การรถไฟฯ เตรียมเปิดประมูลงานบริหารจัดการพื้นที่สถานีกลางบางซื่อปลายปี 2562 นี้ มีบิ๊กอสังหาฯ และกลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่สนใจเพียบทั้ง กลุ่มเค อี แลนด์,กลุ่มเซ็นทรัล , บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ , กลุ่มบริษัททีซีซี , เอ็มบีเค, สหลอว์สัน, สยามพิวรรธน์ และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)
วันนี้ (14 พ.ค. 2562) การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดรับฟังความเห็นและความสนใจภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding) โครงการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการและแนวทางการพัฒนาพื้นที่ และจัดทำร่างเอกสารประกอบการจัดจ้างเอกชนเพื่อบริหารจัดการพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการ และรับฟังความคิดเห็นและความสนใจของนักลงทุนและเอกชนเป้าหมาย
ทั้งนี้ การรถไฟฯ.จะเปิดประมูลโครงการบริหารจัดการพื้นที่สถานีกลางบางซื่อในปลายปี 2562 หรือต้นปี 2563 และคาดว่าจะหาตัวเอกชนเข้ามาดำเนินการได้ประมาณกลางปี 2563 ก่อนจะเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อต้นปี 2564 มีเอกชนที่ให้ความสนใจและส่งตัวแทนเข้ารับฟัง อาทิ กลุ่มบริษัท เค อีแลนด์, กลุ่มเซ็นทรัล, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ , กลุ่มบริษัท ทีซีซี , บริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) , บริษัท สหลอว์สัน จำกัด บริษัท สยามพิวรรธน์ และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นต้น
ภายในงานมีการนำเสนอ ภาพรวมของสถานีกลางบางซื่อที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในต้นปี 2564 รูปแบบการบริหารจัดการและแนวทางการพัฒนาพื้นที่ กิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่สร้างรายได้ทั้งในส่วนพื้นที่พาณิชยกรรมร้านค้า พื้นที่ป้ายโฆษณา และกิจกรรมบริหารสถานี ได้แก่ การรักษาความปลอดภัย การทำความสะอาด การบริหารอาคาร โดยเมื่อเปิดให้บริการ สถานีกลางบางซื่อจะกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางหลักของประเทศที่เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมโดยระบบต่างๆ (Multi-Modal Transportation) ได้แก่ รถไฟทางไกล (Inter-City Train) รถไฟฟ้าชานเมือง (Commuter Train Red Line) รถไฟฟ้าความเร็วสูง (High-Speed Railway) รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน (Airport Rail Link)
สำหรับขอบเขตของพื้นที่ของอาคารสถานีกลางบางซื่อเป็นอาคารสูง 3 ชั้น ประกอบด้วย
- ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่จอดรถประมาณ 1,613 คัน มีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถ (58,210 ตารางเมตรหรือ ตรม.) ทางเดินขึ้นไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร
- ชั้น 1 (พื้นที่ประมาณ 122,810 ตารางเมตร) ประกอบด้วย โถงพักคอยของผู้โดยสาร และโถงชานชาลาผู้โดยสาร มีจุดเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของ MRT ในปัจจุบันและพื้นที่ส่วนพาณิชยกรรมร้านค้า
- ชั้นลอยที่ 1 (พื้นที่ประมาณ 9,800 ตารางเมตร) เป็นพื้นที่ส่วนพาณิชยกรรมร้านค้า
- ชั้น 2 รวมชั้นลอย 2 (พื้นที่ประมาณ 50,860 ตารางเมตร) ประกอบด้วย พื้นที่ต้อนรับบุคคลสำคัญ (VIP) ส่วนควบคุมระบบการเดินรถและพื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่อาคาร ส่วนชานชาลารถไฟทางไกล (LD Platform Level) ชานชาลารถไฟชานเมือง (CT Platform Level)
- ชั้น 3 (พื้นที่ประมาณ 43,800 ตารางเมตร) ประกอบด้วย ชานชาลารถไฟมาตรฐานและรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมโครงการบริหารจัดการพื้นที่สถานีกลางบางซื่อนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ พื้นที่เชิงพาณิชยกรรมในสถานีกลางบางซื่อ13,208 ตร.ม. และพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมในสถานีกลางบางซื่อ 24,014 ตร.ม. และรวมพื้นที่บริเวณรถไฟความเร็วสูงบนชั้น 3 ซึ่งเป็นโอกาสพัฒนาพื้นที่ในอนาคตภายใน 5-10 ปีจะมีพื้นที่เพิ่มขึ้นประมาณ 51,774 ตร.ม
อย่างไรก็ดี เพื่อให้สถานีกลางบางซื่อสามารถยกระดับคุณภาพการให้บริการและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการให้ได้มาตรฐานระดับสากลและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด การรถไฟฯ จึงเล็งเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะว่าจ้างหรือจัดให้มีเอกชนที่มีความชำนาญและเป็นมืออาชีพมาบริหารจัดการและให้บริการกิจกรรมภายในสถานีกลางบางซื่อ เพื่อสนับสนุนรูปแบบการบริหารจัดการสถานีรถไฟกลางที่ดี (Best Practices) ให้แก่การรถไฟฯ
เมื่อมีการเปิดสถานีกลางบางซื่อแล้วจะช่วยทำให้สถานีกลางบางซื่อเป็นภาพลักษณ์ของประเทศไทยในอนาคตและการเป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทยที่จะเป็นชุมทางรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอาเซียน