เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครที่อัดแน่นไปด้วยประชากรทั้งที่ปรากฏในสำมะโนครัว 8.2 ล้านคน และประชากรแฝงทั้งชาวไทยและต่างชาติอีกเกือบเท่าตัว เมืองหลวงที่แบกรับผู้คนรวมกว่า 15 ล้านคน เมื่อต้องรับมือกับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและประจวบกับเป็นช่วงที่ต้องระบายคนเดินทางเข้าออกใจกลางเมืองในชั่วโรงเร่งด่วน ความติดขัดอย่างชนิดที่เรียกว่าเกิดวิกฤตการณ์จราจรขึ้นในทุกครั้งที่ฝนตกหนักก็ได้ ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหานี้มาจากการกระจุกตัวของความเจริญอยู่ที่ใจกลางย่านธุรกิจ ทำให้ผู้คนต่างมุ่งหน้าเพื่อเข้าหาความเจริญที่เป็นแหล่งงานแหล่งสร้างรายได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนทั้งชาวไทยและต่างประเทศต่างก็เดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองหลวงแห่งนี้
อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครแห่งนี้กำลังจะถูกพลิกโฉมครั้งใหม่ ด้วยผังเมือง กทม. ฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้ปลายปี 2563 ซึ่งผังเมืองฉบับนี้มีความน่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะการกระจายศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ออกไปตามทำเลต่างๆ โดยยึดการกระจายความเจริญตามแนวรถไฟฟ้าสายใหม่ที่กำลังก่อสร้าง โดยจะพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้ารัศมี 500 – 800 เมตร ให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจ ทั้งสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ) นอกจากนี้ยังมีการปรับพื้นที่สีต่างๆ ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์มากขึ้น เช่น เขตลาดพร้าว วังทองหลาง บางกะปิ บึงกุ่ม คันนายาว สวนหลวง ศรีนครินทร์ ปรับจากสีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) เป็นสีส้ม (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) ตลอดแนวถนนรามคำแหงจากริมถนน 500 เมตร ปรับจากสีเหลืองเป็นสีส้ม ขยายพื้นที่สีน้ำตาลแนวถนนพหลโยธินช่วงห้าแยกลาดพร้าวถึงแยกรัชโยธิน ขยายพื้นที่สีส้มแยกหลักสี่ แจ้งวัฒนะ ขยายพื้นที่สีส้มแนวคลองประปา ปรับสีเหลืองริมถนนวิภาวดีรังสิต เป็นสีส้ม ปรับพื้นที่ริมถนนรามอินทราจากเดิมสีเหลืองเป็นสีส้มตลอดแนว นอกจากนี้ผังเมืองฉบับใหม่จะเพิ่มถนนอีก 67 สาย เป็น 203 สาย ทั้งก่อสร้างใหม่และปรับปรุงถนนซอยเดิมที่คับแคบ เพื่อเป็นถนนสายรองเชื่อมกับถนนสายหลัก เข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น
การนับถอยหลังเข้าสู่การประกาศใช้ผังเมือง กทม. ฉบับใหม่นี้ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เองก็ถือว่ามีความตื่นตัวและมีความพร้อมรับดีมานด์ที่จะขยายไปสู่ความเจริญที่จะกระจายออกไปนี้ โดยจะเห็นได้ว่าในปีนี้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เปิดตัวโครงการแนวราบตามพื้นที่ที่คาดว่าจะเป็นย่านความเจริญแห่งใหม่มากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยในราคาที่ต่ำกว่าที่อยู่อาศัยทำเลใจกลางกรุงเทพมหานครอีกด้วย นอกจากนี้ตลาดคอนโดมิเนียมเองก็เริ่มขยายไปตามแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการซื้ออยู่อาศัยและลงทุน อย่างเช่นทำเลสะพานใหม่ ก็ได้รับอานิสงส์จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยเฉพาะบริเวณสถานีสายหยุดและสะพานใหม่ นับเป็นทำเลศักยภาพที่น่าจับตา เพราะนอกจากจะมีความสะดวกด้านการเดินทางแล้ว ยังเป็นทำเลที่อยู่ใกล้แหล่งชอปปิ้งทั้งห้างค้าปลีกและตลาดขนาดใหญ่ ใกล้มหาวิทยาลัย ใกล้โรงพยาบาล และใกล้สนามบินดอนเมือง จึงเป็นทำเลที่มีความพร้อมสำหรับการอยู่อาศัยจริง ขณะที่ด้านการลงทุนพบว่าผลตอบแทนปล่อยเช่าสูง 5-7% นับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดีเช่นกัน
สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการกระจายความเจริญออกนอกเมืองอย่างหลากหลายนั้น ก็คือการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใช้เวลาในการเดินทางไปยังแหล่งงานน้อยลง สามารถอยู่กันได้ในรูปแบบของครอบครัวใหญ่ ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนมีชื่อเสียงหลายแห่งก็กระจายอยู่ตามย่านชานเมือง จึงตอบโจทย์การใช้ชีวิตคุณภาพอย่างครบถ้วน และที่สำคัญไม่ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูไหน ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องวิกฤตการณ์จราจรให้ทุเลาลงได้ครับ