โควิด-19 พ่นพิษผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี’63 กลุ่มอสังหาฯร่วงกราว

  • Post author:
You are currently viewing โควิด-19 พ่นพิษผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี’63 กลุ่มอสังหาฯร่วงกราว
พิษเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 กดดันกลุ่มอสังหาฯ รายได้ กำไร และยอดขายงวดไตรมาส 1 ปี 2563 ทรุดฮวบ มีเพียง “SC- ANAN” สวนทางตลาด ควงคู่รายได้เพิ่มแต่ไม่มาก ขณะที่ LPN ยอดขายนำโด่งเพิ่ม 56.89 % ส่วนแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บวกนิดๆ1.6 % ด้านโบรกเกอร์ “เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” เตรียมหั่นเป้ากำไรทั้งปีลงกว่า 25-30 % จากที่คาดการณ์ไว้ต้นปีที่ 3.5 หมื่นล้านบาท กัดฟันลุยต่อโปรโมชั่นโล๊ะสต๊อกคาดหวังตลาดค่อยๆฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี
prop2morrow.com รายงานผลการดำเนินงานบริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์งวดไตรมาส 1 ปี 2563 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ที่ทยอยประกาศออกมา พบว่า ส่วนใหญ่ทั้งรายได้ กำไรสุทธิปรับตัว “ลดลง” อย่างมีนัยสำคัญ จากทั้ง 12 บริษัท(รายละเอียดในตาราง) ดังนี้คือ
  • มีรายได้รวมเท่ากับ 39,808 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 เท่ากับ 55,532 ล้านบาทหรือ “ลดลง” สัดส่วน 28%
  • มีกำไรสุทธิเท่ากับ 5,847 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 เท่ากับ 9,514 ล้านบาทหรือ “ลดลง” สัดส่วน 39%
  • มียอดขายรวมเท่ากับ 49,171 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 เท่ากับ 64,216 ล้านบาทหรือ “ลดลง” สัดส่วน39%จากผลประกอบการที่ลดลงของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เป็นผลมาจากได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัว และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ลากยาวข้ามปี 2563

ทั้งนี้ มีเพียงสองบริษัทเท่านั้นที่มีผลประกอบการด้าน “รายได้เพิ่มขึ้น” แม้จะเป็นการเพิ่มไม่มากก็คือ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SC ที่มีรายได้รวมเท่ากับ 3,313 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้เท่ากับ 3,195 ล้านบาท ส่วนอีกรายคือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือ ANAN ที่มีรายได้รวมเท่ากับ1,858 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้เท่ากับ 1,822 ล้านบาท

ส่วนผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มี “ยอดขายเป็นบวก” นั้นก็มีอยู่ 3 บริษัทก็คือ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน)หรือ LPN  มียอดขายเท่ากับ 2,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.89 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขายเท่ากับ 1,670 ล้านบาท ,บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) หรือ LH มียอดขายเท่ากับ 5,592 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขายเท่ากับ 5,502 ล้านบาท และ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน)หรือ QH มียอดขายเท่ากับ 2,380 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขายเท่ากับ 1,614 ล้านบาท

… และมีบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA ที่กำไรสุทธิโดดเด่นเพิ่มขึ้นสูงถึง 44.6% เป็นเท่ากับ 227 ล้านบาทเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ได้เท่ากับ 157 ล้านบาท

ลุ้นไตรมาสที่ 2 เข้าสู่จุด “ต่ำสุด” ของปี !?…ลุยต่อแผนการตลาดไปที่กลุ่ม Ready to Move และเคลียร์ทิ้ง Inventory

สําหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 นั้นเหลืออีกเดือนกว่าๆเท่านั้นจะจบไตรมาส ก็คงต้องมาลุ้นกันว่าจะเป็นไตรมาสที่ผลประกอบการกลุ่มอสังหาฯเข้าสู่จุด “ต่ำสุด” หรือ “แย่ที่สุด” ของปีหรือไม่ เนื่องจากการรับรู้ผลกระทบจากโควิด-19 ที่เต็มไตรมาส ละเป็นช่วงที่อยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเดือนเมษายน 2563 การดำเนินกิจกรรมต่างๆทางเศรษฐกิจก็อยู่ภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

อย่างก็ตาม หากมองภาพโดยรวมแล้วภาคธุรกิจยังเผชิญความเสี่ยงสูง แม้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศจะลดลงมาอยู่ในระดับหลักหน่วยและมีการทยอยคลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไปบ้างแล้ว แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการปรับตัวทางธุรกิจต่างๆรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ก็ยังอยู่ภายใต้การรักษาระยะห่างทางสังคม(Social Distancing)อาจจะใช้ระยะเวลาเป็นปี ขึ้นอยู่กับการคิดค้นวัคซีนและการผลิตที่เข้าถึงประชากรหมู่มาก

ด้วยภาคธุรกิจที่ยังเผชิญกับความเสี่ยงที่สูง จะเห็นว่า ทุบจะทุกค่ายของบริษัทอสังหาฯล้วนพยายามปรับกลยุทธ์ทั้งด้านการตลาด การขาย การดีไซน์อย่างเต็มที่ รวมไปถึงการตัดขายที่ดินแปลงงามๆทั้งที่เป็นล้อมรั้วขึ้นป้ายประกาศขายแบบ Public และการเสนอขายลับๆหลังบ้านรู้กันเป็นการภายใน ด้วยเพราะต่างก็ต้องการ Cash Flow สำคัญสุด ขณะเดียวกันมีการขยายสัดส่วนโครงการบ้านจัดสรร เนื่องจากการขยายตัวของเครือข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าไปยังทําเลเมืองรอบนอกมากขึ้น อีกทั้งลูกค้ากลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์การซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และยังมีความผันผวนของอุปสงค์ (Demand )ต่ำกว่าอาคารชุด ที่ส่วนใหญ่เลื่อนเปิดโครงการใหม่ไปปี 2564  จึงถือเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการเพิ่มช่องทางของรายได้ ตอบโจทย์ในภาวะปัจจุบัน

ลุมพินี วิสดอม ฯ เปิดข้อมูลInventory ทั้ง 28 บริษัทอสังหาเพิ่มขึ้น 6.87% อยู่ที่ 509,993.07 ล้านบาท

เพื่อให้ผ่านช่วงยากลำบากพร้อมที่จะเติบโตในช่วงที่เหลือของปี จะเห็นว่าแต่ละบริษัทยังคงแผนการตลาดผ่านกลยุทธ์ด้าน “ราคา” ไปที่กลุ่ม Ready to Move และสินค้ารอขาย(Inventory)ค่อนข้างมาก

จากข้อมูลจาก บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LWS)  ที่ระบุสินค้าคงเหลือที่ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัยพร้อมโอน และที่อยู่อาศัยระหว่างการก่อสร้างของผู้ประกอบการอสังหาฯ ทั้ง 28 บริษัท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 อยู่ที่ 509,993.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.87% จาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ที่มีเท่ากับ 477,180.83 ล้านบาท

สำหรับกลยุทธ์ด้านการตลาดและการขายนั้นก็มีหลากหลายแคมเปญซึ่งทุกข้อความที่สื่อสารไปยังผู้บริโภคนั้นต่างก็ล้อไปกับนโยบายของภาครัฐ และช่วยลูกค้าประหยัด ลดภาระให้ผู้ซื้อได้ในสถานการณ์ โควิด-19 อาทิ  เว้นระยะผ่อน, พักต้น พักดอก, ให้ผู้ซื้ออยู่ฟรีนานสูงสุด 2- 3 ปี  พร้อมสิทธิประโยชน์อื่นๆ พร้อมกับปรับกลยุทธ์ช่องทางการขายที่เหมาะสมกับสถานการณ์การของตลาดผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์เช่น Lazada และ Shopee อํานวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการหาข้อมูล การจอง การตรวจห้อง ไปจนถึงการ โอนกรรมสิทธิ์ รวมทั้งให้ความสําคัญกับเรื่องสุขอนามัย โดยการจัดให้มี Private Visit อํานวยความสะดวกแก่ผู้ที่จําเป็นต้องเข้าไปเยี่ยมชมโครงการ

ผู้ประกอบการบริษัทอสังหาฯยังเฝ้าติดตามสถานการณ์ โควิด-19 อย่างใกล้ชิด และปรับรูปแบบการดําเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ และสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับคาดหวังว่าสถานการณ์ภาพรวมในช่วงครึ่งปีหลังจะสดใสกว่าช่วงครึ่งปีแรก

เตรียมหั่นเป้า “กำไร” ทั้งปีลงอีกกว่า 25-30 %

ท่ามกลางสาระพัดปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจของไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้แล้วแบบเบ็ดเสร็จ ประกอบกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังเผชิญมรสุมปัจจัยลบที่เป็นความเสี่ยงสำคัญได้แก่

  • การแข่งขันที่คาดสูงขึ้นในตลาดแนวราบในปี 2563
  • อุปสงค์ทั้งที่เป็นผู่้บริโภคในประเทศและจากชาวต่างชาติที่ถูกกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19
  • ความยืดเยื้อของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการ Lockdown ประเทศ
  • กำลังซื้อที่ลดลง จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้เกิดภาวะชะลอการตัดสินใจซื้อออกไปก่อน
  • ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และ Rejection rate ที่สูงขึ้น
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม

“ภาพรวมผลประกอบการไตรมาสแรกส่วนใหญ่ต่ำกว่าที่คาด ส่วนไตรมาส2 น่าจะเป็นไตรมาสที่หนักสุดของกลุ่มอสังหาฯ”นั่นเป็นความเห็นของนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด(มหาชน)

พร้อมกันนี้นายเทิดศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า โดยรวมผลประกอบการกลุ่มอสังหาฯส่วนใหญ่ต่ำกว่าที่คาดไว้ อาจเป็นเพราะปัญหาจากยอดขายและยอดโอนชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อให้ปรับตัวลดลง กลุ่มลูกค้าบางส่วนยังไม่สามารถโอนหรือทำการส่งมอบได้ เนื่องจากธนาคารไม่ปล่อยกู้ให้ ซึ่งนั่นสะท้อนผ่านยอดการรับรู้รายได้ปรับตัวลดลงสวนทางกับด้านต้นทุนการขายยังคงอยู่ในระดับสูงจากกลยุทธ์การบริหารการตลาดและการขายที่ใช้เรื่อง “ราคา” เป็นตัวนำ และในช่วงกว่า7 เดือนที่เหลือของปีผู้ประกอบการอสังหาฯยังคงแข่งขันกันด้านราคา ซึ่งนอกจากคอนโดมิเนียมแล้ว ที่อยู่อาศัยแนวราบก็การแข่งขันกันสูงด้วยเช่นกัน

นอกจากจะเดินหน้าลุยต่อแผนการตลาดไปที่กลุ่ม Ready to Move และสินค้ารอขายซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เข้ามาแล้วคุณภาพของสินค้ารอโอนหรือ Backlog ที่อยู่ในมือของผู้ประกอบการอสังหาฯก็มีความสำคัญมากๆ ต่อผลพวงจากวิกฤติต่างๆดังกล่าวที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อให้ปรับตัวลดลง

เอเชีย พลัส ได้เตรียมปรับประมาณการกำไรของ 16 บริษัทที่ฝ่ายวิจัยมีบทวิเคราะห์ครอบคลุมในปี 2563 ลงอีกไม่น้อยกว่า 25-30% หรือลดลงอีกไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรของกลุ่มอสังหาฯ16 บริษัทปีนี้เหลือไม่ถึง 26,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดการณ์กำไรไว้ที่ระดับ 35,000 ล้านบาท

ถึงตรงนี้กล่าวสรุปได้ว่า ผลประกอบการโดยรวมส่วนใหญู่ ติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ทั้งยอดขายรวม ยอดรับรู้รายได้ และกำไรสุทธิ คงต้องจับตาดูผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปี 2563  ของกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาฯว่าค่ายไหนจะ “รุ่ง” และ “ร่วง” ต่อเนื่อง หรือเพียงแค่ “ประคองตัว” ต้องติดตาม…

 

 

toppercool

CEO,Prop2morrow Blogger อสังหาฯ , นักการตลาดดิจิตัล สาย Content marketing