สคบ.เผยอสังหาฯถูกร้องเรียนมากสุด 2,384 ราย คิดเป็น 31.06% โดยเฉพาะคอนโดฯ จำนวน 1,141 ราย ประเด็นก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญาติดอันดับ1 พบ 3 บริษัทรายใหญ่ถูกร้องเรียนแต่คคบ.มีมติยุติเรื่อง แนะผู้ประกอบการควรซื่อสัตย์ ยึดมั่นในสัญญา ระบุเริ่มสนใจเพิ่มช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภคชาวจีน
นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(คคบ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณช่วงเดือนตุลาคม 2560 – กันยายน 2561 พบว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย มีการร้องเรียนมากที่สุด จากการผู้บริโภค 8 ประเภท จำนวน 2,384 ราย คิดเป็น31.06% โดยจากสถิติการรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภคประเภทอสังหาฯและที่อยู่อาศัย และสาเหตุ/ปัญหาการร้องทุกข์จากผู้บริโภคประเภทสินค้าอุปโภค บริโภค พบว่าประเภทย่อยที่มีการร้องทุกข์เข้ามามากที่สุด คือ
- อาคารชุด –คอนโดมิเนียม จำนวน1,141 ราย
- บ้านจัดสรร 571 ราย
- อพาร์ตเมนต์/หอพัก/ห้องเช่า/บ้านเช่า จำนวน 447 ราย
- ว่าจ้างก่อสร้าง 109 ราย
- ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 70 ราย
- ทาวน์เฮาส์/อาคารพาณิชย์ 27 ราย
- ที่ดิน 16 ราย และเช่าพื้นที่/เช่าช่วง 10 ราย
โดยประเด็นที่ร้องทุกข์เข้ามามากที่สุด อาทิ
- ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา
- การชำรุดหลังปลูกสร้าง
- ไม่ดำเนินการตามที่โฆษณา
- สถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อ
- ไม่คืนค่ามัดจำ/ค่าจอง
- ไม่ดูแลและพัฒนาสาธารณูปโภคในโครงการ ฯลฯ
“ส่วนเรื่อง Reject Rate มีร้องเรียนเข้ามาบ้างแต่ไม่มากนัก มี 2-3 ลักษณะ เช่น บริษัทอสังหาฯที่เป็นเจ้าของโครงการสัญญาว่าจะเป็นผู้หาแหล่งเงินกู้ให้ แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถหาให้ได้ ,อีกประเด็นคือไม่มีข้อตกลงจากบริษัทในเรื่องการหาแหล่งเงินกู้ให้ โดยให้ลูกค้าไปหาแหล่งเงินกู้เอง ทำให้ลูกค้าไม่พอใจและขอเงินดาวน์คืน แต่ผู้ประกอบการเหล่านั้นไม่ยอมคืน ผู้บริโภคจึงมาร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)โดยจะมายื่นร้องขอเงินดาวน์คืน”นายพิฆเนศ กล่าว
โดยผู้ประกอบการอสังหาฯที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด แต่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.)มีมติให้ยุติเรื่อง มี 3 บริษัท คือ 1. บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด(มหาชน) จำนวน 52 เรื่อง 2.บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด จำนวน 46 เรื่อง และ3.บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) จำนวน 46 เรื่อง
นายพิฆเนศ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการร้องเรียนจะมากขึ้น เพราะมีช่องทางการร้องเรียนผ่านระบบการสื่อสารที่มากขึ้น และยังจะเป็นคอนโดฯมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นกทม.-ปริมณฑล ระดับราคาตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป โดยแต่ละเรื่องที่ร้องเรียนจะต้องผ่านกระบวนการทั้งหมดของสคบ.จำนวน 4 ขั้นตอน ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน และส่วนใหญ่เกิน 50% จะเจรจาจบลงด้วยดี ส่วนที่เหลือจะเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดี
สำหรับในปี 2562 หากผู้ประกอบการอสังหาฯมีการพัฒนาโครงการขึ้นมามาก และมียอดขายที่ดี ปัญหาการร้องเรียนก็จะยิ่งมากขึ้น ยกเว้นมีการพัฒนาแล้วโครงการไม่ค่อยมียอดขาย ก็จะไม่ค่อยมีปัญหา ซึ่งไม่อยากให้เกิดปัญหาขายแล้วไม่ก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้ลูกค้า หรือปัญหาอื่นๆเช่นกัน โดยที่ร้องเรียนส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริโภคคนไทย สำหรับชาวต่างชาติที่เป็นชาวยุโรป ก็มีร้องเรียนเข้ามาเช่นกัน โดยสคบ.จะมีช่องทางการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษด้วย ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่อยู่พัทยา หัวหิน และเป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับการก่อสร้างไม่เสร็จตามกำหนด ซึ่งผู้ประกอบการจะเป็นรายใหญ่จากกทม. และเริ่มสนใจจะดำเนินการเพิ่มช่องทางการสื่อสารสำหรับผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มขึ้นด้วย
“ผมว่าผู้ประกอบการอสังหาฯ ควรมีความซื่อสัตย์ ยึดมั่นและก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา” นายพิฆเนศ กล่าวพร้อมกับให้ความเห็นต่อไปว่า หากล่าช้าก็ควรแจ้งให้ลูกค้าทราบ หรือมีการเยียวยา ด้วยการจ่ายค่าปรับตามสัญญามาตรฐาน เพราะไม่อยากให้มีปัญหาร้องเรียนจนเป็นคดีความ โดยเรื่องร้องเรียนที่แก้ไขยากที่สุดจะเป็นเรื่องตัวอาคารมีความบกพร่อง แตกร้าว ซึ่งมีทั้งพัฒนาโดยผู้ประกอบการรายใหญ่-เล็ก อีกเรื่องคือโฆษณาไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้ มีการเปลี่ยนแปลงภายหลังแล้วไม่แจ้งให้ลูกค้าทราบ และยอมรับ ว่าคดีรูปแบบนี้ส่วนใหญ่ไปจบที่ในชั้นศาล
นายพิฆเนศ กล่าวต่อไปว่า ในเร็วๆนี้ทางสคบ.มีนโยบายที่จะนำรายชื่อผู้ประกอบการที่ถูกดำเนินคดี และมีรายชื่ออยู่บนเว็บไซต์ของสคบ.นำประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อประเภทต่างๆด้วย เพื่อให้เป็นที่รับทราบในวงกว้าง แต่ทั้งนี้ต้องรอแก้ไขกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ให้แล้วเสร็จเสียก่อน ขณะนี้ผ่านขั้นตอนกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งจะนำเข้าสภาในปลายเดือนธันวาคม 2561 นี้เพื่อรับหลักการ และตั้งคณะกรรมาธิการ เพื่อกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาต่อไป หลังจากนั้นก็นำเข้าสภาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป และจึงนำเสนอนายกรัฐมนตรี นำพิจารณาโปรดเกล้าฯเพื่อประกาศใช้ต่อไป แต่คาดว่าจะไม่ทันรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและหากมีการเลือกตั้งในปีหน้า ก็คงเสียเวลากับรัฐบาลใหม่ ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับกระบวนการใหม่อีกครั้ง โดยเร็วสุดก็ใช้เวลาประมาณ 1 ปี หากช้าสุดใช้ระยะเวลาประมาณ 10 ปี
สำหรับผู้ประกอบการที่เคยรับรางวัลผู้ประกอบการที่ดี ก็ล้วนเคยถูกร้องเรียนเช่นกัน แต่ผู้ประกอบการเหล่านั้นได้แสดงความรับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาไปได้ด้วยดี
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอีก 1 ฉบับ ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา คือกฎหมายว่าด้วยความรับผิดจากสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง ซึ่งผ่านครม.แล้ว อยู่ขั้นกฤษฎีกา ครอบคลุมสินค้าอุปโภค บริโภค ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค จะมีผู้มีส่วนได้เสียมาก ความคิดเห็นก็หลากหลาย จึงยากที่จะหากจุดลงตัว ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา