เป็นที่ทราบกันดีว่าแทบทุกภาคธุรกิจล้วนเข้าสู่ภาวะชะลอตัวหลังจากเกิดเหตุการณ์วิกฤตโควิด-19 ซึ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นอีกหนึ่งในธุรกิจที่ต้องประคองตัวอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ ซึ่งเราก็ได้เห็นหลายบริษัทออกมาให้ข้อมูลภาคอสังหาริมทรัพย์ว่าแม้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีการปรับตัวเพื่อรับมือสถานการณ์ดังกล่าว แต่ก็ต้องยอมรับว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้นยังน่าเป็นห่วง เพราะเรายังไม่ทราบว่าวิกฤตนี้จะยืดเยื้อแค่ไหน และนานเพียงใดเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคจึงจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
แม้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะได้รับผลกระทบหนัก แต่ไม่ใช่ว่าจะขายไม่ได้เลย เมื่อเรามาสแกนตลาดกันแบบละเอียดนั้น จากข้อมูลของพลัส พร็อพเพอร์ตี้ พบว่าในส่วนของทาวน์โฮมนั้นยังถือว่าได้รับผลกระทบไม่หนักมาก เรียกว่าทรงตัวได้ดีกว่าที่อยู่อาศัยประเภทอื่น ซึ่งเหตุใดทาวน์โฮมจึงได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้อยกว่าที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ นั่นเพราะทาวน์โฮมมีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบ New Normal ในยุคโควิด-19 ในหลายมิติ ทั้งในมิติของราคา ที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าบ้านเดี่ยว โดยเฉพาะในยุคที่ต้องรัดเข็มขัด การปรับลดสเปคความต้องการลงมาเพื่อให้ได้ที่อยู่อาศัยแนวราบแต่พื้นที่ใช้สอยน้อยลงก็ไม่ได้เสียหายอะไรเมื่อต้องแลกกับค่าใช้จ่ายในการผ่อนต่อเดือนที่ลดลง ขณะเดียวกันราคาทาวน์โฮมที่ได้รับความนิยมช่วง 3-5 ล้านบาท ก็ถือว่าใกล้เคียงกับราคาคอนโดมิเนียมแต่ก็มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าเหมาะกับยุคนี้ที่ผู้คนเริ่มคุ้นชินและหันมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมอยู่บ้านมากขึ้น นอกจากนี้ในมิติของการคมนาคมนั้น ทาวน์โฮมก็มีข้อได้เปรียบเพราะหลายโครงการอยู่ตามแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายและรอยต่อของเขตเมือง ขณะที่บ้านเดี่ยวในราคาที่เอื้อมถึงนั้นก็จะอยู่ในทำเลชานเมืองเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตามแม้ว่าทาวน์โฮมกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาทจะเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งหากดูจากตัวเลขที่พลัสฯสำรวจมาล่าสุดก็พบว่ายอดขายลดลงไป 11% แต่เมื่อเทียบกับภาพรวมของตลาดที่ปรับลดลงไปถึง 18% แล้ว ก็ยังถือว่าปรับลดลงน้อยกว่า อัตราดังกล่าวถือว่ายังเป็นการชะลอตัวที่น้อยกว่ากลุ่มคอนโดมิเนียมเพราะทาวน์โฮมยังถือเป็นที่อยู่อาศัยที่อยู่ในกลุ่มสำหรับ Real Demand ที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง โดยความต้องการทาวน์โฮมนั้นเริ่มเติบโตขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีในส่วนของทาวน์โฮมกลุ่มระดับกลาง-บนหรือราคาสูงกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป ยังมีอัตราการขายค่อนข้างช้า เนื่องจากลูกค้าหลักในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ประกอบการในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจนั่นเอง จึงมีผลกระทบต่อกำลังซื้อในกลุ่มนี้
ทั้งนี้เมื่อเรามาพิจารณาถึงทำเลที่มีการขายที่โดดเด่นนั้นแน่นอนว่าเป็นทำเลแนวรถไฟฟ้า โดยเฉพาะส่วนต่อขยาย เช่น สายสีแดงและสีเขียวที่จะขยายไปถึงปทุมธานี โดยสายสีเขียวคาดว่าจะเปิดใช้ในปลายปีนี้ ทำให้ในโซนดังกล่าวมีอุปทานใหม่เพิ่มเข้ามา 6,497 ยูนิต หรือเพิ่มขึ้น 44% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ยังพบทำเลที่กำลังได้รับความนิยมในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบซึ่งรวมทั้งทาวน์โฮมและบ้านเดี่ยว คือทำเลย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ เนื่องจากเป็นทำเลเปิดใหม่และมีถนนทางเชื่อมการเดินทางเข้าสู่พื้นที่รามคำแหง พระราม 9 อีกทั้งยังสามารถเดินทางไปสู่สนามบินได้สะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่บริเวณบางนาซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และบริเวณรามอินทรา รวมไปถึงทำเลแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายและแนวรอบนอกวงแหวน ซึ่งสามารถเดินทางเข้าสู่เมืองได้สะดวกเนื่องจากมีทางเชื่อมพิเศษเข้าสู่เมือง
ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมตลาดทาวน์โฮมจึงได้รับผลกระทบน้อยกว่าโครงการที่อยู่อาศัยประเภทอื่น แต่อย่างไรก็ตามข้อควรระวังของทาวน์โฮมคือการที่มีพื้นที่บางส่วนติดกับเพื่อนบ้าน ดังนั้นการอยู่ในสังคมแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักเพื่อให้เกิดเป็นคอมมูนิตี้ที่น่าอยู่ เพราะหากเกิดปัญหากระทบกระทั่งขึ้นมาจะทำให้เกิดความไม่สบายใจในการอยู่อาศัยระยะยาว อย่างไรก็ดีการมีนิติบุคคลที่มีความเป็นมืออาชีพมาบริหารโครงการนั้นถือว่ามีส่วนช่วยเป็นตัวกลางจัดการปัญหาภายในโครงการได้อย่างมาก ดังนั้นการเลือกที่อยู่อาศัยจึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งตัวโครงการและบริการหลังการขาย