การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้ตลาดท่องเที่ยวไทย รวมถึงธุรกิจโรงแรมและที่พัก ยังไม่ผ่านพ้นจุดต่ำสุด เนื่องจากตลาดนักท่องเที่ยวจากต่างชาติยังไม่กลับมา ขณะที่ตลาดไทยเที่ยวไทย ซึ่งถูกวางตัวให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวปี 2564 ให้กลับมาฟื้นตัว แต่ต้องกลับมาชะลอตัวลงอีกครั้งจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าสถานการณ์ตลาดไทยเที่ยวไทยปีนี้เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศสามารถควบคุมได้ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า และในช่วงที่เหลือของปีนี้ไม่มีการระบาดซ้ำ หรือไม่พบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน และไม่กระทบการเดินทางท่องเที่ยว ขณะเดียวกันการใช้วัคซีนก็เป็นไปตามแผนที่วางไว้ คาดว่า การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยจะมีจำนวน 120 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 39% จากปี 2563 แต่ก็ยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 172.7 ล้านคน-ครั้ง การท่องเที่ยวในประเทศน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายไตรมาส 1และฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่มีมูลค่าประมาณ 6.6 แสนล้านบาท
กรณีที่ 2 หากสามารถควบคุมไวรัสโควิด-19ได้ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ และการใช้วัคซีนเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แม้การระบาดทั่วโลกยังไม่คลี่คลาย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยจะมีจำนวน 90 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 4.3% จากปี 2563 และมีการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวประมาณ 5 แสนล้านบาท
ประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติมากสุด 4.5 ล้านคน
จากข้อมูลของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ในช่วง3ปีปี2560-2562 ที่ผ่านมา ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในเมืองไทยเกือบปีละ 40 ล้านคน โดยเฉพาะในปี 2562 มีจำนวนมากถึง 39.9 ล้านคน ส่วนปี 2561 มีจำนวน 38.1 ล้านคน และปี 2560 มีจำนวน 35.5 ล้านคน ขณะที่รายได้จากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวก็สูงถึงปีละเกือบ 2พันล้านนบาท โดยเฉพาะปี 2562 มีรายได้สูงถึง 1.911 พันล้านบาท
ส่วนการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ ศูนย์วัยกสิกรไทยได้ประเมินว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย ยังไม่ผ่านจุดต่ำสุด ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเริ่มฟื้นตัวแต่ยังอยู่ระดับต่ำ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งได้ประเมินไว้ 2 กรณีเช่นเดียวกัน คือ
กรณีที่ 1 หากโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศสามารถควบคุมได้เร็ว และไม่มีการระบาดที่รุนแรง รวมถึงการใช้วัคซีนมีประสิทธิภาพดี ทำให้มีความยืดหยุ่นในการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้า-ออกได้
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยปีนี้ประมาณ 4.5ล้านคน และทำให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 3.4 แสนล้านบาท
กรณีที่ 2 หากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศกินเวลานาน ขณี่การระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศยังรุนแรง การดำเนินนโยบายผ่อนปรนนักท่องเที่ยวต่างประเทศคงทำได้เฉพาะกลุ่มและบางประเทศ ทำให้ประเมินว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในเมมืองไทยประมาณ 2ล้านคน และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ประมาณ 2.2แสนล้านบาท
ตลาดโรงแรม–ห้องพักเสี่ยงปิดกิจการสูง
ส่วนภาพของธุรกิจโรงแรมและที่พักในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าอยู่ในภาวะโอเวอร์ซัพพลายอยู่แล้ว เพราะมีจำนวนห้องพักมากถึง 1.12 ล้านห้องจากจำนวนโรแรมและห้องพักที่จดทะเบียนทั่วประเทศ 3.04 หมื่นแห่ง และส่วนใหญ่เจาะกลุ่ม Budget และ Midscale ขณะที่รายได้เฉลี่ยค่าเช่าห้องพักทั่วประเทศจะอยู่ที่คืนละ 1,720 บาท
โดยกลุ่มโรงแรมและห้องพักที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพักค้างคืนมากสุดจะกระจายอยู่ใน 20 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และกรุงเทพฯ อาทิ ภูเก็ต พังงา กระบี่ เชียงใหม่ สมุทรปปราการ ตราด และสุโขทัย เป็นต้น ซึ่งมีจำนวนโรงแรมและที่พักรวมกันมากถึง 1.84 หมื่นแห่ง คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ของจำนวนห้องพักรวมกันทั้งประเทศ จังหวัดที่มีจำนวนห้องพักมากมากที่สุด และมีจำนวนห้องพักรวมกันมากถึง 8.3 แสนห้อง เช่น กรุงเทพฯจำนวน 2.9 แสนห้อง ภูเก็น 1.2 แสนห้อง และชลบุรีจำนวน 9.85 หมื่นห้อง
ปัจจุบันมีโรงแรมและที่พักเปิดให้บริการอยู่แค่ 50-55% เท่านั้น ขณะที่กลุ่มโรงแรมและที่พักที่หยุดให้บริการจะเป็นกลุ่มที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่ม Budget และ Midscale
ทั้งนี้คาดว่าปีนี้จะมีจำนวนโรงแรมและห้องพักใน20 จังหวัดปิดกิจการเฉลี่ย 20% โดยในจำนวนโรงแรมและที่พักทั้งหมด 1.84 หมื่นแห่ง อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดประมาณ 3,700 แห่ง โดยเฉพาะในกลุ่มโรงแรมที่จับกลุ่มลูกค้า Budget และ Midscale ซึ่งมีกำไรขั้นต้นต่ำและมีรายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่ม Backpack Mass และกลุ่ม Group Tour
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การขยายระยะเวลาโครงการเราเที่ยวด้วยกัน หรือเพิ่มมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมจนถึงสิ้นปี 2564นี้ จะช่วยประคองธุรกิจในห่วงโซ่การท่องเที่ยว และเพื่อให้มาตรการการท่องเที่ยวที่ออกมาเกิดประโยชน์สูงสุด