ตลาดศูนย์การค้าซึมยาวรับโควิดระบาด-กำลังซื้อต่างชาติเป็นศูนย์

You are currently viewing ตลาดศูนย์การค้าซึมยาวรับโควิดระบาด-กำลังซื้อต่างชาติเป็นศูนย์

ในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา ธุรกิจค้าปลีกหดตัวค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เพราะได้รับผลกระทบเชิงลบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 โดยเฉพาะร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ ที่คาดว่าในรอบปี 2563 ทั้งประเทศอาจจะสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบเต็มๆจากมาตรการปิดห้างสรรพสินค้าเป็นการชั่วคราว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในวงกว้าง

นายธีระวิทย์ ลิ้มทองสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส เรียลเอสเตท แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลตลาดศูนย์การค้าในพื้นที่ Central Retail District (CRD)ย่านสยามสแควร์ ราชประสงค์ เพลินจิต และพร้อมพงษ์ในปีที่ผ่านมา พบว่าตลาดศูนย์การค้าได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รองจากกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม  โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ที่รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ทั่วประเทศ

ทำให้ศูนย์การค้าทั้งประเทศต้องปิดกิจการ ส่งผลกระทบโดยตรงทั้งผู้ประกอบการและผู้เช่าพื้นที่  ประกอบกับมีการปิดการเดินทางทางอากาศ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยตลอดทั้ง 1ปีที่ผ่านมา   เมื่อเทียบสถานการณ์ปกติในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศประมาณ 40ล้านคนต่อปี  ทำให้ศูนย์การค้าในย่าน Central Retail District ที่พึ่งพากำลังซื้อของต่างชาติแทบจะมีรายได้กลายเป็นศูนย์  ส่งผลให้ยอดขายรวมของร้านค้าเช่าลดลงกว่า 50%


แต่อย่างไรก็ตามภาพรวมของตลาดพื้นที่ศูนย์การค้าในย่านดังกล่าวมีอัตราการเช่าเฉลี่ยที่ 93% ลดลงจากปี 2562 ที่มีอัตราการเช่าพื้นที่สูงถึง 97% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะห้างอิเซตันได้คืนพื้นที่เช่าให้กับห้างเซ็นทรัลเวิลด์ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในขณะที่ราคาค่าเช่าเฉลี่ยพื้นที่ชั้น G ยังคงอยู่ในระดับเดิมที่ 3,900บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน

ศูนย์การค้าปี’64 เน้นเจาะฐานลูกค้าคนไทย

ส่วนเทรนด์ของตลาดศูนย์การค้าในปี 2564 คาดว่าอัตราการเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าจะลดลง เช่นเดียวกับราคาค่าเช่าพื้นที่ก็จะปรับลดลงด้วย โดยมีปัจจัยหลักมาจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ทำให้ร้านค้าเช่าหลายๆร้านเริ่มมีประสบปัญหาจนถึงขั้นขอยกเลิกสัญญาเช่า หรือมีการต่อรองขอลดค่าเช่า

ขณะที่ผู้ประกอบการร้านค้าเช่าในศูนย์การค้าคงต้องปรับตัวหันไปพึ่งพากำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวยังคงไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ซึ่งล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็ได้มีการปรับรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่จากเดิมที่เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็น Mass เปลี่ยนเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงแทน ทำให้รูปแบบของตลาดศูนย์การค้าจะต้องเปลี่ยนไป อีกทั้งยังต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาใช้งานในศูนย์การค้าทั้งในด้านของสุขอนามัย รวมถึงรูปแบบร้านค้าที่จะต้องมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น

ส่วนพื้นที่ศูนย์การค้าใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดช่วง 1-3ปีนี้ จะมีศูนย์การค้า ดิ เอ็มสเฟียร์ (The District Emsphere) ซึ่งมีกำหนดสร้างเสร็จในปี 2565 และเซ็นทรัล เอ็มบาสซี (Central Embassy ) เฟสใหม่ที่จะสร้างเสร็จในปี 2568

เปิดนิยามใหม่ศูนย์การค้าในอนาคต

แม้ว่าห้างสรรพสินค้าจะเป็นสถานที่ที่คนไทยคุ้นเคยกันมานานหลายสิบปี แต่ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ได้เปิดมุมมองถึงความนิยมของศูนย์การค้าในอนาคตจะลดลงและมีการเติบโตเพียงเล็กน้อย หลังจากในปีที่ผ่านมา โควิด-19  ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจค้าปลีก

นางสาวจริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า ห้างสรรพสินค้าถือเป็นสถานที่ที่ช่วยประหยัดเวลาให้กับนักช็อป เพราะมีการนำเสนอและจัดกลุ่มสินค้าที่มีความหลากหลายไว้ตามแผนกต่าง ๆ ทำให้ลูกค้าสามารถค้นหา เปรียบเทียบ และเลือกซื้อสินค้าที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย   แต่อย่างไรก็ตาม ห้างสรรพสินค้ารูปแบบเดิมอาจจะไม่ตอบสนองความต้องการ ไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรมของผู้ซื้ออีกต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่

โดยข้อมูลของแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี  ในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ค้าปลีกทั้งหมดในกรุงเทพฯมีทั้งสิ้น 7.8 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้น 1.16% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน  ในจำนวนนี้มีเพียง 3% เท่านั้นที่เป็นพื้นที่ห้างสรรพสินค้า  ซึ่งมีผู้เล่นหลักเป็นบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในประเทศ 2 ราย คือกลุ่มเซ็นทรัล กรุ๊ป และเดอะมอลล์ กรุ๊ป ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด

นอกนี้ยังมีนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่ให้ความสนใจลงทุนตลาดห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก  ซึ่งส่วนใหญ่แข่งขัน กันนำเสนอคุณลักษณะที่เป็นจุดเด่นของห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นที่ โดยเฉพาะการให้บริการที่พิถีพิถัน และนำเสนอคุณภาพสินค้าระดับพรีเมียม

แต่ล่าสุดผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นหลายรายได้ทยอยยุติแผนการขยายสาขา และบางส่วนได้ออกจากตลาดประเทศไทย เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงภายในประเทศไทย ทำให้ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ขณะที่ธุรกิจห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นก็หดตัวโดยเฉพาะตลาดในต่างประเทศ

ดังนั้นห้างสรรพสินค้าในฐานะแหล่งช้อปปิ้งแบบครบวงจร แต่ถูกแทรกแซงจากอี-คอมเมิร์ซและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป  ทำให้ผู้ประกอบการห้จำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจ สิ่งที่นำเสนอ และบริการเสริมต่างๆ ที่มีให้กับลูกค้า เพื่อรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจและตลาดที่มีความท้าทาย

 โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และนิยมซื้อสินค้าออนไลน์เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ดังนั้ยร้านค้าที่มีหน้าร้านยังคงได้รับความนิยมจากผู้ซื้อคนไทย  แต่ต้องปรับตัวให้มีความคล่องตัวมากขึ้นในยุคของอี-คอมเมิร์ซและนำเอานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น ระบบการให้บริการอัตโนมัติภายในร้านค้า และการชำระเงินผ่านมือถือ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าอายุน้อย เป็นต้น

ส่วนการออกแบบพื้นที่ขายถือเป็นอีกปัจจัยที่ดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ   ห้างสรรพสินค้าอาจจะต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่เดิมๆ ให้เป็นพื้นที่ที่มีความแปลกใหม่ และสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการ   รวมถึงการมีสินค้าที่หลายหลากสำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่กว้างขึ้น  ล่าสุด กลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้เปิดตัวแนวคิด “Lifestore” แห่งแรกขึ้นที่เดอะมอลล์งามวงศ์วานเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา โดยออกแบบและปรับปรุงพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าขึ้นใหม่เพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ

นอกจากนี้ต้องเน้นการจัดกิจกรรมด้านการขายและการตลาด โดยทั่วไปแล้วราคาสินค้าที่ขายในห้างสรรพสินค้าจะค่อนข้างสูง เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและการดำเนินงานที่สูงกว่า ทำให้กลุ่มลูกค้าถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีรายได้ระดับปานกลางค่อนข้างสูงถึงระดับสูง    งนั้นการจัดโปรโมชั่นและกิจกรรมการตลาดอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการร่วมมือกับบัตรเครดิตต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรมลดราคา จะช่วยดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น

รวมทั้งต้องมีบริการเสริมต่างๆ เช่น ผู้ช่วยช้อปส่วนตัว โปรแกรมสำหรับลูกค้าสมาชิก และการให้บริการเฉพาะสำหรับลูกค้าแต่ละราย ซึ่งได้กลายเป็นเทรนด์ใหม่ เนื่องจากลูกค้ามีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้นในปัจจุบัน