“เข็มเหล็ก” เปิดศึกชิงส่วนแบ่งตลาดเสาเข็มกว่า 1 แสนล้านบาท
พร้อมระดมทุนในตลาดลหักทรัพย์ MAI ปีหน้า
“เข็มเหล็ก”เตรียมความพร้อมระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ MAI รับแผนขยายตลาด–การเติบโต พร้อมชูนวัตกรรมฐานรากสำเร็จรูป เทคโนโลยีใหม่ที่มาปฏิวัติวงการวิศวกรรมฐานรากแบบดั้งเดิม เปิดศึกชิงส่วนแบ่งการตลาดเสาเข็มมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท หวังไต่ชั้นติด 1 ใน 3 งานฐานราก
นายประเสริฐ ธรรมมนุญกุล
นายประเสริฐ ธรรมมนุญกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เข็มเหล็ก จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจระบบฐานราก ประเภทเสาเข็มเหล็กสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์ KEMREX เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับแผนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) ในปี 2563 โดยบริษัทฯต้องการเงินทุนประมาณ 200-300 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาใช้จ่าย ดังนี้
- ลงทุนในเครื่องจักรสำหรับการติดตั้ง
- ขยายแวร์เฮ้าส์ให้ได้ทั่วทุกภูมิภาค 7-8 แห่ง สำหรับจัดเก็บสินค้ารองรับบริการที่รวดเร็วภายใน 7 วันนับตั้งแต่ที่เซ็นสัญญากับลูกค้า ปัจจุบันบริษัทฯมีแวร์เฮ้าส์อยู่ 2 แห่งที่มีคือที่ กรุงเทพฯและที่เชียงใหม่ แวร์เฮ้าส์แต่ละแห่งใช้เงินลงทุน 20-30 ล้านบาท
- รองรับแผนการขยายฐานการตลาดและการขายจาก B2B สู่ B2C มากขึ้นตามแผนที่วางไว้จะเพิ่มทีมการตลาดและขายอีก เท่าตัว เป็น 100 คนเพื่อประจำอยู่ต่างจังหวัดตามภูมิภาค
“ในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามาดิสรัปต์ธุรกิจก่อสร้างมากยิ่งขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างและงานฐานรากของไทยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับวงการอสังหาริมทรัพย์” นายประเสริฐ กล่าวให้ความเห็น
พร้อมกันนี้ นายประเสริฐระบุด้วยว่า“เข็มเหล็ก” เป็น นวัตกรรมฐานรากที่จะมาปฏิวัติวงการวิศวกรรมฐานรากแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะเสาเข็มปูน และมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพวงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ไทย ทำให้การก่อสร้างเร็วกว่า 5 เท่าเมื่อเทียบกับการฐานรากระบบดั้งเดิม ทั้งนี้ สำหรับ “เข็มเหล็ก” คือ ฐานรากเสาเข็มสำเร็จรูป เป็นเทคโนโลยีใหม่ ผลิตในประเทศไทย ภายใต้การคิดค้นวิจัย ออกแบบ และพัฒนาจนได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ และมีการจดทะเบียนอนุญาตให้บริษัท เข็มเหล็ก จำกัด ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว
นอกจากนี้ ด้วยหลักการทำงานของฐานรากเข็มเหล็ก จะใช้แรงยึดกับผิวหน้าดินในการทำให้อาคารแข็งแรง โดยใช้รูปทรงที่เป็นเกลียวเหมือนสกรูที่มีฟิน ในการเพิ่มการรับน้ำหนักได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังทำให้ดินโดยรอบแน่นขึ้น เนื่องมาจากหลักการของสกรู และไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อหน้าดิน เป็นต้น
นายประเสริฐ กล่าวด้วยความมั่นใจว่า นวัตกรรมด้านฐานรากสำเร็จรูป “เข็มเหล็ก” ที่บริษัทฯผลิตและคิดค้นเป็นนวัตกรรมใหม่ที่พร้อมพลิกโฉมระบบงานวางฐานรากเสาเข็มของเมืองไทยและภาคพื้นเอเชีย ตั้งเป้าเป็น 1 ใน 3 ฐานรากที่ได้รับการยอมรับและความไว้วางใจของประเทศไทย พร้อมเติบโตอย่างมั่นคง คาดว่ารายได้จากสายธุรกิจเข็มเหล็กจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวหรือจาก 150 ล้านบาทในปี 2562 เป็น 300-400 ล้านบาทในปี 2563
บริษัทฯคาดว่าปี 2562 จะมีรายได้รวม 600 ล้านบาท โดยมีแหล่งที่มาของรายได้จาก 3 สายธุรกิจดังนี้
- ธุรกิจขายไฟให้กับรัฐบาล ประมาณ 150 ล้านบาท
- ธุรกิจออกแบบ จัดซื้อ และการก่อสร้าง (Engineering Procurement and Construction : EPC) กว่า 300 ล้านบาท
- ธุรกิจฐานรากเข็มเหล็กกว่า 150 ล้านบาท
ทั้งนี้ในปี 2562 การก่อสร้างของประเทศไทยมีมูลค่าอยู่ 10% หรือ 1.5 ล้านล้านบาท ของจีดีพีประเทศไทย ส่วนงานฐานรากมีมูลค่าประมาณ 10 % หรือ 1.5 แสนล้านบาท ของมูลค่าการก่อสร้างของประเทศไทย นอกจากนี้มูลค่าการก่อสร้างรวมของไทยมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งการขยายตัวของมูลค่าการก่อสร้างส่งผลบวกโดยตรงต่อผู้ประกอบการที่อยู่ใน Value Chain ของอุตสาหกรรมก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร่าง เช่น งานฐานราก ผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งบริษัทฯ มองว่าตลาดฐานรากถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่และยังเติบโตได้อีกมาก โดยบริษัทฯมีเป้าหมายที่จะเข้าไปชิงส่วนแบ่งการตลาด (market share) ของตลาดงานฐานราก
ในปัจจุบันงานฐานราก “เข็มเหล็ก” จะถูกนำมาใช้ทดแทนฐานรากปูนแบบเดิมมากขึ้นโดยเฉพาะในส่วนงานฐานรากในการต่อเติมอาคารที่พักอาศัย หรือ อาคารขนาดเล็ก รวมถึงใช้ทดแทนเสาเข็มปูนในการก่อสร้างอาคารขนาดไม่เกิน 2 ชั้น นอกจากนี้ยังได้รับความนิยมนำมาใช้กับอาคารประเภทน็อคดาวน์ อีกด้วย
จากประสบการณ์ทำงานด้านวิศวกรรมมายาวนาน ทำให้บริษัทฯ ทราบถึงปัญหาและความยุ่งยากของระบบงานฐานรากในรูปแบบเดิม เช่น ปัญหาการจ้างแรงงาน การควบคุมระยะเวลา และปัญหาด้านค่าใช้จ่าย รวมไปถึงการเกิดความเสียหายกับพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณที่ก่อสร้าง ซึ่งงานฐานรากมีความสำคัญต่องานก่อสร้างทุกประเภท จึงได้นำเสนอ “เข็มเหล็ก” นวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบฐานรากแบบใหม่มาเป็นทางเลือกใหม่สำหรับงานก่อสร้างโครงสร้างทุกรูปแบบ