ดีเดย์16ก.พ.นี้ บีทีเอสเก็บค่าโดยสารใหม่สูงสุด 104บาท

You are currently viewing ดีเดย์16ก.พ.นี้ บีทีเอสเก็บค่าโดยสารใหม่สูงสุด 104บาท

นับเวลาถอยหลังอีกแค่ 10 กว่าวัน วันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ รถไฟฟ้าบีทีเอสจะปรับราคาค่าโดยสารใหม่ หลังจากเมื่อช่วงปลายปี 2561 ได้ทยอยเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ จากสถานีแบริ่ง-เคหะฯ ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร และเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563ที่ผ่านมา ได้เปิดให้บริการเดินรถเต็มระบบของส่วนต่อขยาย จากสถานีหมอชิต-สะพานใหม่ ไปสิ้นสุดที่สถานีคูคต ระยะทาง 17.8 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี

ซึ่งเดิมรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายทั้ง 2เส้นทางนี้ ทาง รฟม.ของกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง แต่ครม.ได้มีมติโอนให้ กรุงเทพมหานคร(กทม.)เป็นผู้ดำเนินการเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 หลังจากได้ทยอยเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าตามสถานีต่างๆ ของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ จากสถานีแบริ่ง-เคหะฯ โดยที่กทม.ได้เปิดให้ประชาชนนั่ง”ฟรี”ไม่เก็บค่าโดยสารมาจนถึงวันนี้กว่า 2ปีแล้ว แต่ขณะที่ กทม.ต้องจ่ายเงินค่าจ้างเดินรถให้ทางกับทางกลุ่มบีทีเอสทุกปี

ล่าสุดบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ก็ได้ส่งหนังสือทวงถามไปยังบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ในสังกัดกทม. ถึงปัญหาเรื่องการชำระเงินในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงของรถไฟฟ้าบีทีเอสที่วิ่งให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 คือ ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งมีจำนวนหนี้รวมกันสูงถึง  8,899,338,642.45 บาท

กทม.โอดแบกรับภาระหนี้เยอะ ขอขึ้นค่าโดยสารBTS

ขณะที่ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 15มกราคมที่ผ่านมา พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.ได้ออกประกาศกรุงเทพมหานครว่า กทม.จะเริ่มจัดเก็บอัตราค่าโดยสารใหม่ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายจำนวน 59 สถานีเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป โดยอัตราค่าโดยสารสูงสุดจะอยู่ที่ 158 บาท แต่เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้โดยสารภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดรอบใหม่ กทม.จึงได้ปรับลดราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายเหลือ 104 บาท

นอกจากนี้ กทม.ยังอยู่ระหว่างแนวทางการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยให้เอกชนเข้ามารับภาระหนี้สินของกทม.แทน ซึ่งปัจจุบันมีภาระหนี้สินกว่า 120,000 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างนำเสนอแนวทางแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะช่วยลดค่าโดยสารจาก 104 บาทให้เหลือ 65 บาทตลอดสาย เพื่อแบ่งเบาภาระรายจ่ายของผู้โดยสาร

นายประภาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหนคร กล่าวว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้เปิดให้บริการเดินรถเต็มระบบแล้ว และยังไม่ได้เรียกเก็บค่าโดยสารในส่วนของสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

ขณะที่ กทม.มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จึงจำเป็นต้องเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยายสายสีเขียวตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป ในอัตราสูงสุด 104 บาท ซึ่งเป็นการปรับราคาลดลงจากอัตราเดิมที่ต้องเรียกเก็บตลอดสายรวมเป็นเงิน 158 บาท  ส่งผลให้กทม.ขาดทุนจากการดำเนินงานส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวประมาณปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท และหากนับรวมตั้งแต่ปี 2564-2572 กทม.จะมีผลขาดทุนรวมประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท

คิดค่าแรกเข้าต่อรอบครั้งเดียว 15และ16บาท

สำหรับราคาค่าโดยสาร BTS ใหม่สูงสุดตลอดสาย 104 บาท หากผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายหลัก คือ สายสุขุมวิท ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสายสีลม ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-วงเวียนใหญ่ ยังคงจ่ายค่าโดยสารในราคาเดิม คือ 16-44 บาท และจะเก็บค่าโดยสารเพียงครั้งเดียวต่อรอบจากเส้นทางต้นทางที่เริ่มเดินทาง โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนระหว่างสายสีเขียวส่วนหลักกับสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า,อ่อนนุช-แบริ่ง ,แบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งปัจจุบันเรียกเก็บค่าแรกเข้าเพิ่ม 15บาท และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ยังเปิดให้บริการฟรี

ค่าโดยสารใหม่ 104บาทคิดยังไง

ส่วนอัตราค่าโดยสารใหม่ของรถไฟฟ้าBTS สูงสุด 104บาท จะแบ่งการจัดเก็บค่าโดยสารออกเป็น 4ส่วน คือ

  1. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงเส้นทางสัมปทานในปัจจุบัน (หมอชิต-อ่อนนุช 17 สถานี และสนามกีฬาแห่งชาติ-วงเวียนใหญ่ จำนวน 8 สถานี คิดค่าโดยสารอัตราเดิม คือ 16-44 บาท
  2. ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต จากสถานีห้าแยกลาดพร้าว ถึงสถานีคูคต จำนวน 16 สถานี คิดค่าโดยสาร 15 – 45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี)
  3. ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท จากสถานีบางจาก ถึงเคหะสมุทรปราการ จำนวน 14 สถานี ค่าโดยสาร 15-45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี)
  4. ส่วนต่อขยายสายสีลมช่วงที่ 2 จากสถานีโพธิ์นิมิตร ถึงสถานีบางหว้า จำนวน 4สถานี ค่าโดยสาร 15-24 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี)

ดังนั้นหากคิดค่าโดยสารตามอัตราใหม่ จากสถานีหมอชิตถึงบางจาก ผู้โดยสารจะจ่ายค่าตั๋ว BTS เพียงแค่ 47 บาทเท่านั้น คือ รถไฟฟ้าสายหลัก สถานีหมอชิต-อ่อนนุช จำนวน  44 บาท และจากสถานีอ่อนนุชไปบางจากอีก 3 บาท  จากปัจจุบันที่ต้องจ่าย 59 บาท

แต่ถ้าหากนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสจากสถานีหมอชิตถึงแบริ่ง ปัจจุบันจะจ่ายค่าโดยสารสูงสุดที่ 59 บาท หากคิดตามอัตราค่าโดยสารใหม่จะจ่ายค่าโดยสารเพิ่มเป็น 61บาท

ค่าโดยสารBTS 59 บาทนั่งจากไหนไปถึงไหน

ปัจจุบันรถไฟฟ้าบีทีเอสเรียกเก็บค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 59 บาท แบ่งเป็นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงเส้นทางสัมปทานในปัจจุบัน คือ สถานีหมอชิต-อ่อนนุช,สถานีหมอชิต-วงเวียนใหญ่,สถานีหมอชิต-สนามกีฬาแห่งชาติ และสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-วงเวียนใหญ่,สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-อ่อนนุช คิดค่าโดยสาร 16-44 บาท และค่าแรกเข้าส่วนต่อขยายอีก 15 บาท

ตัวอย่างเช่น  ผู้โดยสารนั่งรถไฟฟ้าBTS จากสถานีหมอชิตถึงสถานีบางจาก ปัจจุบันต้องจ่ายเงินค่าโดยสารสูงสุด 59 บาท แบ่งเป็นค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก44บาท (หมอชิต-อ่อนนุช) ซึ่งจะเก็บค่าโดยสาร  44 บาทตั้งแต่สถานีสยามไปถึงอ่อนนุช และเสียค่าแรกเข้าช่วงส่วนต่อขยายบางจาก-แบริ่งอีก 15บาท

หรือนั่งจากสถานีสนามกีฬาฯไปถึงสถานีบางหว้า  ราคา 59 บาท แบ่งเป็นค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก คือ สถานีสนามกีฬาฯ-วงเวียนใหญ่ จำนวน  44 บาท และค่าแรกเข้าช่วงส่วนต่อขยาย โพธิ์นิมิตร-บางหว้าอีก 15บาท

เทียบราคารถไฟฟ้าBTS- MRTใครถูกกว่ากัน?

การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกหลักที่คนเมืองกรุงเทพฯเลือกใช้บริการ โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาววัยทำงาน เพราะช่วยประหยัดเวลาการเดินทางในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนที่เกิดปัญหารถติดหนักและสามารถกำหนดระยะเวลาเดินทางที่แม่นยำได้ แต่ต้องแลกด้วยค่าใช้จ่ายรายวันที่เพิ่มสูงขึ้น

แต่ปัจจุบันการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า มีทางเลือกมากขึ้นเพราะไม่ได้มีเฉพาะแค่รถไฟลอยฟ้า BTS สายสีเขียว เส้นทางสุขุมวิทและสีลมเท่านั้น ยังมีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกด้วย ขณะที่อัตราค่าโดยสารของทั้ง2สายก็ต่างกันพอสมควร

เช่น หากเดินทางจากบางหว้ามาทำงานย่านสีลม ถ้านั่งรถไฟฟ้าบีทีเอส จากสถานีบางหว้ามาลงที่สถานีศาลาแดง จำนวน 9 สถานี จะต้องจ่ายค่าโดยสาร 52 บาท แบ่งเป็นค่าโดยสารจากสถานีบางหว้าถึงวงเวียนใหญ่ 15บาท ค่าแรกเข้าสถานีกรุงธนบุรีของรถไฟฟ้าสายสีทองอีก 16 บาท และค่าโดยสารสถานีเซ็นหลุยส์อีก 4บาท ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้เปิดให้บริการ

แต่ถ้าหากนั่งรถไฟฟ้า MRT จากสถานีบางหว้า ไปถึงสถานีสีลม จำนวน 9 สถานี จะเสียค่าโดยสารแค่ 35 บาทเท่านั้น ต่างกันถึง 17บาท

หากที่ทำงานอยู่ย่านอโศก ถ้านั่งบีทีเอสจากสถานีบางหว้ามาลงที่สถานีอโศก จะต้องจ่ายค่าเดินทาง 59 บาท แต่ถ้านั่งรถไฟฟ้า MRT จากสถานีบางหว้ามาที่สถานีสุขุมวิท จะเสียค่าตั๋วโยสารแค่ 42 บาทเท่านั้น ราคาต่างกัน 17บาทเช่นเดียวกัน