ลลิลฯ แตะเบรกลงทุนอสังหาฯโซนEEC

  • Post author:
You are currently viewing ลลิลฯ แตะเบรกลงทุนอสังหาฯโซนEEC

ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ แตะเบรกลงทุนโครงการใหม่ในพื้นที่ EEC หลังภาคธุรกิจท่องที่ยวและส่งออกได้รับพิษโควิด-19 แบบเต็มๆ หันเน้นบริหารสภาพคล่อง และสต็อกบ้านอย่างเหมาะสม ด้านยอดขายที่ตั้งไว้ 6,200 ล้านบาท ณ เดือนพฤษภาคม ทำได้ 3,000 ล้านบาท คาดอีก 7 เดือนที่เหลือน่าจะทำยอดขายได้ตามเป้าที่วางไว้ช่วงต้นปี

 

นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ LALIN เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัทฯต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ใหม่ โดยเฉพาะแผนการเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือEEC คงต้องชะลอไว้ก่อนรอดูท่าทีตลาดโดยรวมสัก 3-6 เดือน ทั้งนี้เพราะพื้นที่ดังกล่าวกำลังซื้อส่วนใหญ่จะอิงกับภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกซึ่งขณะนี้ค่อนข้างได้รับผลกระทบมาก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหรรมรถยนต์ ภาคธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ที่อาจมีการย้ายฐานการผลิตไปยังที่อื่น ส่วนภาคธุรกิจท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบิน โดยตัวมองว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่EEC จะฟื้นตัวช้ากว่าในกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ พื้นที่ EEC เข้ามามีบทบาทความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมาและยังจะยังคงมีบทบาทสำคัญในอนาคต ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งจากท้องถิ่นและจากส่วนกลางกรุงเทพมหานครเข้าไปลงทุนค่อนข้างมากโดยเฉพาะ 3 จังหวัดได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ( REIC ) ระบุ ณ สิ้นปี 2562 มีโครงการที่อยู่อาศัยเสนอขายจำนวนทั้งสิ้น 78,780 หน่วย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 22 ของจำนวนที่อยู่อาศัยใน 26 จังหวัดหลักซึ่งมีจำนวนรวม 355,145 หน่วย นับได้ว่ามีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ซึ่งมีจำนวน 209,868 ยูนิต โดยจังหวัดชลบุรีมีจำนวนที่อยู่อาศัยเสนอขายมากที่สุดในกลุ่มจังหวัด EEC พร้อมกันนี้ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ วิเคราะห์ตลาดที่อยู่อาศัยภาคตะวันออก 3 จังหวัด EEC หน่วยขายได้ใหม่ลด อัตราดูดซับต่ำ ตลาดรวมชะลอตัว ในปี 2563 จะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายอยู่ในตลาดจำนวน 44,060 ยูนิต

นายชูรัชฏ์ ชาครกุล

อย่างไรก็ตาม นายชูรัชฏ์ ยังกล่าวให้ความเห็นว่า การคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่มากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเดือนพฤษภาคมปรับดีขึ้น เห็นได้จากผู้บริโภคเข้ามาเยี่ยมชมโครงการมากขึ้น และสนใจโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัย(เรียลดีมานด์) ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาควบคู่ในการดำเนินธุรกิจก็คือ แบงก์มีความกังวลต่อการปล่อยสินเชื่อ ห่วงเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ดังนั้น บริษัทฯได้วางแผนรับมือกับภาวะตลาดที่ชะลอตัว ขยายการลงทุนอย่างระมัดระวัง พยายามรักษาสัดส่วนหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 1 เท่า (ปัจจุบันอยู่ที่ 0.8 เท่า) บริหารสภาพคล่อง และบริหารสต็อกอย่างเหมาะสม โดยปัจจุบันมีสต็อกบ้านพร้อมขายคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินค้าพร้อมโอนในสัดส่วน 60% และอีก 40% เป็นการขายบ้านสั่งสร้าง มียอดขายรอรับรู้รายได้อยู่ที่ 1,200-1,300 ล้านบาท รับรู้รายได้ในปี 2563 ทั้งหมด

ด้านยอดขายปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 6,200 ล้านบาท ณ เดือนพฤษภาคม ทำยอดขายได้ 3,000 ล้านบาท และคาดว่าช่วง 7 เดือนที่เหลือ น่าจะทำยอดขายได้ตามเป้าที่วางไว้ ส่วนแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2563 วางไว้ 9-10 โครงการ มูลค่าการขายประมาณ 6,000 ล้านบาท ในครึ่งปีแรกเปิดไปได้แล้ว 5 โครงการแนวราบ มูลค่าโครงการ 3,600 ล้านบาท และช่วงหลังโควิด-19 จะเปิดอีก 2 โครงการ ล่าสุด ได้เปิดตัว 2 โครงการแนวราบใหม่มูลค่าโครงการรวม1,800 ล้านบาท. คือ โครงการลลิล ทาวน์ แลนซิโอ คริป บางนา-เทพารักษ์ เป็นโครงการบ้านเดี่ยว ระดับราคา 3-6 ล้านบาท และโครงการไลโอ บลิสซ์ บางนา-เทพารักษ์ ทาวน์โฮมแบบใหม่ ระดับราคา 1.99 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ นายชูรัชฏ์ ยังกล่าวด้วยว่า การทำธุรกิจในภาวะปัจจุบันยุคโควิด ต้องแม่น  เมื่อลูกค้ามีช่องทางเลือกมากขึ้น ทีมการตลาดจะต้องลงสำรวจพฤติกรรมของลูกค้าเพื่อนำมาพัฒนาเป็นโปรดักส์ การนำเสนอสินค้าให้กับลูกค้าที่พร้อมเข้าอยู่ หรือ บางโครงการจะเหมาะสมกับลูกค้าที่ต้องผ่อนดาวน์ระยะหนึ่ง ซึ่งทีมงานต้องทำการบ้าน ต้องรู้จริง

preeya tednok

ปุ่น ปรียา เทศนอก ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว prop2morrow ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อสารมวลชนด้านอสังหาริมทรัพย์มากว่า 20 ปี