ช่วง 20 – 30 ปีที่ผ่านมาคนไทยทั้งประเทศ น่าจะมีความคุ้นเคยหรือว่ารู้จักกับไฮเปอร์มาร์เก็ตกันเป็นอย่างดีแล้ว โดยรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตโดยทั่วไปนั้นจะมีส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่เป็นของเจ้าของโครงการ นั้นๆ แล้วพื้นที่รอบๆ ซูเปอร์มาร์เก็ตจะเป็นร้านค้าหรือพื้นที่เช่าต่างๆ เพื่อเติมเต็มให้โครงการนั้นๆ สมบูรณ์มากขึ้น
ในซูเปอร์มาร์เก็ตจะมีสินค้าทุกอย่างที่ควรจะอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งของอุปโภคและบริโภค รวมไปถึงอาหารสดทุกประเภทอาจจะมีความแตกต่างกันบ้างก็แล้วแต่ทำเลที่ตั้งของโครงการ ซึ่งไฮเปอร์มาร์เก็ตในปัจจุบันนั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างจากในอดีตเมื่อ 20 – 30 ปีก่อนหน้านี้ไม่มากนัก
ไฮเปอร์มาร์เก็ตในอดีตนั้นอาจจะมีร้านค้าอื่นๆ ไม่มากนัก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ต แต่บางสาขาอาจจะมีส่วนของร้านค้าหรือพื้นที่เช่าเพื่อเป็นร้านค้า หรือบริการต่างๆ ในสัดส่วนที่มากกว่าขึ้นอยู่กับทำเลหรือสภาพของชุมชนโดยรอบ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วไฮเปอร์มาร์เก็ตในปัจจุบันกับในอดีตนั้นแทบไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก
เท่าที่สังเกตได้ชัดเจนอาจจะเป็นเรื่องของการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปมีความเป็นโครงการพื้นที่ค้าปลีกหรือมีความสนุกสนานมากขึ้น มากกว่าที่จะมีรูปลักษณ์เหมือนอาคารโกดังแบบช่วงก่อนหน้านี้ เพียงแต่จำนวนสาขาที่มีรูปลักษณ์เปลี่ยนแปลงไปนั้นจะมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นสาขาที่เพิ่งเปิดให้บริการในช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น
พื้นที่ภายในของไฮเปอร์มาร์เก็ตนั้นนอกจากส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ต อาจจะมีส่วนที่ให้สำหรับเด็กเล่น มีร้านค้า หรือพื้นที่เช่าที่ให้บริการในด้านต่างๆ ไม่ได้แตกต่างจากศูนย์การค้าหรือคอมมูนิตี้มอลล์ ร้านค้าและบริการต่างๆ นอกจากร้านอาหาร เครื่องดื่ม ขนม หรือธนาคารแล้วยังมีร้านขายโทรศัพท์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ แว่นตา เสื้อผ้า ร้านหนังสือ ร้านทอง หรือบริการอื่นๆ เช่น ร้านนวด สปา ร้านทำผม เป็นต้น บางสาขาที่มีถึง 2 ชั้น จำนวนร้านค้าหรือบริการภายในโครงการยิ่งมีจำนวนมากไม่แตกต่างจากศูนย์การค้าเลย
รูปแบบของไฮเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยแตกต่างจากต่างประเทศพอสมควร เพราะเรื่องของร้านค้าและพื้นที่เช่าต่างๆ ที่อาจจะมากกว่าในบางประเทศ ชาวต่างชาติบางส่วนจึงอาจจะมีความแปลกใจได้เมื่อเดินเข้าไฮเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ที่พวกเขาคุ้นเคยแล้วหาทางเข้าส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ตไม่เจอ
ผู้เล่นใหญ่ในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยตอนนี้มีแค่ 2 รายเท่านั้น คือ กลุ่มซีพี และกลุ่มทีซีซี แต่ก่อนที่จะเหลือเพียงแค่ 2 รายนั้นมีเรื่องราวความเป็นมาที่ค่อนข้างจะยาวนานหลายปีอยู่
ไฮเปอร์มาร์เก็ตจริงๆ แล้วมีสาขาแรกในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2532 โดยบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เปิดห้างแม็คโคร สาขาลาดพร้าวในปี 2532 ซึ่งสามารถนับได้ว่าเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตสาขาแรกในประเทศไทย แม้ว่ารูปแบบของแม็คโครนั้นอาจจะไม่ใช่ไฮเปอร์มาร์เก็ตซะทีเดียว เพราะแม็คโครอาจจะขายสินค้าอุปโภค และบริโภค แต่ให้ผู้ซื้อบริการตนเอง อีกทั้งขายแบบยกล็อตหรือเหมาในปริมาณมากๆ ไม่ได้ขายเป็นชิ้น และส่วนของพื้นที่เช่าก็แทบไม่มีเลย แต่ปัจจุบันมีการจัดรูปแบบของแม็คโครไว้ในกลุ่มของไฮเปอร์มาร์เก็ตแล้ว จึงขอนับว่าแม็คโครเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตละกัน
ไฮเปอร์มาร์เก็ตที่นับได้ว่ามีรูปแบบเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตจริงๆ นั้นน่าจะเป็นบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ซึ่งเปิดสาขาแรกในเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2537 โดยบิ๊กซีนั้นเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ที่เกิดจากการร่วมทุนกันระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลและกลุ่มอิมพีเรียล ซึ่งเป็นของตระกูลกิจเลิศไพโรจน์ จากนั้นก็เปิดให้บริการอีกหลายสาขาทั่วประเทศไทยจนช่วงปี พ.ศ. 2540 จึงชะลอการเปิดสาขาใหม่ไปเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ
โดยบิ๊กซีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ก็ได้กลุ่มคาสิโนจากประเทศฝรั่งเศสเข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทไป 66% ซึ่งการซื้อหุ้นในครั้งนี้มีผลให้บิ๊กซีเปลี่ยนสถานะไปเป็นบริษัทต่างชาติทันที จนกระทั่งช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 กลุ่มคาสิโนชนะการประมูลกิจการคาร์ฟูร์ในประเทศไทยอีก และหลังจากนั้นเปลี่ยนชื่อคาร์ฟูร์ทั้งหมดในประเทศไทยเป็นบิ๊กซี
โดยมีการปิดสาขาเดิมของคาร์ฟูร์ไป 5 สาขาเพราะทับซ้อนกับทางบิ๊กซี ในตอนนั้นบิ๊กซีขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทย เป็นอันดับที่ 2 และมีการปรับรูปแบบมาเป็นขนาดเล็กเป็นร้านสะดวกซื้อเปิดในปั๊มน้ำมันบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีสาขามากมายเท่าใดนัก
ไฮเปอร์มาร์เก็ตที่คนไทยคุ้นชื่อคุ้นหูกันดีน่าจะเป็นโลตัส โดยโลตัสเข้ามาในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2536 โดยกลุ่มซีพีตั้งบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด เพื่อเป็นผู้พัฒนาและดูแลโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ที่เปิดสาขาแรกในซีคอน สแควร์ปี พ.ศ. 2537 จากนั้นสาขาที่อยู่ด้านนอกศูนย์การค้าสาขาแรกคือ สาขาที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร และเช่นเดียวกับทางบิ๊กซี เพราะโลตัสในสมัยนั้นที่มีกลุ่มซีพีเป็นเจ้าของประสบปัญหาทางการเงินเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจเช่นกัน จนกลุ่มซีพีต้องขายหุ้นร้อยละ 75 ของบริษัทให้กับกลุ่มเทสโก้จากประเทศอังกฤษด้วยมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท และต่อมากลุ่มซีพีก็ไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทนี้อีกเลย
ซึ่งหลังจากที่เทสโก้เข้ามาถือหุ้น 75% แล้วมีการเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่าเทสโก้ โลตัส จนกระทั่งกลับมาสู่อ้อมอกของซีพีอีกครั้งในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 เทสโก้ โลตัสเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตที่ชัดเจนในเรื่องของการแข่งขัน เพราะมีการขยายออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยในหลายรูปแบบทั้งแบบขนาดใหญ่ และขนาดเล็กแบบซูเปอร์มาร์เก็ต เรียกได้ว่าจำนวนสาขาของเทสโก้โลตัสในทุกรูปแบบนั้นเป็นรองเพียงเซเว่นอีเลฟเว่นเท่านั้น
อีกรายที่เข้าสู่ตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย คือ คาร์ฟูร์ โดยคาร์ฟูร์นั้นเข้ามาในประเทศไทย โดยมีการจัดตั้งบริษัทชื่อบริษัท เซ็นคาร์ จำกัด ในปี พ.ศ. 2539 ดูจากชื่อแล้วแน่นอนว่ามีกลุ่มเซ็นทรัลและกลุ่มคาร์ฟูร์เนเธอร์แลนด์บีวี ร่วมกันถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 60:40 โดยเปิดให้บริการคาร์ฟูร์สาขาแรกที่ถนนสุขาภิบาล 3 ในปี พ.ศ. 2539
และเช่นเดียวกับกรณีของบิ๊กซีที่กลุ่มเซ็นทรัลประสบปัญหาช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 จนมีผลให้กลุ่มเซ็นทรัลต้องปล่อยหุ้นในบริษัทนี้ให้กับกลุ่มคาร์ฟูร์ถือยาวมาถึงปี พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อทางคาร์ฟูร์เนเธอร์แลนด์บีวีตัดสินใจถอนการลงทุนทั้งหมดออกจากประเทศไทย เพราะต้องการระดมทุนไปลงทุนในประเทศที่กำลังขยายตัว อีกทั้งการแข่งขันในประเทศไทยนั้นรุนแรงมากในช่วงนั้น
ซึ่งการขายกิจการคาร์ฟูร์ในประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้ามาแข่งกันของ 2 ผู้เล่นรายใหญ่ที่กล่าวไปแล้วในตอนแรก แม้ว่ากลุ่มที่ชนะการประมูลและเป็นเจ้าของคาร์ฟูร์ไปในตอนนั้นคือ กลุ่มคาสิโนที่เป็นเจ้าของบิ๊กซีก็ตาม