนที่ผ่านมาคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ได้เร่งตัว อย่างมีนัยสำคัญ โดยไตรมาส 3/60 อยู่ที่ 77.3 ส่วนไตรมาส 4/60 อยู่ที่ 77.5 ซึ่งกลุ่มสร้างหนี้อาจมาจากกลุ่มที่มีรายได้สูง โดยมองว่าไม่กระทบต่อกำลังซื้อ และรายได้เกษตรกรแม้ว่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรในบางหมวดที่ลดต่ำลง ส่งผลให้การบริโภคในกลุ่มสินค้าไม่คงทนขยายตัวในระดับต่ำ แต่การบริโภคของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะได้รับแรงสนับสนุนบางส่วนจากโครงการสวัสดิการแห่งรัฐในปีนี้

 

สำหรับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมีผลกระทบต่อภาพรวมไม่มากนัก แต่บางสาขาธุรกิจควรเพิ่มความระมัดระวังอย่างแรก มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อบางกลุ่มสินค้าของไทย ได้แก่ แผงโซลาร์ เครื่องซักผ้า เหล็ก และ อะลูมิเนียม ตลอดจนสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน อย่างไรก็ตาม สินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วน 0.6% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย ซึ่งความเสี่ยงต่อภาพรวมการส่งออกจะเพิ่มสูงในกรณีที่มีมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าต่างๆ จนนำไปสู่สงครามการค้าในวงกว้าง

 

การแข็งค่าและความผันผวนของค่าเงินบาทที่จะส่งผลกระทบทั้งต่อรายได้ผู้ส่งออกในรูปเงินบาท และความสามารถในการแข่งขันของสินค้าจากภาคเกษตร โดยสิ้นปีนี้ประเมินค่าเงินบาทไว้ที่ 30-31 บาท/ดอลลาร์ จากปีก่อนที่อยู่ 32.60 บาท/ดอลลาร์ อีกทั้งความผันผวนทางการเงินของโลกอันเป็นผลมาจากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้าสู่สมดุล (monetary policy normalization) ของเศรษฐกิจสำคัญนำโดยสหรัฐที่จะทำให้สภาพคล่องทางการเงินของโลกลดน้อยลง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การปรับตัวของราคาสินทรัพย์ และ กระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในบางประเทศ แต่เสถียรภาพของฐานะการเงินด้านต่างประเทศที่เข้มแข็ง และสภาพคล่องที่เพียงพอในระบบการเงินของไทยจะช่วยเป็นกันชนรองรับความผันผวนของภาวะการเงินโลกที่มีต่อเศรษฐกิจไทยได้

 

“กระแสเงินทุนต่างชาติยังน่าจะยังไหลเข้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ เพราะผลตอบแทนยังอยู่ในระดับสูงส่งผลให้เงินบาทอาจแข็งค่าเพิ่มเติมได้ ซึ่งอาจทำให้ตลาดการเงินยังเผชิญกับความผันผวนในปีนี้”นายยรรยง กล่าว

 

ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ไปจนสิ้นปีนี้ แต่จากการประชุมล่าสุดมีเสียงแตกจากคณะกรรมการกนง. 6 ต่อ 1 ทำให้มองว่าในช่วงปลายปีนี้อาจเห็นการขึ้นดอกเบี้ยก็เป็นได้ เพราะเงินเฟ้อล่าสุดอยู่ที่ 0.4% โดยยังต่ำกว่ากรอบล่างมาก ซึ่งเงินเฟ้อของไทยส่วนใหญ่ยังได้รับผลจากอาหารสดและพลังงาน โดยคิดเป็น 62% ซึ่งสิ้นปีนี้ยังคาดว่าเงินเฟ้อสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 1.1% และ มีโอกาสเร่งตัวมากขึ้นในไตรมาส 2/61 โดยมาจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยหลัก

toppercool

CEO,Prop2morrow Blogger อสังหาฯ , นักการตลาดดิจิตัล สาย Content marketing