ศึกชิง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ยังวุ่นไม่จบ

You are currently viewing ศึกชิง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ยังวุ่นไม่จบ

การประมูลส่วนของงานก่อสร้างฝั่งตะวันตกและงานเดินรถทั้งเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทางรวม 35.9 กิโลเมตร 28 สถานี มูลค่าโครงการตลอดทั้งเส้นทาง (ตะวันตกและตะวันออก)กว่า 2.3 แสนล้านบาท ยังวุ่นไม่จบ  หลังจากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ หรือเกณฑ์ประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวิทวงศ์)

ทำให้บีทีเอสกรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมประมูล 1ใน 2 ราย ในนาม BSR ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันระหว่าง BTS และ STEC ได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อรฟม.หรือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563  และวันที่ 17 กันยายน ได้ยื่นฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกต่อศาลปกครองกลาง หลังจาก รฟม. ได้ประกาศยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามที่ได้ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563ที่ผ่านมา

ศาลปกครองสั่งจำหน่ายคดีสายสีส้ม
ล่าสุด นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้จัดโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงถึงความคืบหน้าในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า ก่อนหน้านี้รฟม. ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาแล้วและมีคำสั่งอนุญาตให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม. ถอนอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม. ได้ยื่นคำร้องชี้แจงข้อเท็จจริงและขอให้จำหน่ายคดีต่อศาลปกครองกลาง และเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม

โดยให้เหตุผลว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีตามคำขอที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งพิพาทหมดสิ้นไป ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อออกคำบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ต่อไปอีก และศาลยังได้มีคำสั่งให้ คำสั่งศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สิ้นผลบังคับลงไปด้วย

ดังนั้น รฟม. จึงได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนขึ้นใหม่อีกครั้ง ตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ส่วนที่ 2 (การคัดเลือกเอกชน)

โดยในส่วนของหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนนั้น รฟม. เห็นว่า จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่เส้นทางโครงการฯ ที่เอกชนผู้ร่วมลงทุนต้องดำเนินการด้วยเทคนิคก่อสร้างที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด จึงกำหนดวิธีประเมินคะแนนด้านเทคนิคและคุณภาพควบคู่คะแนนด้านผลตอบแทนและการลงทุน (Price-Performance)

บีทีเอสร้องนายกฯประยุทธ์ ระงับการประมูลสายสีส้ม
และเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  ก็ได้ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประธานคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อขอให้ตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เนื่องจาก รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน พ.ศ. 2562 ได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยการออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1

นายสุรพงษ์  เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายนปีที่ผ่านมา บริษัทได้ยื่นฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นคดีปกครอง เพื่อให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเพิกถอนการกระทำทางปกครอง และขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติที่เห็นชอบเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการประเมินข้อเสนอ

โดยศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขวิธีการประเมินข้อเสนอน่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของ (รฟม.) ที่แก้ไขเพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่ม เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

หลังจากนั้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ทางรฟม. มีหนังสือถึงบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยแจ้งว่า “คดีปกครองดังกล่าวอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา และยังคงกำหนดการยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนตามที่กำหนดไว้ในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 คือ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563  และมีกำหนดการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 1 ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563ตามเดิม”

ทำให้บริษัท ซึ่งได้ร่วมมือร่วมกับบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนในโครงการฯ ในกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Join Venture) ตามวันดังกล่าว

และเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีหมายแจ้งว่า รฟม. ได้ขอถอนอุทธรณ์คำสั่งทุเลาฯ และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ เท่ากับว่าคำสั่งทุเลาฯ ที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยไว้ รฟม. ไม่ขอโต้แย้ง โดยขณะนั้นคดีอยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองกลาง

ทั้งนี้บริษัทเห็นว่า การดำเนินการของ รฟม. น่าจะไม่ถูกต้องทั้งข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากประเด็นข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่าง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ กับบริษัทยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ซึ่งทุกฝ่ายที่เป็นคู่ความที่เกี่ยวข้องจะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่เป็นที่สุดเสียก่อนเพื่อนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป

ดังนั้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทได้ยื่นฟ้องผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นคดีอาญาต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

และเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ระหว่างรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองกลางและการดำเนินกระบวนการทางอาญาของศาลอาญาคคีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางตามที่บริษัทยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนด้วยการประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนใหม่ ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ของ รฟม.

โดยมีใจความสำคัญว่า การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 รฟม. จะประเมินข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 เป็นคะแนน โดยมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค 30  คะแนน และคะแนนข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนน และนำคะแนนซองที่ 2 และซองที่ 3 ของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายมารวมกัน และผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุดจะเป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด

ด้านพ.ต.อ.สุชาติ  ที่ปรึกษา ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเริ่มมีความผิดปกติของการดำเนินการในขั้นตอนที่อยู่ระหว่างการรอยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนในโครงการนี้ ปรากฎว่ามีบริษัทเอกชนที่ร่วมซื้อซองมีหนังสือไปถึง ผู้ว่าฯรฟม. และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ชนะการประมูล โดยอ้างเหตุผลถึงหลักเกณฑ์ และความเสี่ยงสูงของการขุดเจาะอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน จะต้องใช้เทคนิคการออกแบบทางวิศวกรรมและวิธีการก่อสร้างขั้นสูงเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อประชาชนในด้านต่างๆ (ข้อความจาก หนังสือ ITD ส่งถึง สคร.) ต่อมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือก ซึ่งล้มล้างสิ่งที่หน่วยงานของรัฐทำมาหลายปี

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทางรวม 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

โดยความคืบหน้าของการก่อสร้างงานโยธาช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564  ในภาพรวมมีความก้าวหน้า 77.77%  และมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2567นี้