กคช.ชู 5 แผนงาน ขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยปี 2562 เน้นช่วยเหลือประชาชนให้มีบ้านและคุณภาพชีวิตที่ดีมีเป้าหมายเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติจำนวน 38,562 หน่วย พร้อมเตรียมลงนามสัญญากับผู้ร่วมทุน 10 โครงการภายใต้การดำเนินกิจการระหว่างภาครัฐและเอกชนภายในเดือนกันยายน 2562
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ(กคช.) กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงรายได้ปานกลางควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 45 ปี โดยในปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติมีผลการดำเนินงานที่ดีจนทำให้มีผลกำไรสุทธิเบื้องต้น 1,713 ล้านบาท มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1,038 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นกำไรจากการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติที่สูงที่สุดในรอบ 20 ปี อันเป็นผลมาจากการดำเนินงานต่างๆ เช่น การควบคุมและลดค่าใช้จ่ายภายในองค์กรได้สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนด รายได้จากการบริหารค่าน้ำประปา การส่งมอบอาคารและสาธารณูปโภคได้ตามเป้าหมาย และรายได้จากการขายโครงการที่อยู่อาศัย เป็นต้น
สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติปี 2562 มี 5 แผนงาน ประกอบด้วย โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง จำนวน 6,546 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม ปัจจุบันโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงระยะที่ 1 (แปลง G) จำนวน 334 หน่วย ก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมทั้งให้ผู้อยู่อาศัยเดิมแฟลตที่ 18 – 22 ย้ายเข้าอยู่แล้ว 238 หน่วย นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 อนุมัติให้ดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม ระยะที่ 2, 3 และ 4 จำนวน 6,212 หน่วย วงเงินลงทุนรวม 10,115.238 ล้านบาท ตลอดจนอนุมัติในหลักการบริหารจัดการคนเข้าอยู่อาศัยในโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม ระยะที่ 1 – 4 ในกรณีที่มีหน่วยพักอาศัยคงเหลือจากการบรรจุผู้อยู่อาศัยเดิมในแต่ละระยะของโครงการฯ ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้ทำการจับสลากผู้อยู่อาศัยที่จะต้องย้ายในโครงการฯ ระยะที่ 2 และเข้าพักอาศัยในห้องพักที่ยังว่างในโครงการฯ ระยะที่ 1 เพิ่มเติมอีก 96 หน่วย ส่วนการรื้อถอนอาคารเดิมแฟลตที่ 18 – 22 เริ่มรื้อถอนเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และจะเริ่มก่อสร้างอาคารใหม่ในเดือนมีนาคม 2562
โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย มีเป้าหมายเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติจำนวน 38,562 หน่วย ซึ่งได้รับความเห็นชอบแล้ว 10,244 หน่วย ได้แก่ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม ระยะที่ 2, 3 และ 4 จำนวน 6,212 หน่วย โครงการบ้านเคหะกตัญญูคลองหลวง 1 จำนวน 192 หน่วย โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยจังหวัดลำปาง จำนวน 229 หน่วย โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 2 ระยะที่ 1 จำนวน 3,365 หน่วย โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยจังหวัดเพชรบุรี (โพไร่หวาน) จำนวน 246 หน่วย โครงการที่อยู่อาศัยพร้อมขาย เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยตั้งเป้าหมายการขายจำนวน 13,689 หน่วย ปัจจุบันขายได้ 2,132 หน่วย (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2561)
โครงการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน การเคหะแห่งชาติมีแนวทางการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยร่วมกับภาคเอกชน โดยมีกรอบแนวคิด 3 รูปแบบ ได้แก่
- รูปแบบที่ 1 การร่วมลงทุนกับเอกชน (Joint Investment) ในโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ภายใต้พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ขณะนี้ได้รับอนุมัติในหลักการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในปี 2562 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเคหะชุมชนเชียงใหม่ (หนองหอย) โครงการร่มเกล้าคอนเน็คชั่น และโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงระยะที่ 3 และ 4 รองรับผู้อยู่อาศัยใหม่
- รูปแบบที่ 2 โครงการร่วมดำเนินกิจการระหว่างภาครัฐและเอกชน (Joint Operation) มูลค่าโครงการต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ภายใต้ข้อบังคับและระเบียบของการเคหะแห่งชาติ โดยคัดเลือกแปลงที่ดินเพื่อประกาศร่วมลงทุน จำนวน 17 แปลง โดยมีเป้าหมายลงนามสัญญากับผู้ร่วมลงทุน 10 โครงการ ภายในเดือนกันยายน 2562
- รูปแบบที่ 3 โครงการร่วมสนับสนุนภาคเอกชน (Joint Supporting) โดยการเคหะแห่งชาติจะเป็นที่ปรึกษา (Consultant) ให้กับภาคเอกชนในด้านการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและบริหารจัดการงานก่อสร้าง ซึ่งการเคหะแห่งชาติจะพิจารณาทำเลที่ตั้งโครงการ ความเป็นไปได้ด้านการตลาด กายภาพ และการเงิน โดยมีผู้ประกอบการยื่นข้อเสนอมาแล้ว 5 ราย ในพื้นที่ 5 จังหวัด 7 โครงการ ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก ขอนแก่น ปทุมธานี และตราด ขณะนี้อยู่ระหว่างการเคหะแห่งชาติออกหนังสือสอบทานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการให้ผู้ประกอบการเพื่อยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน จำนวน 1 ราย ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก 1 โครงการ จำนวน 445 หน่วย ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติมีเป้าหมายออกหนังสือสอบทานดังกล่าวให้เอกชนประกอบการขอสินเชื่อสถาบันการเงินจำนวน 10 โครงการ
โครงการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ โดยปีงบประมาณ 2562 มีเป้าหมายจะดำเนินการ 5 โครงการ ได้แก่
- โครงการชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผน และกำหนดแนวทางการดูแลชุมชนของตนเอง รวมทั้งมีการบูรณาการแผนชุมชนให้สอดคล้องกับแผนของหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย “ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” ระดับที่ 3 จำนวน 55 ชุมชน
- โครงการตลาดเคหะประชารัฐ เป็นการยกระดับการพัฒนาตลาดชุมชนของการเคหะแห่งชาติสู่ตลาดเคหะประชารัฐกระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค 93 ตลาด รวม 9,900 แผงร้านค้า ซึ่งขับเคลื่อนร่วมกับภาคีต่างๆ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ สถาบันการเงิน ผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ชุมชนใกล้เคียง และประชาชนทั่วไป ทั้งยังกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานราก สร้างงาน สร้างอาชีพให้ชุมชน โดยมีเป้าหมายพัฒนาศักยภาพตลาดเคหะประชารัฐเพิ่มเติมในปี 2562 จำนวน 4 ตลาด คือ ตลาดเคหะประชารัฐชุมชนสุขใจ (เกรียงไกร – ร่มเกล้า) จังหวัดกรุงเทพฯ ตลาดเคหะประชารัฐชวนเดินเพลินใจเทพประสิทธิ์ (พัทยา) จังหวัดชลบุรี ตลาดเคหะประชารัฐชวนเดินเพลินใจ (โคราช) จังหวัดนครราชสีมา และตลาดเคหะประชารัฐชุมชนสุขใจ (บ้านเอื้ออาทรหัวหิน) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- โครงการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ถุงพลาสติก เพื่อให้ชุมชนมีการคัดแยกขยะลดการใช้ถุงพลาสติก และใช้ประโยชน์จากขยะ โดยจะนำร่อง 4 โครงการ คือ บ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง 1 กรุงเทพมหานคร บ้านเอื้ออาทรรัตนาธิเบศร์ (ท่าอิฐ) จังหวัดนนทบุรี บ้านเอื้ออาทรรังสิต (คลอง 9) จังหวัดปทุมธานี และบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง 1 จังหวัดสมุทรปราการ
- โครงการสานสัมพันธ์นำสู่สุขภาวะชุมชนที่ดี จะจัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขดูแลตรวจสุขภาพผู้อยู่อาศัยในชุมชน มีเป้าหมายดำเนินการนำร่อง 4 โครงการ คือ เคหะชุมชนร่มเกล้า กรุงเทพมหานคร เคหะชุมชนบ่อนไก่ กรุงเทพมหานคร บ้านเอื้ออาทรรัตนาธิเบศร์ (ท่าอิฐ) จังหวัดนนทบุรี และบ้านเอื้ออาทรรังสิต (คลอง 10/2) จังหวัดปทุมธานี
- โครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ โดยตั้งเป้าหมายปรับปรุงสภาพแวดล้อมชุมชนที่อยู่ในความดูแล 74 ชุมชน