คลังขานรับอสังหาฯเร่งหารือ ธปท.ผ่อนปรนเกณฑ์ LTV กู้ได้ 100%

  • Post author:
You are currently viewing คลังขานรับอสังหาฯเร่งหารือ ธปท.ผ่อนปรนเกณฑ์ LTV กู้ได้ 100%

คลังขานรับข้อเสนอ 3 สมาคมอสังหาฯ เร่งหารือ ธปท.ผ่อนปรนเกณฑ์ LTV กู้ได้ 100% ของมูลค่าบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท พร้อมเตรียมจัดแคมเปญใหญ่โค้งสุดท้ายปลายปี เพื่อให้ผู้ประกอบการจัดโปรโมชั่นใหญ่ ลด แลก แจก แถม ผ่านมาตรการของรัฐบาล หวังระบายบ้านค้างสต๊อค 35,000 ยูนิต หวังพยุงธุรกิจในช่วงไตรมาส 4 ไม่ให้ทรุดตัวมาก คาดส่งผลตลาดขยายตัวได้ 5 -7 % ในปี 2563 โดยเฉพาะกลุ่มบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีสัดส่วนในตลาดถึง 60 %

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฎิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า จากการหารือกับผู้บริหารของธนาคารอาคารสงเคราะห์ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ เพื่อผลักดันให้มาตรการอสังหาริมทรัพย์ฯ ของรัฐบาล ช่วยระบายสต๊อกคงค้างของผู้ประกอบการไม่ให้ทรุดตัวลงไปมากกว่าปัจจุบัน โดยภาคเอกชนขอให้กระทรวงการคลังประสานกับกระทรวงมหาดไทย เรื่องประกาศลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และขอให้กระทรวงการคลังประสานกับ ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท. เพื่อขอผ่อนปรนกฎเกณฑ์ LTV เฉพาะกลุ่มของสินเชื่อซื้อบ้านจาก ธอส. วงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อให้ขอกู้ได้เต็ม 100 % ของมูลค่าบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ กระทรวงการคลังเตรียมร่วมกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ฯ เตรียมจัดแคมเปญใหญ่โค้งสุดท้ายปลายปี เพื่อให้ผู้ประกอบการจัดโปรโมชั่นใหญ่ ลด แลก แจก แถม ผ่านมาตรการของรัฐบาล หวังระบายบ้านค้างสต๊อค 35,000 ยูนิต การออกมาตรการครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยกระตุ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาส 4 ไม่ให้ทรุดตัวมากตามที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้คาดการณ์ว่าภาคอสังหาฯยังขยายตัวได้5 -7 %ในปี 2563 เพราะกลุ่มบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีสัดส่วนในตลาดถึง 60 % ของอสังหาฯทั้งระบบ

หลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนจากเดิม 2% เหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1 % เหลือ 0.01 % สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย และการจดทะเบียนการโอนและการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน โดยมีระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 รวมทั้งมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ดอกเบี้ยพิเศษ 2.5% คงที่ในช่วง 3 ปีแรก วงเงิน 50,000 ล้านบาท

เสนอให้กลับไปใช้แบบเดิมกับบ้านทุกหลัง…บ้านสัญญาที่สองขอสินเชื่อได้เทียบเท่ากับสัญญาแรก

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า เมื่อภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดแคมเปญใหญ่ บวกกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลในครั้งนี้ จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมหลายด้าน ทั้งเฟอร์นิเจอร์ ก่อสร้าง ตกแต่งภายใน และอีกหลายสาขา ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น จึงคาดว่าปีนี้จะมียอดขายประมาณ 210,000 ยูนิต ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 196,000 ยูนิต

 ด้านดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย ยอมรับว่ายอดขายที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมชะลอตัวร้อยละ 20 และยอดขายที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรลดลงเล็กน้อย เมื่อมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ของรัฐบาลออกมา จะช่วยพยุงให้กลุ่มอสังหาฯ ไม่ทรุดตัวไปมากตามที่กังวล อย่างไรก็ตาม การซื้อบ้านไม่เหมือนกับการซื้อสินค้าทั่วไป เพราะกว่าจะโอนได้มีหลายขั้นตอน ฉะนั้น ยอดการโอนบ้านจากการซื้อขายช่วงปลายปี น่าจะทำนิติกรรมแล้วเสร็จได้ในเดือนมกราคม 2563 นับว่าเป็นผลบวกทางจิตวิทยาให้ภาคอสังหาฯ อย่างแน่นอน

“ เราสนอในที่ประชุมวันนี้(1พ.ย.)ไปว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากเช่นนี้ LTV ควรยืดหยุ่นได้ด้วยการให้กลับไปใช้แบบเดิมให้บ้านทุกหลังที่เป็นสัญญาที่สองขอสินเชื่อได้เทียบเท่ากับสัญญาแรกเป็นการชั่วคราว ”ดร.อาภา พร้อมกับให้ความเห็นว่าเรื่องLTV เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ระดับกระทรวงต้องคุยกัน ในยุคปัจจุบันสังคมไทยได้เปลี่ยนจากเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรมและการบริการ ประชาชน(คน)มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยตามแหล่งงานซึ่งต่างจากอดีตในยุคเกษตรกรรมที่คนจะปักหลักการอยู่อาศัยในที่เดิม ดังนั้น การซื้อที่อยู่อาศัยหรือการมีบ้านสองหลังจึงถือเป็นเรื่องปกติของคนยุคใหม่ “ไปทำงานที่ไหน ก็ซื้อที่อยู่อาศัยใกล้ที่ทำงาน”

การออกมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% นั้นถือว่าเป็นมาตรการส่งเสริมการขาย หากแต่ขายได้แล้วขอกู้แบงก์หรือขอสินเชื่อไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ LTV ให้กลับไปใช้แบบเดิมนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมมาก ในขณะเดียวกัน สถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ควรเปลี่ยวิธีคิดเรื่องการปล่อยสินเชื่อบ้านใหม่จากเเดิมที่เรียกว่าเป็นหนี้ให้เปลี่ยนมาเรียกว่าการออมเรื่องที่อยู่อาศัยรวมถึงการจัดชั้นหนี้ใหม่ไม่ใช่เหมารวมเป็นหนี้พวกเดียวกันหมด

 

 

preeya tednok

ปุ่น ปรียา เทศนอก ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว prop2morrow ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อสารมวลชนด้านอสังหาริมทรัพย์มากว่า 20 ปี