เชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ

  • Post author:
You are currently viewing เชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 โดยมี นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

โดยที่ประชุมได้รายงานแผนงานเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ประกอบด้วย โครงการท่าเรือบก (Dry Port) ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรทางถนน ลดความคับคั่งของท่าเรือด้วยการขนส่ง 2 ระบบ โดยเฉพาะการขนส่งทางราง และโครงการเชื่อมโยงอ่าวไทย-อันดามัน (Land Bridge) ด้วยท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งไทยเชื่อมด้วยถนน มอเตอร์เวย์ ราง และรถไฟ เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์การขนส่งของประเทศ และขยายสักยภาพเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและเอเชียใต้ และโครงการสะพานไทย ในโอกาสนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เน้นย้ำการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเครือข่ายโลจิสติกส์ของภูมิภาคทั้งการขนส่งสินค้าและการสัญจร โดยการศึกษาโครงการจะต้องสร้างความเชื่อมโยงให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน และเกิดผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ ซึ่งจะใช้รูปแบบการลงทุนแบบ PPP โดยจะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ

จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ร่วมประชุมกับผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของไทยและต่างประเทศ และได้กล่าวขอบคุณนักลงทุนที่มีความเชื่อมั่นและมีการขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง COVID-19 พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจะทำงานอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรมทุกการลงทุนในทุกพื้นที่ทั้ง EEC และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ปัจจุบันมีนักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC โดยมีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วง COVID-19 การลงทุนใน EEC ยังอยู่ในระดับสูง โดยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา มีคำขอรับการส่งเสริมใน EEC จำนวน 277 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 85,000 ล้านบาท โดยคิดเป็นร้อยละ 54 ของคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ ทั้งนี้ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ ใน EEC ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการเมืองการบินอู่ตะเภา โครงการขยายท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด รวมทั้งโครงการพัฒนาเขตนวัตกรรม EECi ที่จังหวัดระยอง ได้ผู้ชนะการประมูลครบถ้วนแล้ว