ห้างสรรพสินค้าที่กำลังจะหายไป

  • Post author:
You are currently viewing ห้างสรรพสินค้าที่กำลังจะหายไป
คนไทยโดยเฉพาะคนในกรุงเทพมหานครอาจจะรู้จักห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต กันมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ใครจะรู้บ้างไหมว่า โครงการพื้นที่ค้าปลีกแต่ละรูปแบบนั้นมีที่มาที่ไปหรือมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง ลองค่อยๆ มาไล่ดูกันไปแบบยาวๆ นะครับ เริ่มกันที่ “ห้างสรรพสินค้า” ก่อน

ช่วงหลังจากปี พ.ศ. 2520 ไม่มากนัก เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น คนในกรุงเทพมหานครมีรายได้มากขึ้น มีการเปิดรับการเปลี่ยนแปลงจากต่างประเทศมากขึ้น แฟชั่น สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ร้านค้าในอดีตก่อนหน้านี้จะเป็นร้านขายของชำ หรือร้านขายของที่อยู่ในตึกแถว หรือห้องแถวไม้ในตลาดของชุมชน ร้านขายสินค้าต่างประเทศหรือร้านที่รวมสินค้าหลายประเภทไว้ด้วยกันในร้านเดียวนั้นมีไม่มากนัก และอยู่เพียงแค่บางทำเลเท่านั้น ร้านที่รวมสินค้าหลายประเภทมาขายในที่เดียวกันนั้นในช่วงเวลานั้นมีเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์ที่วังบูรพาน่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าหรือ “Department Store” สัญชาติไทยในยุคแรกสุด และยังมีห้างใต้ฟ้า แมวดำแถวเยาวราช และไนติงเกลใกล้ๆ กับวังบูรพา ตั้งฮั่วเส็งที่บางลำพูก็เปิดให้บริการในช่วงเวลานี้เช่นกัน ห้างสรรพสินค้าในยุคนั้นหลายแห่งขายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงอาจจะเป็นที่รู้จักในวงแคบๆ ของสังคมเท่านั้น คนทั่วไปก็ยังคงซื้อสินค้าจากร้านขายของแบบเดิมๆ เช่นเดิมต่อไป

ปี พ.ศ. 2507 น่าจะเป็นปีแรกที่คนไทยในกรุงเทพมหานครรู้จักห้างสรรพสินค้าจากต่างประเทศ เพราะเป็นปีที่ไดมารูจากประเทศญี่ปุ่นเปิดให้บริการที่ราชประสงค์ เป็นห้างสรรพสินค้าที่มีบันไดเลื่อน และมีเครื่องปรับอากาศภายในอาคาร ซึ่งอาจจะพุดได้ว่าไดมารูคือต้นแบบของห้างสรรพสินค้าในยุคหลัง หลังจากที่ไดมารูเปิดให้บริการไม่นาน ห้างสรรพสินค้าในไทยก็เริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคทันสมัย (ในยุคนั้นนะครับ) มีการปรับปรุงเซ็นทรัลสาขาวังบูรพา และการเปิดให้บริการเซ็นทรัล สาขาสีลมในปี พ.ศ. 2511 และสาขาชิดลมในปี พ.ศ. 2517 ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2500 เปิดให้บริการสาขาราชประสงค์ ซึ่งในยุคสมัยนั้นมีห้างสรรพสินค้าของคนไทยอีกรายที่เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2518 คือ ห้างสรรพสินค้า พาต้า สาขาอินทรา ประตูน้ำ ของตระกูลเสริมศิริมงคล และมีห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในปี พ.ศ. 2522 เป็นห้างสรรพสินค้าในยุคแรกๆ ของกรุงเทพมหานคร โดยจะสังเกตได้ว่าห้างสรรพสินค้าจะเปิดให้บริการในย่านการค้าที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้กระจายออกไปในชุมชนหรือพื้นที่ต่างๆ คนที่ต้องการซื้อต้องเดินทางไปยังพื้นที่นั้นๆ ซึ่งนอกจากเยาวราช วังบูรพา สีลม แล้วราชประสงค์ก็เป็นย่านการค้า เป็นแหล่งช้อปปิ้งสำคัญของกรุงเทพมหานครเช่นกัน

หลังจากนั้นไม่นานในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา เป็นอีก 1 ช่วงเวลาของการเปลี่ยนรูปแบบการซื้อสินค้าของคนในกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีห้างสรรพสินค้าเปิดให้บริการหลายแห่งทั้งในย่านวังบูรพา บางลำพู อีกทั้งยังมีห้างสรรพสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาอีก 1 ราย คือ โซโก้จากประเทศญี่ปุ่นที่ราชประสงค์ในปี พ.ศ. 2526 ห้างสรรพสินค้าพาต้า ปิ่นเกล้า เป็นอีก 1 ห้างสรรพสินค้าของคนไทยที่เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2525 จากนั้นกลุ่มเดอะมอลล์ขอแจ้งเกิดในธุรกิจค้าปลีกด้วยเช่นกันกับการเปิดให้บริการเดอะมอลล์ รามคำแหงในปี พ.ศ. 2526 เป็นห้างสรรพสินค้าที่อยู่ไกลจากใจกลางเมืองค่อนข้างมากจากนั้นก็เปิดอีกสาขาใกล้ๆ กันในปี พ.ศ. 2529 ปี พ.ศ. 2526 เป็นปีแรกที่นิวเวิลด์เปิดให้บริการพร้อมลิฟต์แก้วที่บางลำพู จากนั้นปี พ.ศ. 2528 มีห้างสรรพสินค้าจากญี่ปุ่นเปิดให้บริการในประเทศไทยอีก 1 ราย คือ ห้างสรรพสินค้าโตคิวเปิดให้บริการปี พ.ศ. 2528 โดยสาขาที่เปิดให้บริการเป็นสาขาแรกอยู่ที่ถนนรัชดาภิเษกตรงที่เป็นอาคารซีดับเบิลยูในปัจจุบัน (อาคารไซเบอร์เวิลด์เก่า) จากนั้นเปิดสาขาที่ 2 ที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง หรือเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ในปัจจุบัน อีกกลุ่มที่เข้าสู่ธุรกิจห้างสรรพสินค้า คือ เมอร์รี่คิงส์ ที่เปิดสาขาแรกในปี พ.ศ. 2527 ที่วังบูรพา จากนั้นเปิดสาขาที่ 2 และ 3 ในปี พ.ศ. 2528 และ 2529 คือสาขาสะพานควาย และวงเวียนใหญ่ตามลำดับ ปี พ.ศ. 2527 มีห้างสรรพสินค้าอีก 1 แห่งเปิดให้บริการคือ พันธุ์ทิพย์ พลาซ่าก่อนที่เปลี่ยนไปเป็นห้างทีหลังจากนั้นไม่กี่ปี โดยช่วงเวลาก่อนปี พ.ศ. 2530เป็นช่วงเวลาที่ห้างสรรพสินค้าเฟื่องฟูมากในกรุงเทพมหานคร

เมื่อเข้าสู่ช่วงหลังจากปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา มีห้างสรรพสินค้าใหม่เปิดให้บริการใหม่อีกน้อยมาก เมื่อเทียบกับศูนย์การค้า โดยปี พ.ศ. 2531 เมอร์รี่คิงส์เปิดให้บริการสาขาปิ่นเกล้า และปี พ.ศ. 2535 มีพาต้า สาขาหัวหมาก และโรบินสัน สาขาบางรักเปิดให้บริการ ไม่นับรวมส่วนของห้างสรรพสินค้าที่อยู่ในศูนย์การค้านะครับ เพราะมีหลายศูนย์การค้าที่มีส่วนของห้างสรรพสินค้าอยู่ในโครงการ เช่น โรบินสันในศูนย์การค้าเซ็นทรัล หรือส่วนของห้างสรรพสินค้าในเดอะมอลล์ โดยในปี พ.ศ. 2535 มีห้างสรรพสินค้าจากญี่ปุ่นอีกแห่งเปิดให้บริการ คือ ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ที่เข้ามาเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์ ในช่วงเวลานี้ยังมีอิมพีเรียลเวิลด์ สาขาลาดพร้าว และสาขาสำโรง เข้ามาแบ่งกำลังซื้อด้วยเช่นกัน

หลังจากปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นไป เริ่มมีห้างสรรพสินค้าหลายแห่งปิดกิจการไป โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นที่ผู้บุกเบิกทั้ง 2 รายคือ ไดมารู และโซโก้ที่ปิดกิจการไปเลย ห้างสรรพสินค้าไทยเองบางรายก็ปิดสาขาไปบ้าง เช่น พาต้า หรือปิดกิจการไปทั้งหมดเลย เช่น เมอร์รี่คิงส์ บางลำพู อาจจะมีห้างสรรพสินค้าจากญี่ปุ่นเข้ามาใหม่อีก 2 ราย คือ ทาคาชิมาย่าที่ไอคอนสยามในปี พ.ศ. 2561 และดองกิ ที่เปิดสาขาแรกที่ทองหล่อในปี พ.ศ. 2562 โดยดองกิ จะมีเพิ่มเป็น 4 สาขาในปี พ.ศ. 2564

การหายไปของห้างสรรพสินค้าไม่ใช่หมายความว่ากำลังซื้อในกรุงเทพมหานครหรือประเทศไทยไม่มากพอนะครับ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปห้างสรรพสินค้าอาจจะเป็นภาระของเจ้าของกิจการมากกว่าศูนย์การค้าที่ปล่อยให้ผู้เช่าเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อขายของ ผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกเองก็เลือกที่จะเปิดให้บริการศูนย์การค้ามากกว่าห้างสรรพสินค้า เพราะตอบโจทย์ในเรื่องของรายได้ที่ค่อนข้างคงที่ อีกทั้งยังสามารถคาดการณ์ได้ในช่วงเวลาหนึ่งตามสัญญาเช่าพื้นที่ซึ่งอยู่ที่ 1 – 3 ปี อาจจะมีบางที่ที่ให้เช่าแบบระยะยาวไปเลย 15 – 30 ปี ซึ่งแบบหลังนี้ในปัจจุบันไม่มีแล้ว