ซีบีอาร์อี รายงานว่า ฮ่องกงยังครองอันดับ 1 เมืองที่มีราคาที่พักอาศัยแพงที่สุดในโลก ขณะที่กรุงเทพฯอยู่ที่อันดับ 33 จาก 35 เมืองใหญ่ทั่วโลกที่ซีบีอาร์อีทำการสำรวจ
จาก รายงานการใช้ชีวิตทั่วโลก (Global Living Report) โดยแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ประจำปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 5 ที่ซีบีอาร์อีได้รวบรวมข้อมูลตลาดที่พักอาศัยจาก 35 เมืองสำคัญทั่วโลก พบว่า การลงทุนในเขตเมือง เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การเชื่อมต่อ ค้าปลีก ศูนย์วัฒนธรรม และตลาดที่พักอาศัย เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
นางสาวเจนเนต ซีบริทส์ หัวหน้าแผนกวิจัย ตลาดที่พักอาศัย ซีบีอาร์อี สหราชอาณาจักร ให้ความเห็นว่า ในรายงานการใช้ชีวิตทั่วโลกฉบับที่ 5 ซีบีอาร์อีได้เพิ่มจำนวนเมืองหลักที่สำรวจข้อมูลจาก 29 เมืองเป็น 35 เมือง ซึ่งรวมถึงเมืองที่มีความน่าสนใจทั่วโลก ตั้งแต่เมืองใหม่ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอย่างเซินเจิ้นและกรุงเทพฯ เมืองหลวงแบบดั้งเดิม เช่น โรมและลิสบอน ไปจนถึงศูนย์กลางเมืองสมัยใหม่ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วอย่างดูไบและโจฮันเนสเบิร์ก ทั้งนี้เมืองที่มีขนาดใหญ่ทั่วโลกยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม เพิ่มจำนวนประชากรในวัยทำงานและประชากรที่ใช้ชีวิตในเมือง และสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ๆ สำหรับธุรกิจ
สำหรับราคาที่พักอาศัยแพงที่สุดในโลกสามอันดับแรกอยู่ในเอเชีย ฮ่องกงยังคงเป็นเมืองที่มีราคาที่พักอาศัยแพงที่สุดในโลกด้วยราคาเฉลี่ย 39.52 ล้านบาท สิงคโปร์ยังคงอยู่อันดับ 2 ด้วยราคาเฉลี่ย 27.97 ล้านบาท และเซี่ยงไฮ้อยู่ในอันดับที่ 3 ด้วยราคาเฉลี่ย 27.92 ล้านบาท ซึ่งรายงานของซีบีอาร์อีในปีที่แล้วระบุว่าทั้ง 3 เมืองนี้ได้มีการออกมาตรการเพื่อควบคุมราคาที่พักอาศัยไม่ให้ร้อนแรงจนเกินไป
ขณะที่กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับที่ 33 ด้วยราคาเฉลี่ย 3.4 ล้านบาท ตามด้วยโฮจิมินห์ ซิตี้ซึ่งมีราคาเฉลี่ยที่ 3.29 ล้านบาท และอิสตันบูลที่อยู่ในอันดับสุดท้าย มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.11 ล้านบาท
สำหรับเมืองที่มีอัตราการเติบโตของราคาเฉลี่ยที่พักอาศัยต่อปีมากที่สุด ซึ่งสูงกว่าระดับ 10% จากปีก่อนหน้า ได้แก่ บาร์เซโลนา (16.9%) ดับลิน (11.6%) เซี่ยงไฮ้ (11.2%) และมาดริด (10.2%) ขณะเดียวกันแม้ว่าราคาเฉลี่ยที่พักอาศัยในลอนดอนจะเติบโตเพียง 1.1% แต่ยังคงติดอันดับ 1 ใน 10 เมืองใหญ่ทั่วโลกที่มีราคาที่พักอาศัยโดยเฉลี่ยสูงสุด โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 20.7 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มี 30 เมืองจาก 35 เมืองใหญ่ที่ซีบีอาร์อีสำรวจที่ราคาที่พักอาศัยปรับตัวสูงขึ้นแม้จะปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากในอดีต ซีบีอาร์อีมองว่าเกิดจากการที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเมืองต่างๆ กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ปลายวัฏจักรของการเติบโตที่มีมาอย่างยาวนาน ซีบีอาร์อีคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา และมาตรการควบคุมต่างๆ จะส่งผลต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แม้ว่าเซี่ยงไฮ้จะยังคงมีการเติบโตที่แข็งแกร่งก็ตาม
6 ใน 10 เมืองที่มีอัตราการเติบโตของราคาที่พักอาศัยสูงสุดตั้งอยู่ในยุโรป ซึ่งมี 3 เมืองคือบาร์เซโลนา มาดริด และดับลิน ที่ต้องประสบกับปัญหาราคาที่พักอาศัยตกต่ำอย่างรุนแรงในช่วงวิกฤตทางการเงิน และใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นตามมา ปัจจุบันเมืองเหล่านี้กำลังฟื้นตัวและกำลังเติบโตเป็นอย่างมาก หากเปรียบเทียบกันจะพบว่าลอนดอนฟื้นตัวเร็วกว่ามากหลังจากภาวะตลาดชะลอตัว และปัจจุบันเข้าสู่รอบวัฏจักรของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ไปได้ไกลกว่า
การสำรวจนี้ยังเผยให้เห็นถึงการเติบโตอย่างมากของค่าเช่าที่พักอาศัยในยุโรปหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นลิสบอน มาดริด ดับลิน และบาร์เซโลนา ที่พักอาศัยที่มีจำนวนจำกัดและความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นต่างเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเช่าที่พักอาศัยในลิสบอนและมาดริดเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงกว่า 10% อย่างต่อเนื่อง
“เมืองในยุโรป 6 เมือง รวมถึงลอนดอน ติดอันดับ 10 เมืองที่มีอัตราการเติบโตของค่าเช่าที่พักอาศัยสูงสุด ซึ่งเมืองเหล่านี้ล้วนแต่กำลังเผชิญกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและการขาดแคลนที่พักอาศัย นอกจากนี้เมืองในแคนาดา 3 เมืองอย่างแวนคูเวอร์ โตรอนโต และมอนทรีออลยังติด 10 อันดับแรกด้วย ซึ่งได้เกิดจากการจ้างงานที่เติบโตเป็นอย่างมากและอัตราว่างของที่พักอาศัยให้เช่าในระดับที่ต่ำ” นางสาวเจนเนตกล่าวสรุป