เอสซีจี เซรามิกส์ฯเชื่อหลังนำเข้าวัคซีน ส่งผลสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค-เศรษฐกิจฟื้นตัว พร้อมปรับตัวรับมือตลาดเซรามิกแข่งขันดุเดือด ส่งสินค้าใหม่ควบบริการครบวงจรรับเทรนด์ที่อยู่อาศัย เร่งเดินหน้ารุกตลาดพลังงานทดแทนเจาะกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ส่วนเป้ารายได้ปี64 รอพ้นไตรมาส1/64 จึงประเมินได้

นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์ “คอตโต้” (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA) เปิดเผยว่าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ในต้นปี 2564 นี้ อาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรก ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ก็คาดหวังว่าหากมีการนำวัคซีนเข้ามาในไตรมาส2-3/2564 นี้ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค และภาวะเศรษฐกิจให้กลับมาดีขึ้น ซึ่งหากเป็นไปตามคาดการณ์มองว่าสภาวะตลาดโดยรวมก็น่าจะอยู่ในระดับที่ทรงตัว หรือคิดเป็นมูลค่าที่ 30,000 ล้านบาท และส่งผลดีต่อ COTTO โดยบริษัทฯยังคงมุ่งเน้นการปรับปรุงกระบวนการภายในองค์กร เช่น การควบคุมประสิทธิภาพการผลิต และค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
ทั้งนี้เดิมมีการคาดการณ์ว่าหากไม่มีโควิด-19 ระลอกใหม่ อาจจะเห็นการเติบโตในภาพรวม แต่พอมีโควิด-19 ระลอกใหม่เข้ามา ทำให้ยังไม่สามารถประเมินทิศทางรายได้ปีนี้ได้ คงต้องรอให้ผ่านพ้นไตรมาส 1/64 ไปก่อน น่าจะเห็นความชัดเจนขึ้น แต่คิดว่าดีที่สุดในปีนี้น่าจะทรงตัวจากปีก่อน หากเศรษฐกิจยังไม่ขยายตัว ส่วนการแข่งขันก็ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามบริษัทได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้
“ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ มีผลโดยตรงต่อความมั่นใจของลูกค้าในช่วงต้นปีซึ่งเป็นเวลาที่ปกติมีความต้องการสูงสุดของทุกปี ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ที่แน่ชัดได้ แต่คาดว่าจะส่งผลกระทบทำให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังคงชะลอตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง และการแข่งขันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นจากความต้องการและกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง ในสถานการณ์นี้ บริษัทได้มีการปรับตัวและเตรียมแผนงานเพื่อรับมือ โดยมุ่งเน้นที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ให้ได้และควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น รวมถึงเร่งการดำเนินการในแผนงานต่าง ๆ อย่างเต็มกำลัง เพื่อรองรับการฟื้นตัวในอนาคต ระหว่างนี้ ได้นำจุดเรียนรู้จากการล็อกดาวน์ครั้งก่อนมาเร่งดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ตลอดจนวางแผนและประมาณการทางด้านความต้องการซื้อของลูกค้าและการผลิตสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม” นายนำพล กล่าว
สำหรับสถานการณ์ตลาดเซรามิกในประเทศ ช่วงไตรมาสที่ผ่านมาความต้องการใช้กระเบื้องเซรามิกชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและมีปัจจัยลบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ตลอดจนอุทกภัยในหลายพื้นที่และการสิ้นสุดของมาตรการพักชำระหนี้ แม้ว่าภาครัฐมีการคลายการล็อกดาวน์ตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ผ่านมา รวมทั้งออกมาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน ที่อาจจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อในประเทศมากขึ้น แต่ยังไม่มีนโยบายหรือมาตรการที่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างโดยตรง
งบการเงินรวมก่อนสอบทานของ COTTO ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 2,419 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 8 จากไตรมาสก่อน โดยมีผลกำไร 83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 219 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 51 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดประเทศกัมพูชา เมียนมาและลาว รวมถึงปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่มีผลทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งออก นอกจากนี้การชะลอโครงการก่อสร้างและโปรเจกต์ขนาดใหญ่ทั้งของภาครัฐและเอกชน และการที่ช่องทางการจัดจำหน่ายโมเดิร์นเทรดในบางพื้นที่ต้องหยุดการดำเนินงานชั่วคราว ยังส่งผลกระทบต่อยอดขายและรายได้บางส่วนด้วย
ในส่วนกลยุทธ์การดำเนินงานที่สำคัญ ในช่วงต้นปีนี้ บริษัทจะยังคงมุ่งเน้นเรื่องช่องทางที่หลากหลายทั้งในแบบออฟไลน์และออนไลน์ควบคู่กันไปเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทุกระดับ โดยปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาช่องทางจัดจำหน่ายให้มีความหลากหลายมากขึ้นทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าของบริษัทได้จากหลากหลายช่องทาง และมุ่งเน้นสินค้านวัตกรรม (High Value Added) ทั้งในด้านฟังก์ชันการใช้งานควบคู่ไปกับความสวยงามอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสอดรับกับเทรนด์ที่กำลังมาแรง โดยเฉพาะเทรนด์เรื่องการให้ความสำคัญกับสุขภาพและสุขอนามัยที่ดี (Well-Being) ความตื่นตัวเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยตลอดจนการเตรียมพื้นที่สำหรับสมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้สูงอายุ รวมถึงเทรนด์เรื่องการปรับปรุงที่อยู่อาศัย (Renovation)
ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้ออกสินค้าภายใต้แบรนด์ COTTO หลายซีรีย์ที่อยู่ในกลุ่มกระเบื้อง Hygienic Tile (ไฮจีนิก ไทล์) ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์เรื่องสุขภาพและความสะอาดมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบันนี้นอกจากความโดดเด่นในเรื่องฟังก์ชันการใช้งานที่เน้นคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของ “เชื้อแบคทีเรีย” แล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีการเพิ่มเติมและพัฒนาเรื่องความสวยงามมากขึ้น โดยล่าสุดได้มีการพัฒนากระเบื้องลวดลายไม้ในแต่ละแผ่นกระเบื้องเป็นแบบ Random Design ที่ไม่ซ้ำและมีความแตกต่างกันในแต่ละแผ่นเสมือนลวดลายไม้ธรรมชาติจริง ๆ โดยยังคงคุณสมบัติในเรื่องความเป็น ไฮจีนิก ไทล์ ด้วย นอกจากนี้เรายังคงผลักดันสินค้าใหม่ คือ แผ่นปูพื้น LT แบบ Smart Flexible by COTTO ซึ่งเป็นวัสดุปูพื้นที่มีดีไซน์สวยงาม ติดตั้งง่าย รวดเร็ว และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งที่จะเป็น Product expert ซึ่งมีความครบครันตั้งแต่สินค้าจนถึงบริการ มีสินค้าที่ตอบโจทย์ทุกพื้นที่รวมทั้งมีอุปกรณ์เสริมครบทุกรายการเพื่อให้จบงานได้ จนถึงมีทีมบริการติดตั้งที่ได้มาตรฐาน ลูกค้าสามารถซื้อได้ครบจบในที่เดียว
นายนำพล กล่าวว่า บริษัทฯ ยังได้ขยายธุรกิจเข้าไปในด้านพลังงาน ภายใต้ แบรนด์ “SUSUNN” ธุรกิจให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดจำหน่าย ติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนซึ่งเป็นพลังงานสะอาดหลากหลายประเภทโดยเฉพาะระบบโซลาร์เซลล์ (EPC) เนื่องจากมองเห็นโอกาสการเติบโตค่อนข้างมาก ซึ่งปีนี้จะทำการเปิดตัวและนำสินค้าออกสู่ตลาด โดยกลุ่มลูกค้าจะมุ่งเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า, โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และ Carport ในปีแรกได้ราว 30-50 เมกะวัตต์ และคาดหวังยอดขายที่ 5% ของยอดขายรวม ซึ่งเบื้องต้นมีลูกค้าในมือแล้ว
“วิสัยทัศน์ของ แบรนด์ SUSUNN คือ มุ่งหวังที่จะเป็นผู้ให้บริการ (Solution Provider) ด้านวิศวกรรม พลังงาน และนิคมอุตสาหกรรมในระดับอาเซียนด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพและประสบการณ์ของทีมงานสามารถทำให้เป็นไปได้อย่างแน่นอน ตั้งแต่เริ่มดำเนินการมาในระยะ 2-3 ปีจนถึงขณะนี้ สินค้าและบริการของเราได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และมีลูกค้ารายใหม่เพิ่มเติมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ตลาดของโซลาร์เซลล์ที่ยังคงเติบโตได้ดีในปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มที่ดีมากในอนาคต” นายนำพล กล่าว
ปัจจุบันมีสินค้าและบริการด้านการบริหารจัดการพลังงานและพลังงานทดแทน ภายใต้แบรนด์ SUSUNN ได้แก่
-RENEWABLE ENERGY ให้บริการแนะนำ ออกแบบ และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ครบวงจร ทั้งแบบ บนหลังคา (Solar Rooftop) แบบติดตั้งบนพื้นที่ว่างเปล่า (Solar Farm) และ ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ (Solar Floating) เป็นการใช้พื้นที่แหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์
-SOLAR CARPORT SOLUTIONS บริการออกแบบและติดตั้งระบบหลังคาโซลาร์เซลล์ สำหรับลานจอดรถ สะดวกรวดเร็ว ประหยัด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน สามารถถอดประกอบ ย้ายพื้นที่ติดตั้งได้ง่าย เพื่อบริหารพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
-ENERGY MANAGEMENT บริการด้านการจัดการพลังงานตรวจรับรองการจัดการพลังงาน ตรวจวัดวิเคราะห์การใช้พลังงานและโครงการอนุรักษ์พลังงานให้กับสถานประกอบการของลูกค้าด้วยมาตรฐานระดับสากล และพัฒนาระบบพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานภาคอุตสาหกรรม
-SOLAR MONITORING SYSTEM ระบบตรวจวัดและควบคุมการใช้พลังงานผ่านแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นเพื่อติดตามและสรุปข้อมูลการใช้พลังงานจากระบบโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อปรับปรุงการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับผลประกอบการปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 9,951 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 10 โดยมีกำไรสุทธิรวม 420 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 252 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญจากต้นทุนการผลิตที่ลดลงตามราคาก๊าซธรรมชาติ ความสามารถในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหารการขายและการตลาดได้ตามเป้าหมาย ส่วนเป้ารายได้ปี 2564 ยังไม่สามารถประเมินได้ คงต้องรอให้ผ่านไตรมาส1/2564 ไปก่อน