วันนี้ (22 ตุลาคม 2562) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม โดยมีสาระเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใน 3 ประเด็นหลักคือ
1.เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ. 2562 รวม 3 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ 1. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดราคาประเมิน การจัดทำบัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง และแผนที่ประกอบการประเมินราคาที่ดิน พ.ศ. …. 2. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดราคาประเมินห้องชุดและการจัดทำบัญชีราคาประเมินห้องชุด พ.ศ. …. และ 3. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการปรับปรุงราคาประเมินทรัพย์สิน ในกรณีที่ราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด แตกต่างจากราคาประเมินในบัญชีราคาประเมินทรัพย์สิน พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดราคาประเมิน การจัดทำบัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง และแผนที่ประกอบการประเมินราคาที่ดิน พ.ศ. ….
1.1 กำหนดให้ในการประเมินราคาทรัพย์สิน ให้ราคาที่ดินมีหน่วยเป็นบาทต่อตารางวา และให้ราคาสิ่งปลูกสร้างมีหน่วยเป็นบาทต่อตารางเมตร
1.2 กำหนดให้การประเมินราคาที่ดินให้ดำเนินการโดยใช้วิธีเปรียบเทียบราคาตลาดก่อน ถ้าไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีเปรียบเทียบราคาตลาดได้ให้ใช้วิธีการอื่น ๆ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐกำหนด
1.3 กำหนดขั้นตอนและกระบวนการในการประเมินราคาที่ดิน
1.4 กำหนดให้การกำหนดราคาที่ดินให้คำถึงถึงตำแหน่งที่ตั้ง แปลงที่ดิน และลักษณะรูปแปลงที่ดิน
1.5 กำหนดให้การกำหนดราคาประเมินที่ดินที่กรมที่ดินยังไม่สร้างระวางแผนที่เพื่อลงตำแหน่งที่ตั้งแปลงที่ดินในการประเมินราคาที่ดิน เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐกำหนด
1.6 กำหนดให้การประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างให้ใช้วิธีต้นทุน หรือวิธีต้นทุนทดแทน ในการพิจารณา และกำหนดวิธีการประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างโดยวิธีต้นทุน
1.7 กำหนดให้ค่าเสื่อมราคาของสิ่งปลูกสร้าง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐกำหนด
1.8 กำหนดให้การกำหนดราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะพิเศษ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐกำหนด
1.9 กำหนดให้บัญชีราคาประเมินที่ดินต้องมีรายละเอียดของแปลงที่ดินอย่างน้อยประกอบด้วย ตำแหน่งที่ดิน และราคาประเมินที่ดิน
1.10 กำหนดให้แผนที่ประกอบการประเมินราคาที่ดินให้อ้างอิงจากระวางแผนที่ที่กรมที่ดินหรือหน่วยงานอื่นจัดทำขึ้นเพื่อลงตำแหน่งที่ตั้งของแปลงที่ดิน
1.11 กำหนดให้รูปแบบบัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง และแผนที่ประกอบการประเมินราคาที่ดินให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐกำหนด
2.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดราคาประเมินห้องชุดและการจัดทำบัญชีราคาประเมินห้องชุด พ.ศ. ….
2.1 กำหนดให้ในการประเมินราคาห้องชุด ให้ราคาประเมินห้องชุดมีหน่วยเป็นบาทต่อตารางเมตร
2.2 กำหนดให้การประเมินราคาห้องชุดให้ใช้วิธีเปรียบเทียบราคาตลาด วิธีรายได้ วิธีต้นทุน หรือวิธีอื่น ๆ ตามระเบียบที่คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐกำหนด แล้วแต่กรณี
2.3 กำหนดขั้นตอนและกระบวนการในการประเมินราคาห้องชุด
2.4 กำหนดให้ในการประเมินราคาห้องชุด ให้คำนึงถึงทำเลที่ตั้ง คุณภาพอาคารและห้องชุด สิ่งอำนวยความสะดวก สภาพแวดล้อม รวมทั้งการดูแลรักษาและการบริหารจัดการอาคาร
2.5 กำหนดให้อาคารชุดโครงการใดประกอบด้วยอาคารหลายอาคาร การกำหนดราคาประเมินห้องชุดจะกำหนดราคาเป็นกลุ่มอาคารหรือแยกเป็นแต่ละอาคารก็ได้
2.6 กำหนดให้อาคารชุดใดมีทรัพย์ส่วนบุคคลที่จัดไว้เป็นของห้องชุดเฉพาะห้อง ให้กำหนดราคาประเมินแยกไว้ต่างหากจากราคาประเมินห้องชุด
2.7 กำหนดให้บัญชีราคาประเมินห้องชุด อย่างน้อยต้องประกอบด้วยชื่ออาคาร ที่ตั้ง และราคาประเมินห้องชุด
3.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการปรับปรุงราคาประเมินทรัพย์สิน ในกรณีที่ราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด แตกต่างจากราคาประเมินในบัญชีราคาประเมินทรัพย์สิน พ.ศ. ….
3.1 กำหนดให้ในระหว่างที่บัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างและห้องชุดมีผลบังคับใช้ให้คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐประจำจังหวัด ตรวจสอบราคาที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างหรือห้องชุดที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
3.2 กำหนดให้นำข้อมูลราคาซื้อขายทรัพย์สินในท้องตลาดที่มีการซื้อขายกันตามปกติที่ได้จากการตรวจสอบตามข้อ 3.1 มาทำการวิเคราะห์ และเปรียบเทียบกับราคาประเมินทรัพย์สินที่มีผลบังคับใช้ในรอบบัญชีนั้น หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าราคาที่ดิน หรือห้องชุดที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดแตกต่างจากราคาประเมินที่ดิน หรือห้องชุดในบัญชีราคาประเมินทรัพย์สินคำนวณเป็นร้อยละเกินกว่าร้อยละสิบห้าให้คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐประจำจังหวัดดำเนินการในแต่ละกรณี ดังนี้
3.2.1 ที่ดิน ให้ปรับปรุงราคาประเมินที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ที่มีการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งจัดทำบัญชีราคาประเมินที่ดิน และแผนที่ประกอบการประเมินราคาที่ดิน
3.2.2 ห้องชุด ให้ปรับปรุงราคาประเมินห้องชุด ที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ที่มีการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งจัดทำบัญชีราคาประเมินห้องชุด
2.มาตรการลดภาระภาษีเพื่อที่อยู่อาศัย
2.1 วัตถุประสงค์: เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงนักเหมาะสมกับศักยภาพของประชาชนแต่ละกลุ่ม โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยใหม่สร้างเสร็จพร้อมอยู่
2.2 กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย
2.3 ระยะเวลาโครงการ : วันที่ประกาศกระทรวงหาดไทยมีผลบังคับใช้ – วันที่ 24 ธันวาคม 2563
2.4 วิธีการดำเนินโครงการ : ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 เฉพาะการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย และการจดทะเบียนการโอน และการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน
2.5 สูญเสียรายได้ : คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 2,652.20 ล้านบาท จากการปรับลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์
3.มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. (มาตรการสินเชื่อฯ)
3.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงนักเหมาะสมกับศักยภาพของประชาชนแต่ละกลุ่ม โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ และเงื่อนไขผ่อนปรน
3.2 กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย
3.3 ระยะเวลาโครงการ : คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ – วันที่ 24 ธันวาคม 2563
3.4 วิธีดำเนินโครงการ : ธอส. จะสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ และเงื่อนไขผ่อนปรน ให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย ทั้งนี้ การขอสินเชื่อและการให้สินเชื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ธอส.
3.5 งบประมาณ : รัฐบาลชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยให้แก่ ธอส. เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,182.18 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้ ธอส. ทำความตกลงในการเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวตามภาระที่เกิดขึ้นจริงกับสำนักงบประมาณต่อไป
อ่านเพิ่มเติม คลิก>>>>>https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/23984