ศูนย์การค้ามีครบจบในที่เดียวและเปลี่ยนแปลงตลอด

  • Post author:
You are currently viewing ศูนย์การค้ามีครบจบในที่เดียวและเปลี่ยนแปลงตลอด
ศูนย์การค้าเริ่มมีให้เห็นในกรุงเทพมหานครแบบชัดเจนก็ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา หลังจากที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวเปิดให้บริการ ก่อนหน้านี้อาจจะมีสยามเซ็นเตอร์ที่เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2516 แต่รูปแบบอาจจะยังเหมือนห้างสรรพสินค้ามากกว่า อีกแห่งที่เปิดให้บริการไล่เลี่ยกับเซ็นทรัล ลาดพร้าว คือ ศูนย์การค้ามาบุญครอง ที่ในตอนนั้นอาจจะมีร้านเช่าแบบมากมาย มีศูนย์อาหาร พื้นที่สำหรับร้านค้าเช่าจำนวนมาก แต่แบ่งพื้นที่เช่าหรือการจัดโซนนิ่งยังไม่เป็นสัดส่วนเท่าใดนัก เพราะยังเป็นยุคแรกๆ ของศูนย์การค้าในประเทศไทย

ซึ่งศูนย์การค้าหลังจากนี้จะเป็นโครงการพื้นที่ค้าปลีกที่แบ่งพื้นที่ของตนเองให้ผู้อื่นเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อเปิดเป็นร้านค้ารูปแบบต่างๆ โดยมีการจัดวางโซนนิ่งของร้านค้า และผู้เช่าให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันไม่ปะปนกัน ซึ่งสะดวกทั้งผู้ที่ต้องการใช้บริการหรือเลือกซื้อสินค้า และเป็นการแข่งขันไปในตัว ทั้งในเรื่องของการตกแต่งร้าน และโปรโมชันต่างๆ ที่ต้องโดดเด่นสะดุดตากว่าร้านข้างเคียง แต่ศูนย์การค้าก็ยังคงมีส่วนของห้างสรรพสินค้าอยู่ภายในพื้นที่เช่นเดิมเพราะเป็นส่วนที่เจ้าของศูนย์การค้าจะให้พื้นที่กับห้างสรรพสินค้าที่เป็นของตนเองหรือตนเองมีส่วนเป็นผู้ถือหุ้นร่วม หรืออาจจะปล่อยเช่าให้กับห้างสรรพสินค้าต่างประเทศ

ศูนย์การค้าในยุคนั้นอาจจะยังไม่ได้มีรูปร่างหน้าตา หรือกลุ่มผู้เช่าแบบที่เห็นกันในปัจจุบัน เพราะสมัยนั้นร้านค้าต่างๆ ยังมีไม่มาก แบรนด์สินค้า อาหาร เครื่องดื่มจากต่างประเทศก็ไม่ได้มากมายแบบที่เห็นในทุกวันนี้ แม้ว่าจะเริ่มมีเข้ามาบ้างแล้วแต่ก็ยังคงน้อยอยู่ หลังจากปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา เริ่มมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่เปิดให้บริการต่อเนื่องมาขึ้นเรื่อยๆ โดยปี พ.ศ. 2532 เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เปิดให้บริการด้วยขนาดพื้นที่กว่า 850,000 ตารางเมตร ยุคนั้นอาจจะฮือฮาและสร้างความงงงวยให้กับคนในกรุงเทพมหานครพอสมควร เพราะมีขนาดใหญ่มากๆ ในสมัย 30 กว่าปีที่แล้ว เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่มากที่เปิดในพื้นที่ที่เป็นแหล่งช็อปปิ้งอีกระดับของกรุงเทพมหานครในยุคนั้นเลย เพราะย่านราชประสงค์มีห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น และห้างสรรพสินค้าอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว แต่ความเปลี่ยนแปลงของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์น่าจะเริ่มขึ้นตั้งแต่กลุ่มเซ็นทรัลเข้ามาซื้อกิจการไปและเปลี่ยนเป็นเซ็นทรัล เวิลด์จนถึงทุกวันนี้ โดยปัจจุบันกลายเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติไปแล้วอีก 1แห่งของกรุงเทพมหานคร

กลุ่มเดอะมอลล์หลังจากที่เปิดเดอะมอลล์ ที่รามคำแหงไปแล้ว 3 สาขาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันในช่วงปี พ.ศ. 2526 – 2529 ก็เริ่มขยับเข้าสู่ศูนย์การค้าแบบจริงจัง โดยการเปิดศูนย์การค้าขนาดใหญ่แห่งแรกของฝั่งธนบุรี คือ เดอะมอลล์ สาขาท่าพระ ในปี พ.ศ. 2532 โดยเป็นศูนย์การค้าที่ตั้งอยู่บนถนนรัชดา-ท่าพระที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ เช่นกัน เป็นศูนย์การค้าที่มีทั้งส่วนของห้างสรรพสินค้า พื้นที่สำหรับร้านค้าเช่า ซูเปอร์มาร์เก็ต ฟู้ดคอร์ท โรงภาพยนตร์ ฮอลล์จัดงาน สวนน้ำ ลานสเก็ตน้ำแข็ง และโบว์ลิ่ง ก่อนที่ทั้ง 4 อย่างสุดท้ายจะหายไปตามกาลเวลา และความนิยมที่เสื่อมลง โดยเปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่แทน จากนั้นกลุ่มเดอะมอลล์ก็เปิดให้บริการสาขา งามวงศ์วานปีพ.ศ.2534 บางแค และบางกะปิปี พ.ศ.2537 เป็นศูนย์การค้าที่กระจายออกไปย่านชานเมืองแบบทั่วกรุงเทพมหานครเลย ศูนย์การค้าที่เกิดขึ้นในยุคหลังจากปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมาเกือบทั้งหมดจะมีโรงภาพยนตร์อยู่ภายในศูนย์การค้าด้วย

ศูนย์การค้าในยุคหลังจากปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมานั้น อย่างที่กล่าวไปแล้วว่ามีขนาดใหญ่มากๆ พื้นที่เช่าเกินกว่า 150,000 ตารางเมตรขึ้นไปทั้งนั้น และด้วยความที่กรุงเทพมหานครในช่วงเวลานั้นกำลังขยายตัว พื้นที่ชานเมืองต่างๆ มีโครงการที่อยู่อาศัยไปเปิดขายกันมากมาย ผู้ประกอบการที่เป็นผู้พัฒนาโครงการศูนย์การค้าหลายรายจึงเริ่มขยับขยายเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อยึดหัวหาดทำเลที่ดีๆ หรือชิงปักหมุดก่อนที่จะมีเจ้าอื่นเข้ามา แต่ก็มีบางแห่งที่ยืนระยะไม่ได้ต้องปิดตัวหรือเปลี่ยนมือไปสู่เจ้าของคนใหม่ ฟิวเจอร์พาร์ค บางแคเปิดให้บริการปี พ.ศ. 2536 ด้วยขนาดพื้นที่กว่า 300,000 ตารางเมตรด้านในมีซูเปอร์สโตร์ขนาดใหญ่อย่างคาร์ฟูร์ และร้านค้า ร้านอาหารจำนวนมาก หลังจากนั้น 1 ปีซีคอน ศรีนครินทร์เปิดให้บริการอย่างยิ่งใหญ่ด้วยขนาดพื้นที่กว่า 500,000 ตารางเมตรมีพื้นที่ของร้านค้ามากถึง 200,000 ตารางเมตร และมีโรงภาพยนตร์มากถึง 14 โรงด้วยกันในยุคนั้นการไปเดินซีคอน ศรีนครินทร์ เป็น 1 ในเป้าหมายของวัยรุ่นหลายคนเลย สิ่งที่ตอกย้ำว่ากรุงเทพมหานครกำลังขยายตัวแบบชัดเจน และขยายมาทางทิศตะวันออกด้วย คือ การเปิดให้บริการของเสรี เซ็นเตอร์ ในปี พ.ศ.2537 เช่นกัน ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ประมาณ 290,000 ตารางเมตร และอยู่ห่างจากซีคอน ศรีนครินทร์บนถนนศรีนครินทร์แบบไม่กี่ก้าวเท่านั้น

หลังจากนั้นเป็นช่วงเวลาของการเปิดให้บริการของศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ชานเมืองทางทิศเหนืออย่างแท้จริง เพราะปี พ.ศ. 2538 มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่อย่างแฟชั่นไอส์แลนด์ ขนาดพื้นที่ประมาณ 350,000 ตารางเมตรเปิดให้บริการ และเลยขึ้นไปตรงจุดตัดระหว่างถนนพหลโยธินและถนนรังสิต-นครนายก ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่เปิดให้บริการในพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพมหานครในจังหวัดปทุมธานี เพื่อรองรับการขยายตัวของคนที่ออกไปหาที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงนอกเขตกรุเทพมหานครมากขึ้น ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิตเปิดให้บริการด้วยขนาดกว่า 500,000 ตารางเมตร เรียกได้ว่าใหญ่ที่สุดในเขตปริมณฑลเลย และอาจจะใหญ่เกินไปในยุคนั้นเหมือนกัน เพราะมีบางช่วงที่เงียบๆ ลงไป

ศูนย์การค้าในยุคหลังจากปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมาเริ่มมีที่ล้มหายตายจากไปเหมือนกัน เช่น ฟิวเจอร์พาร์ค บางแคที่ปิดตัวเองลงและขายให้กับกลุ่มซีคอน ก่อนที่จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในปี พ.ศ. 2555 ในชื่อ ซีคอน บางแค แต่กว่าซีคอน บางแคจะคึกคักแบบทุกวันนี้ก็ต้องรอให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2562 เสรี เซ็นเตอร์ที่ไปต่อไม่ไหวด้วยหลายปัจจัยต้องขายให้กลุ่มสยามพิวรรธน์ และเอ็มบีเค ดีเวลอปเมนท์ ก่อนที่จะเปิดให้บริการอีกครั้งในชื่อ พาราไดซ์ พาร์คในปี พ.ศ. 2553 สยาม เซ็นเตอร์ ก็มีการปรับปรุงใหญ่หลังจากปี พ.ศ. 2540 และศูนย์การค้ามาบุญครอง ก็เปลี่ยนเป็น เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ กับรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น และกลายเป็นศูนย์การค้าที่เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติทั่วโลก เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ก็กลายเป็นเซ็นทรัลเวิลด์ในช่วงนี้เช่นกัน

ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งเริ่มปิดตัวลง และหายไปในที่สุด เพราะรูปแบบโครงการของศูนย์การค้านั้นน่าสนใจกว่า ครอบคลุมสินค้า และบริการต่างๆ มากกว่า เรียกได้ว่าสามารถเข้าไปอยู่ได้ทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น หนึ่งครอบครัวสามารถใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมในนั้นได้ทุกคนทุกช่วงวัย ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มเซ็นทรัลเปิดให้บริการศูนย์การค้าของตนเองต่อเนื่องเกือบทุกปี มีสาขากระจายทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อเนื่องไปจนถึงหลังจากปี พ.ศ. 2550