อสังหาฯ รายกลาง-เล็ก เร่งปรับตัวรับภาวะอสังหาฯ ขาลง พัฒนาที่อยู่อาศัยตอบโจทย์เรียลดีมานด์-นักลงทุน กระจายหลากหลายทำเล สร้างแบรนด์เพิ่มความน่าเชื่อถือ บริหารต้นทุนมีประสิทธิภาพ
ดร.ต่อศักดิ์ เลิศศรีสกุลรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด(มหาชน) หรือ ESTAR เปิดเผยถึงการปรับตัวตั้งรับอสังหาฯ ปี 2562 ว่า ไม่ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ธุรกิจก็ต้องเดินหน้าให้ปลอดภัย และลดความเสี่ยง เพราะบ้านเป็นปัจจัยสี่ ความต้องการที่อยู่อาศัยยังมีอยู่ ดังนั้นการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปีนี้ ต้องดูว่าลูกค้าที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจริง มีกำลังซื้อราคาช่วงประมาณไหน ก็ทำสินค้าราคานั้นออกมาตอบสนอง พร้อมทั้งการพัฒนาโปรดักส์ที่หลากหลายมากขี้น ก่อนหน้านี้บริษัทฯ จะเน้นการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม ล่าสุดได้หันมาพัฒนาบ้านเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น และกระจายไปในหลายทำเลมากขึ้น
“เราต้องสร้างความชัดเจนของบริษัทขึ้นมา ในช่วงที่ผ่านมาดีไซน์สินค้าได้รับการยอมรับค่อนข้างมาก ซึ่งต้องคงสิ่งนั้นไว้ แต่ก็ยอมรับว่าการโอนที่ผ่านมาก็มีปัญหาต้องแก้ไขไป ปีนี้คงเน้น พัฒนาโปรดักส์ตอบโจทย์ลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น เรามีการเปิดโครงการมากกว่าเดิม แต่ไม่ได้เปิดจำนวนเยอะๆ แต่เป็นการเปิดกระจายไปตามทำเลที่มีดีมานด์อยู่ ในราคาแข่งขันได้ ที่มีช่องว่างทางการตลาดที่ไปได้” นายต่อศักดิ์กล่าว
ด้านนายวิชัย จุฬาโอฬารกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท ดับเบิ้ลยู-ชินวะ จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ความต้องการที่อยู่อาศัยยังมีอยู่ไม่ได้ชะลอตัวตาม ต้องพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยจริง โดยในปีนี้บริษัทฯ จะเน้นพัฒนาโครงการที่สามารถตอบสนองลูกค้าแต่ละกลุ่มที่เป็นผู้อยู่อาศัยจริง (เรียลดีมานด์) โดยมีการปรับรูปแบบให้มีขนาดที่เล็กลง เป็นการทดสอบตลาด มองว่าตลาดชะลอตัวไม่นาน ก็จะกลับมาฟื้นตัวใหม่ เป็นประสบการณ์ชนิดหนึ่งนอกจากนี้ยังเน้นการทำตลาดแบบ (Business to Business) หรือ B2B มากขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มนักลงทุนรายย่อย ในรูปแบบของ Full Package โดยพัฒนาโครงการที่เป็นไพรเวท ซึ่งจะอาศัยความแข็งแกร่งของกลุ่มชินวะมาเป็นจุดแข็งในการทำตลาด
นางสาวกฤศธนฎา สื่อไพศาล ผู้อำนวยการสายงานพัฒนาธุรกิจขององค์กร บริษัท พี พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า การชะลอตัวของตลาดเป็นวัฏจักรมีมาอย่างต่อเนื่อง อย่าไปกลัว ธุรกิจต้องเดินหน้า แต่สิ่งคำคัญต้องรู้จักตลาดให้ถ่องแท้ ทั้งทำเลที่ดี สินค้าต้องตอบโจทย์ลูกค้า และในฐานะที่ยังเป็นบริษัทเล็กๆ สิ่งสำคัญก็คือการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งขึ้น ต้องสร้างแบรนด์ให้มีความน่าเชื่อถือ ต้องเข้าให้ถึงลูกค้า ส่วนบริษัทใหญ่การสร้างแบรนด์อาจเป็นความสำคัญลดลงแล้ว เพราะติดตลาดแล้ว และสุดท้ายคือ การบริหารต้นทุน แม้ว่าบริษัทเล็กสู้บริษัทใหญ่ไม่ได้ ในแง่การซื้อที่ดิน แต่ก็พยายามกำจัดจุดอ่อนที่มีเพื่อสู้กับคู่แข่งรายใหญ่ให้ได้