“ระบบตั๋วร่วม” ทางออกของค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง

You are currently viewing “ระบบตั๋วร่วม” ทางออกของค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง

ปัญหาค่าตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าหลากสีที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน กลายเป็นภาระที่ผู้โดยสารต้องแบกรับในราคาที่ค่อนข้างสูงสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ตกต่ำและค่าครองชีพสูง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีขียวที่เปิดให้บริการเต็มระบบ   และเตรียมจะประกาศใช้ราคาค่าโดยสารใหม่สุงสุด 104 บาทในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ แต่ถูกกระแสวิจารณ์เป็นวงกว้าง จนทำให้รัฐบาลต้องสั่งเบรกไปเสียก่อน

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมและโฆษก กระทรวงคมนาคม    เปิดเผยว่า จากกรณีสภาองค์กรของผู้บริโภคได้แถลงข่าวถึงปัญหาราคาค่าโดยสารรถรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายว่ามีราคาสูงเกินไป และเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาบริหารจัดการค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งระบบ พร้อมข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม คือ การเร่งรัดการใช้ระบบตั๋วร่วมของบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท และการกำหนดค่าโดยสารสูงสุดต่อวันของขนส่งมวลชนทั้งระบบ

ระบบตั๋วร่วมลดค่ารถไฟฟ้าถูกลง30%
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมขอชี้แจงว่า แนวทางที่สามารถคุมราคาค่าโดยสารได้ คือ การนำระบบตั๋วร่วมมาใช้กับการบริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท เนื่องจากการนำระบบตั๋วร่วมจะไม่คิดค่าแรกเข้าในการเชื่อมต่อระหว่างระบบ ทำให้ค่าโดยสารระบบรางถูกลงกว่า 30% ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการเร่งรัดการดำเนินงานระบบตั๋วร่วม

โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็นระยะสั้น ได้แก่ การเร่งพัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อทำให้บัตรโดยสารที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ  บัตรแมงมุม บัตร MRT Plus บัตร MRT และบัตร Rabbit สามารถใช้เดินทางข้ามระบบ (Interoperable Ticketing System) กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีเขียว  และส่วนต่อขยายได้

ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรุงเทพมหานคร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จะร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจะพัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติให้สามารถใช้บัตรแมงมุม บัตร MRT Plus บัตร MRT และบัตร Rabbit เดินทางข้ามระบบกันได้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และสายสีเขียว ในวันที่ 27 มีนาคมนี้

ปัจจุบันมีจำนวนผู้ถือบัตรโดยสารรถไฟฟ้า บัตรแมงมุมจำนวน 2 แสนใบ บัตร MRT Plus และบัตร MRT    รวมจำนวน 2 ล้านใบ และบัตร Rabbit จำนวน 14.2 ล้านใบ

ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้ระบบตั๋วร่วมได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยระยะแรกจะใช้ได้กับระบบรถไฟฟ้าที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันภายใต้การกำกับของ รฟม. รฟท. และบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัดก่อน  คือ รถไฟฟ้า MRT รถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์  และในอนาคตจะขยายการให้บริการเพื่อให้ครอบคลุมทุกระบบขนส่ง ทั้งรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง ระบบทางพิเศษ และเรือโดยสาร

ส่วนแผนการดำเนินงานระยะยาว จะเร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วมในรูปแบบ Account Based Ticketing (ABT) ซึ่งเป็นการใช้บัตรผ่านระบบบัญชี โดยจะขยายการให้บริการให้ครอบคลุมทุกระบบขนส่งทั้งรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง ระบบทางพิเศษ และเรือโดยสาร

ส่วนความคืบหน้าล่าสุด รฟม. และธนาคารกรุงไทย อยู่ระหว่างพัฒนาระบบตั๋วร่วม ด้วยการนำบัตรเครดิตชนิด EMV (Europay Mastercard and Visa)  มาใช้เป็นตั๋วร่วมสำหรับระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นเพราะสามารถเดินทางก่อน แล้วชำระเงินภายหลังพร้อมรอบการชำระบัตรเครดิต

เบื้องต้นจะเริ่มทดลองนำมาใช้กับทางด่วนหรือทางพิเศษในบางเส้นทาง เช่น ทางด่วนกาญจนาภิเษก    ทางด่วนอุดรรัถยา ทางด่วนศรีรัชวงแหวนรอบนอก เป็นต้น และจะขยายให้ครอบคลุมทางด่วนหรือทางพิเศษอื่น ๆ ภายในเดือนกรกฎาคม 2564

ส่วนระบบรถไฟฟ้า จะนำร่องใช้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสายสีม่วงก่อน คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือนมกราคม 2565

ปัจจุบันได้มีการใช้งานกับรถโดยสารประจำทางของ ขสมก.แล้ว และมีแผนจะขยายให้ครอบคลุมรถโดยสารของเอกชนร่วมบริการด้วย รวมทั้งได้นำร่องใช้กับเรือไฟฟ้าโดยสาร (MINE Smart Ferry) แล้ว

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม จำนวน 2 คณะ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาความชัดเจนในการกำหนดนโยบาย มาตรการ หลักเกณฑ์ กลไกและแนวทางการดำเนินงานระบบตั๋วร่วม รวมถึงโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมและค่าธรรมเนียมในการดำเนินงานระบบตั๋วร่วม ประกอบด้วย

คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมองค์กร ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานเทคโนโลยีการออกตั๋วร่วม เทคโนโลยีระบบงาน โครงสร้างข้อมูล ความปลอดภัยทางเทคโนโลยี และมาตรฐานการดำเนินงานของระบบงาน

คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและจัดสรรรายได้ ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานการจัดเก็บค่าธรรมเนียม การจัดสรรรายได้ อัตราค่าโดยสารในกรณีใช้อัตราค่าโดยสารร่วม และกรอบมาตรฐานค่าธรรมเนียมการชำระเงินและการเจรจาต่อรองกับผู้ให้บริการ

TDRI ชี้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงจากสัญญาสัมปทาน

ดร.สุเมธ อิงกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยในงานเสวนาออนไลน์ “ค่าโดยสารรถไฟฟ้าหลากสี กับราคาที่ประชาชนต้องแบกรับ” ว่า ในอนาคตระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าจะเปิดให้บริการเพิ่มมากขึ้น เพราะยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

ส่วนปัจจุบันรถไฟฟ้าที่เปิดใหบริการแล้วและมีผู้โดยสารใช้บริการมากที่สุด คือ สายสีเขียว และส่วนต่อขขยาย  สายสีน้ำเงิน และส่วนต่อขยาย และสายสีม่วง ตอนเหนือ  ส่วนช่วงปลายปีนี้หรือประมาณต้นปีหน้า ก็จะมีรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองทยอยเปิดให้บริการเพิ่ม ซึ่งทั้งสองสายนี้ถือเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าคู่สายสำคัญในการให้บริการกับประชาชนฝั่งตอนเหนือและฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหารถติด เช่น แจ้งวัฒนะ ลาดพร้าว ศรีนครินทร์ และรามอินทรา

ดังนั้นปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นกับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายต่างๆในอนาคต คือ อัตราค่าโดยสาร ซึ่งปัจจุบันแต่ละสายจะคิดราคาค่าโดยสารแยกกัน เพราะรูปแบบของสัญญาสัมปทานของแต่ละสายแยกจากกัน และมีเงื่อนไขสัญญาสัมปทานที่ต่างกัน ส่งผลให้มีการคิดค่าเข้าระบบซ้ำซ้อน

ขณะที่ราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้าที่มีเส้นทางวิ่งให้บริการยาวๆ อัตราค่าโดยสารเฉลี่ยต่อกิโลเมตรจะถูกเมื่เทียบกับรถไฟฟ้าสายสั้นๆ เช่น รถไฟฟ้าสายสีทอง ที่เพิ่งเปิดให้บริการไปเมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมผ่านมา จำนวน 3สถานี และมีระยะทางไม่ถึง 2กิโลเมตร คิดอัตราค่าโดยสารตลอดสาย 15บาท  แต่ถ้าคิดค่าเฉลี่ยต่อกิโลเมตรก็เกือบ 8บาท ขณะที่รถไฟฟ้าสายอื่นที่มีระยะทางเฉลี่ย 25-35 กิโลเมตร ราคาค่าโดยสารเฉลี่ยต่อกิโลเมตรจะไม่เกิน 2บาท

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้โดยสารคือ ไม่ได้เดินทางเฉพาะเส้นทางสายเดียวจากต้นทางไปถึงปลายทาง อาจจะต้องไปแปลี่นนขบวนกับรถไฟฟ้าสายอื่น ทำให้ต้องเสียค่าใช่จ่ายเพิ่มขึ้นในการเดินทางข้ามสาย ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลยกเว้นค่าแรกเข้าของรถไฟฟ้าทุกโครงการ  หากรัฐบาลแก้ไขสัญญาณสัมปทาน ก็จะต้องชดเชยให้กับผู้ประกอบการเอกชนตามเท่าที่แก้ไข  หรือหากไม่แก้ไขสัญญาสัมปทานก็ต้องชดเชยค่าแรกเข้าให้กับเอกชน

ส่วนการแก้ไขปัญหาในอนาคต ต้องแยกค่าโดยสารออกจากสัญญาสัมปทานทุกสัญญา และใช้ค่าโดยสารร่วม (Common Fare Table) แทน