สรุปสถานการณ์อสังหาฯ 63 และแนวโน้มปี 64

You are currently viewing สรุปสถานการณ์อสังหาฯ 63 และแนวโน้มปี 64


ปี พ.ศ.2563 เป็นปีที่หนักหนาสาหัสในทุกธุรกิจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหรือเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เพราะการเดินทางระหว่างประเทศนั้นไม่สามารถทำได้แบบปกติ การที่ชาวต่างชาติจะเดินทางไปประเทศใดประเทศหนึ่งนั้นจำเป็นต้องผ่านมาตรการคัดกรองต่างๆ ซึ่งไม่สะดวกและมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางไป ยกเว้นกลุ่มที่จำเป็นต้องไปเพื่อการทำงานซึ่งอาจจะยอมให้มีการกักตัว 14 วันหรือตามมาตรการของประเทศนั้นๆ

เมื่อการเดินทางระหว่างประเทศมีปัญหาขนาดนี้ ธุรกิจการท่องเที่ยวจึงหยุดชะงักแบบทันทีทันใด และเข้าสู่ช่วงวิกฤตตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นมา และยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับฟื้นขึ้นมาในปี พ.ศ.2564 – 2565 เพราะการควบคุมและการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายๆ ประเทศยังไม่ได้แสดงออกซึ่งผลลัพธ์ที่วางใจได้ อีกทั้งมีเรื่องการระบาดรอบใหม่เกิดขึ้นในประเทศตอนปลายปี พ.ศ.2563 ต่อเนื่องต้นปี พ.ศ.2564 เข้ามาบั่นทอนความเชื่อมั่นให้ลดลงไปอีก แม้ว่าเรื่องของวัคซีนจะเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่การจะกระจายวัคซีนไปให้ทั่วถึงทั้งโลกนั้นคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่การท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะกลับมาเป็นปกติในอีก 3 – 4 ปีข้างหน้า

เมื่อชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งเป็น 1 ในฟันเฟือง เศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยขาดแรงหมุน เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12% ของ GDP ประเทศไทยมีผลให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวรุนแรงประกอบกับเศรษฐกิจประเทศไทยก็อยู่ในช่วงชะลอตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งมาตรการต่างๆ ที่ออกมาจากรัฐบาลในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ก็มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเช่นกัน ความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของคนไทยจึงลดลงแบบชัดเจน หลายๆ ธุรกิจได้รับผลกระทบ เช่น ร้านอาหาร สถานบันเทิง สถานที่ท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีก โรงแรม รถรับจ้าง และอีกหลายธุรกิจที่ต้องปิดให้บริการแบบชั่วคราว และถาวร หรือเปิดให้บริการแบบไม่เหมือนเดิมเพื่อหารายได้พยุงกิจการเอาไว้เท่านั้น

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบจากการที่ความเชื่อมั่นลดลงมีผลให้คนจำนวนหนึ่งไม่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ซึ่งเป็นการสร้างภาระหนี้สินระยะยาว อีกทั้งยังไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจและฐานะทางการเงินของตนเองในระยะยาว ประกอบกับมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาสินเชื่อธนาคารมีความเข้มงวดมากขึ้นเพราะทุกธนาคารต่างไม่ต้องการเพิ่มภาระที่เกิดจากหนี้เสียให้มากขึ้นเช่นกัน  แต่ผู้ประกอบการก็ไม่ต้องการที่จะมีรายได้ลดลงในช่วงวิกฤตจึงพยายามระบายสต็อกของตนเองออกมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งในช่วงที่คนไม่อยากจ่ายเงินจำนวนมากแบบนี้ วิธีที่จะสร้างความน่าสนใจให้กับคนทั่วไปมีเพียงการลดราคาและมีของแถมต่างๆ ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจึงเห็นผู้ประกอบการนำโครงการที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จแล้วโดยเฉพาะคอนโดมิเนียมออกมาลดราคากันมากมาย

การลดการเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมใหม่และเพิ่มสัดส่วนโครงการบ้านจัดสรรให้มากขึ้น เป็นอีก 1 มาตรการที่ผู้ประกอบการนำมาใช้ในปี พ.ศ.2563 จำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในกรุงเทพมหานครปี พ.ศ.2563 ลดลงมากกว่า 35% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2562 ในขณะที่บ้านจัดสรรลดลงประมาณ 10 – 15% เพราะกลุ่มผู้ซื้อบ้านจัดสรรเป็นคนที่ต้องการที่อยู่อาศัยจริงๆ และการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรมีต้นทุนต่ำกว่าโครงการคอนโดมิเนียมอีกทั้งยังใช้เวลาในการพัฒนาจนถึงการโอนกรรมสิทธิ์สั้นกว่าโครงการคอนโดมิเนียม เมื่อมีปัญหาหรือยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าก็สามารถหยุดการพัฒนาได้ทันทีต่างจากโครงการคอนโดมิเนียม ความเสี่ยงจึงน้อยกว่า และเหมาะกับการสร้างรายได้ในช่วงที่กำลังซื้อลดน้อยลง

ปี พ.ศ.2564 จะเป็นอีกปีที่โครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มีจำนวนไม่แตกต่างจากปี พ.ศ.2563 ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้เรื่องของวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นในภาพรวมและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยอาจต้องรอดูสถานการณ์ในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ.2564 แต่หลายๆ ฝ่ายเชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเลยจุดต่ำสุดมาแล้วในปีพ.ศ.2563 แต่จะฟื้นตัวเร็วเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับเรื่องของวัคซีนและผลกระทบจากโควิด-19ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2563 ต่อเนื่องต้นปีพ.ศ.2564 ซึ่งมีผลให้คนจำนวนหนึ่งตกงานหรือรายได้ลดลง รวมไปถึงสถานประกอบการหลายแห่งที่ไม่สามารถไปต่อได้ในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งถ้าการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศในปี พ.ศ.2564 ยังไม่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2563 ก็เท่ากับว่าธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาคนไทยเป็นหลักซึ่งรัฐบาลก็พยายามกระตุ้นในเรื่องนี้อยู่เช่นกัน แต่ยังไม่สามารถทดแทนรายได้ที่ขาดหายไปจากการที่ชาวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้แบบปกติ โครงการคอนโดมิเนียมที่จะเปิดขายในปี พ.ศ.2564 ยังคงเป็นโครงการราคาไม่แพงคือไม่เกิน 3.5 ล้านบาทต่อยูนิตในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอกตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง

ในระดับของบุคคลทั่วไปที่เป็นนักลงทุนหรือผู้ที่มีคอนโดมิเนียมในครอบครองอาจจะต้องรีบระบายของในมือออกไปให้เร็วที่สุด หรือถ้าเป็นนักลงทุนระยะยาวที่นิยมซื้อคอนโดมิเนียมมาเพื่อปล่อยเช่าระยะยาวนั้นก็อาจจะต้องทำใจรับผลตอบแทนที่ลดลงเพราะการแข่งขันในตลาดมีสูงมาก เกิดการลดราคาค่าเช่ากันลงมามาเป็นประวัติการณ์บางยูนิตจำเป็นต้องลดลงมามากกว่า 30% เพื่อให้ได้ผู้เช่า เพราะมีเจ้าของคอนโดมิเนียมหลายรายยอมลดค่าเช่าลงทำให้คนอื่นต้องลดลงมาด้วยเช่นกัน อีกทั้งการขายต่อก็อาจจะทำได้ช้ากว่าในอดีตโดยเฉพาะในโครงการที่ยังขายไม่หมด เพราะผู้ประกอบการเองก็พร้อมลดราคายูนิตเหลือขายด้วยเช่นกัน โรงแรมหรือเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ก็เข้ามาแย่งกลุ่มลูกค้าที่หาเช่าคอนโดมิเนียม เพราะโครงการเหล่านี้ก็ต้องรายได้ในช่วงนี้เช่นกัน ซึ่งแนวโน้มของผลตอบแทนจากการลงทุนคอนโดมิเนียมในระยะยาวก็มีความเป็นไปได้ที่จะลดลงเพราะอุปทานในตลาดมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีซึ่งมีผลต่อการแข่งขันแน่นอนในอนาคต