แนะสมาร์ทซิตี้เตรียมรับมือความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์

  • Post author:
You are currently viewing แนะสมาร์ทซิตี้เตรียมรับมือความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์

แนะสมาร์ทซิตี้เตรียมรับมือความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ JLL กับ Tech In Asia เผยผลงานการวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงจากเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์

 

ในขณะที่หลายๆ เมืองในเอเชียแปซิฟิกกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้กับอสังหาริมทรัพย์และระบบสาธารณูปโภคมากขึ้น อาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์มากขึ้นตามไปด้วย ตามการวิเคราะห์โดยบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล ในรายงานที่มีชื่อว่า ‘Clicks and Mortar: The Growing Influence of Proptech’

 

รายงานฉบับดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยเจแอลแอล ด้วยความร่วมมือกับ Tech In Asia ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่จัดทำเว็บไซต์นำเสนอข่าวสาร จัดกิจกรรม และเป็นสื่อกลางการหางานหรือพนักงาน สำหรับแวดวงเทคโนโลยีและธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยได้วิเคราะห์การหลอมรวมกันของเทคโนโลยีกับอสังหาริมทรัพย์ และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ใน 13 หัวเมืองสำคัญของเอเชียแปซิฟิก

สมาร์ทซิตี้ เป็นแนวคิดที่กำลังถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก รวมถึงหลายๆ ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ตัวอย่างเช่น จีนได้เริ่มกระบวนการเปลี่ยนเมืองกว่า 500 เมืองของตนให้กลายเป็นสมาร์ทซิตี้ อินเดียเปิดเผยแผนที่จะเปลี่ยนเทศบาลนคร 100 แห่งให้เป็นสมาร์ทซิตี้ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นและเกาหลีที่มีการประกาศโครงการแล้ว สิงคโปร์ประกาศวิสัยทัศน์สมาร์ทเนชั่น (ชาติอัจฉริยะ) ในปี 2557 และเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ รัฐบาลออสเตรเลียประกาศจัดสรรเงินทุน 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับสนับสนุนการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของประเทศในอาเซียน

 

ส่วนประเทศไทย มีการเริ่มโครงการสมาร์ทซิตี้นำร่องในสามจังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่และขอนแก่น และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีการประกาศแผนที่จะขยายสมาร์ทซิตี้นำร่องเพิ่มในอีกสี่จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และสามจังหวัดในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา พร้อมตั้งเป้าจะให้ประเทศไทยมีสมาร์ทซิตี้ 100 แห่งภายใน 20 ปี

 นายอัลเบิร์ต โอวิดิ

นายอัลเบิร์ต โอวิดิ กรรมการอํานวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เจแอลแอล กล่าวว่า “เทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์ หรือ proptech เป็นหนึ่งในตัวแปรที่จะมีส่วนสำคัญในพัฒนาการของสมาร์ทซิตี้ในอนาคต นอกจากนี้ การลงทุนสร้างสาธารณูปโภคด้านดิจิตอลกำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเมืองในการสร้างสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่มากขึ้น และมีความสามารถในการดึงดูด/รักษาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถ”

 

อย่างไรก็ดี จากการที่เอเชียแปซิฟิกเร่งใช้ประโยชน์จาก Internet of Things (IoT) หรือ อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง และพึ่งพาระบบการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเป็นอย่างมากในการสร้างสมาร์ทซิตี้ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาวิธีการป้องกันความเสี่ยงทางไซเบอร์ด้วย

 

ความเสี่ยง

 

ตามบทวิเคราะห์ในรายงานของเจแอลแอล ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการพึ่งพาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าสูงขึ้น ทำให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่อยู่อาศัยซึ่งมีธุรกิจสตาร์ทอัพจำนวนมากที่พัฒนา proptech ขึ้นมาสำหรับให้บริการ อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย จะไม่มีความเสี่ยงทางไซเบอร์ เพราะอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทล้วนมีการพึ่งพาเทคโนโลยี

 

นายจอร์จ โธมัส ผู้อำนวยการฝ่ายสารสนเทศภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เจแอลแอล กล่าวว่า วัตกรรม proptech ต่างๆ ส่วนใหญ่ที่กำลังมีการพัฒนาขึ้นในขณะนี้ มีศักยภาพที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีมากขึ้นให้กับผู้ใช้ รวมทั้งช่วยให้สามารถประหยัดเวลา เงิน และพลังงาน แต่ขณะเดียวกัน ควรต้องคำนึงถึงผลกระทบอื่นที่อาจเกิดขึ้นตามมาในแง่ของความปลอดภัยด้านข้อมูล และความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิส่วนบุคคลด้วย

 

BIoT คือเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้จริงหรือไม่

 

ควบคู่ไปกับการพัฒนา proptech ที่ก้าวหน้า ประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกกำลังมีความริเริ่มในการสร้างนโยบายต่างๆ ด้านไซเบอร์ โดยรัฐบาลของประเทศเหล่านี้มีความพยายามที่จะสร้างเสริมความปลอดภัยให้กับระบบสารสนเทศภายในประเทศ มีการร่วมมือกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก เพิ่มความสามารถในการระบุความเสี่ยง และปกป้องระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญๆ

 

แนวโน้มหนึ่งทางด้านเทคโนโลยีที่คาดว่าจะได้รับความสำคัญมากในปีนี้ คือการหลอมรวม blockchain (เทคโนโลยีที่ใช้ในการทำธุรกรรมโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง) เข้ากับ IoT (อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง) กลายเป็น BIoT หรือเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำธุรกรรมทุกสิ่งอย่างบนอินเตอร์โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง ซึ่งอาจเป็นทางออกในการแก้ปัญหาความเสี่ยงทางไซเบอร์ โดยคาดว่า BIoT จะช่วยปลดล็อคให้บริการและธุรกิจใหม่ๆ หลายประเภทสามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับอาคารและที่พักอาศัยอัจฉริยะ ทั้งนี้ BIoT จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยตรงแบบเรียลไทม์ผ่านตัวเซ็นเซอร์ โดยไม่ต้องผ่านบุคคลที่สามหรือคนกลาง ที่สำคัญคือ เทคโนโลยีนี้จะช่วยทำให้เกิดความไว้วางใจ กระตุ้นให้เกิดการทำธุรกรรมเร็วขึ้น และลดเวลาในการทำธุรกรรม

 

“การเกิด proptech เพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ ทำให้ทั้งเจ้าของและผู้เช่าหรือใช้อสังหาริมทรัพย์ มีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล แต่การที่จะสามารถตักตวงผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เราต้องสามารถระบุให้ได้ว่า ระบบหรือเทคโนโลยีต่างๆ นั้นสามารถพึ่งพาได้มากน้อยเพียงใด เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้” นายโอวิดิกล่าว

preeya tednok

ปุ่น ปรียา เทศนอก ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว prop2morrow ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อสารมวลชนด้านอสังหาริมทรัพย์มากว่า 20 ปี