นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ได้มีการขยายไปในวงกว้างทุกสาขาอาชีพและทุกอุตสาหกรรม หนักหนาสาหัสยิ่งกว่ารอบแรก และหนึ่งในจำนวนนั้นคือแคมป์คนงานก่อสร้าง โดยเฉพาะในพื้นที่กทม.–ปริมณฑล มีแรงงานไทย–ต่างด้าวติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมากหลายแคมป์ด้วยกัน แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปทำการตรวจและหาแนวทางป้องกันแล้ว แต่ก็ยังมีคลัสเตอร์ จากแคมป์คนงานอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้หัวข้อ “มาตรการการจัดการแคมป์แรงงานก่อสร้างในสถานการณ์โควิด-19 อย่างมีส่วนร่วม EP.2 : ปฏิบัติการสร้างความร่วมมือฝ่าวิกฤตโควิด-19″ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา กรมอนามัย ได้มีข้อเสนอให้ผู้ประกอบการร่วมดำเนินการปรับปรุง ยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของแรงงาน ด้านการกิน อยู่อาศัย นอน ห้องน้ำ น้ำดื่ม เพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งแนวทางนี้ต้องขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ แต่ที่ผ่านมาก็พบว่ายังไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 ได้เท่าที่ควร
วอนรัฐหามาตรการหยุดแพร่ระบาดก่อนกระทบเป็นลูกโซ่
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยในหัวข้อ “มาตรการการจัดแคมป์แรงงานก่อสร้างในสถานการณ์โควิด-19 อย่างมีส่วนร่วม EP.2 : ปฏิบัติการสร้างความร่วมมือฝ่าวิกฤตโควิด-19″ว่า จากตัวเลขศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)ที่ประกาศออกมา พบผู้ติดเชื้อในแคมป์ก่อสร้างมีตัวเลขทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในแคมป์ก่อสร้างบางแห่งจะมีทั้งคนงานที่มีใบอนุญาตและที่ไม่มีใบอนุญาต และแม้ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา แคมป์คนงานแต่ละแห่งจะมีมาตรการควบคุมและป้องกัน แต่ยังพบผู้ติดเชื้ออยู่ ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับ แม้จะมีการกระบวนการเข้าไปฆ่าเชื้อโรค แต่หากทำไม่ถูกต้อง หรือใช้น้ำยาฆ่าเชื้อไม่ถูกต้อง จะยิ่งทำให้เชื้อเกิดการแพร่ะกระจายออกไปได้อีก ซึ่งรายละเอียดปลีกย่อยของการระบาดในแคมป์คนงานยังมีอีกมากมาย
โดยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมานั้นไม่มากนัก แต่ผู้ประกอบการอยากทำมากกว่านั้น เช่น การตรวจเชิงรุก แต่นั่นเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ดังนั้นมาตรการที่ทำแล้วสามารถทำได้ ดีกว่าปล่อยให้ติดเชื้อ ซึ่งไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐก็ได้ ซึ่งแรงงานเป็นการก่อสร้างตามออเดอร์ แม้ฉีดวัคซีนแล้วโรคก็ไม่หายไป แต่การลงทุนด้านสาธารณสุขเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการหลายรายยินดีที่จะดำเนินการ เพื่อให้แคมป์ปลอดภัยมากที่สุดเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด ดังนั้นดีเทล ทำเล ของแต่ละไซต์งานจะสำคัญมาก จึงอยากให้กระทรวงแรงงาน มี Solution รองรับแรงงานที่ติดไปอยู่ Hospitel และแรงงานที่ไม่ได้ตามระบบอาจจะมีปัญหา ว่าจะสามารถนำไปรักษาได้ที่ไหน
ทั้งนี้เหตุการณ์การติดเชื้อโรคโควิด-19 ในแคมป์คนงานเพิ่งเกิดได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ในช่วงแรกจึงยังไม่ค่อยมีผู้ประกอบการรายใดตระหนักว่าจะส่งงานช้า แต่ล่าสุดมีการระบาดมาก จนถึงขั้นมีการปิดแคมป์งาน ซึ่งอาจะมีปัญหาตามมากับทั้งเจ้าของโครงการในส่วนของภาครัฐและเอกชน อาทิ การก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร ลูกค้าที่ซื้ออาจจะลังเลที่จะโอนกรรมสิทธิ์ หรือที่มีปัญหาอยู่แล้ว ก็จะยกเลิกการโอนฯ หรือแม้แต่งานก่อสร้างภาครัฐ ก็มีค่าปรับความล่าช้า เป็นต้น ซึ่งมองว่าสุดท้ายคณะรัฐมนตรี (ครม.)ควรมีมติเพื่อช่วยเหลือและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะผู้ประกอบการก็กลัวว่างานส่งมอบไม่ได้ ลูกค้าก็จะไม่โอน ซึ่งจะกระทบไปหมด ไม่มีกระแสเงินสดเข้ามาหมุนเวียน ซึ่งต้องอาศัยภาครัฐช่วยเหลือ
ปัญหานั้นสามารถแก้ไขได้ แต่แคมป์งานรู้ว่าปัญหาคืออะไร หากคนงานยังนอนเรียงกันเหมือนปลากระป๋อง และนั่งกินข้าวรวมกัน ก็ยังติดเชื้อโรคอยู่ดี เพราะฉะนั้นในแคมป์งานต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่ที่ผ่านมาหลายแคมป์ยังไม่ถูกสุขลักษณะ และไม่เพิ่มคอร์สจัดการอย่างจริงจัง ซึ่งเขาลืมไปว่าถ้ามีแรงงานติดเชื้อโรค และถูกปิดแคมป์จะเจ็บกว่านี้ เพราะจะได้รับผลกระทบกันเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่นี้ไปหากทุกแคมป์ยังไม่ดำเนินการ ก็จะติดเชื้อโรคกันต่อเนื่องอย่างนี้ตลอดไป เพราะยังมีมีแคมป์ก่อสร้างในพื้นที่กทม.ที่ยังไม่ขออนุญาตอย่างถูกต้องอีกมาก ซึ่งยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน แต่มาเจอปัญหาภาครัฐจะจับแรงงานเถื่อน เลยไม่ค่อยมีแคมป์ไหนแจ้งข้อมูลที่ถูกต้อง ตอนนี้จึงมีปลาเน่าทุกแคมป์ ดังนั้นขั้นแรกต้องคัดปลาเน่าออกมาก่อน แล้วจัดระเบียบให้ถูกสุขลักษณะด้วยการตรวจเชิงรุก และฉีดวัคซีน ดังนั้นหน่วยงานรัฐต้องร่วมมือกันแก้ไขและประสานปัญหาในเชิงรุกในภาวะฉุกเฉิน
“ไฟกำลังไหม้ ไม่ควรโทษใคร ควรเร่งงานไฟไหม้ให้ดับก่อน คือหยุดโรคระบาดให้ได้ก่อน หลังจากนั้นค่อยมาดูว่าส่งผลกระทบงานล่าช้าไปแค่ไหน แล้วค่อยมาคุยกันว่าจะผ่อนปรนกันอย่างไรได้บ้าง ก่อนหน้านี้ ข้อมูลที่ได้รับ ทางกรมแรงงาน ประกันสังคม ได้ตรวจเชิงรุกเพื่อดับไฟ แม้จะไม่ใช่หน้าที่โดยตรง แต่ทางกรมแรงงานมีความพร้อมมีโรงพยาบาลในเครือกว่า 90 โรงพยาบาล ทีมงานเยอะมาก เชิงรุกที่เกิดขึ้นมา ได้ช่วยโรงงานอุตสาหกรรมได้มาก และยังเตรียมเข้าไปตรวจตามรายชื่อแคมป์คนงาน 400 กว่าแคมป์”นายพรนริศ กล่าวในที่สุด
หวั่นเป็นระเบิดลูกใหญ่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจ
นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ทางสมาคมฯเห็นตรงกันว่า หากโควิด-19 ลามไปวงการธุรกิจก่อสร้าง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างรุนแรง และมองว่าเป็นความเสี่ยงสูง เพราะในพื้นที่ก่อสร้างเรื่องระบบสาธารณสุขจะด้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโรงงานอุตสาหกรรม และหากเกิดการระบาดจะไม่ใช่เพียงแต่จะเกิดกับกทม.แต่จะระบาดไปทั่วถึงต่างจังหวัดได้
“หากคลัสเตอร์แรงงานก่อสร้างระบาดขึ้นมา จะเป็นระเบิดลูกใหญ่มาก เรื่องนี้ต้องให้ความสำคัญอย่างรุนแรง จะกระทบลงลึกถึงระดับเศรษฐกิจรากหญ้า ซึ่งยังเห็นว่า หลายๆประเทศรอบบ้านเรา ยังเกิดโควิดระบาดระลอก 3 และ 4 และคิดว่าครั้งนี้คงไม่จบ และหากเราควบคุมสถานการณ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร คิดว่าเราคงได้รับผลกระทบอีกมาก” นายมีศักดิ์ กล่าว
สำหรับธุรกิจอสังหาฯที่บริษัทตนดำเนินการพัฒนาโครงการอยู่นั้น มีหลายไซต์งานและมีคนงานก่อสร้างประมาณ 2,000 คน ซึ่งทางบริษัทฯได้มีมาตรการออกมา เพื่อมิให้กระทบต่องานก่อสร้างจนต้องหยุดและมีผลไปถึงลูกค้า โดยได้จัดการรณรงค์เขียนป้ายติดตามไซต์งานหลายภาษาเป็นสีแดง โดยหยิบประเด็นให้คนเหล่านี้เข้าใจว่า “ถ้าโควิดมา งานไม่มี เงินก็หมด” รวมถึงการเปลี่ยนที่อาบน้ำจากบ่ออาบน้ำเป็นฝักบัว มีจุดคัดกรองเพื่อคัดแยกในกรณีเป็นพิเศษ รวมถึงญาติที่จะเข้ามาพบจะกลายเป็นสิ่งต้องห้ามด้วย เป็นต้น
กทม.เร่งควบคุมแคมป์ก่อสร้างพื้นที่กทม. 409 แห่ง
คุณมนูศักดิ์ บินยะฟัล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมากทม.ให้ความสำคัญกับการควบคุมการแพร่ะระบาดเป็นอันดับแรก และได้มีการประชุมร่วมกับภาคเอกชน โดยได้มีผู้แทนจากภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ประมาณ 250 ราย ซึ่งได้มีการชี้แจง ทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการต่างๆและทำความเข้าใจ สำหรับผู้ประกอบการ-นายจ้าง ซึ่งมีประมาณ 9 หัวข้อ ตามหลักการของกระทรวงสาธารณสุข และมีการชี้แจงเกี่ยวกับมาตรการการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกทม.ก็มีการดำเนินการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด โดยปัจจุบันพื้นที่กทม. มีแคมป์ก่อสร้างทั้งหมดจำนวนทั้งหมด 409 แคมป์ มีแรงงานรวมทั้งสิ้น 62,000 คน แบ่งเป็นคนงานไทย 26,000 คน และต่างด้าว 36,000 คน
ชี้ 6 จุดตายที่ส่งผลการแพร่ระบาดโควิด-19
แพทย์หญิงวรรณา หาญเชาว์วรกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ประเทศไทยขณะนี้อยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งเป้าหมายไม่ได้มุ่งการหยุดเชื้อ แต่จะให้น้ำหนักในเรื่องของการชะลอการแพร่เชื้อแบบลดการสูญเสียหรือเสียชีวิต ป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่างๆ และไม่ต้องการให้เกิดระบาดระลอกที่ 4 ที่อาจทำให้เกิดความสิ้นหวัง จนนำไปสู่ปัญหาทางสังคมและเกิดการฆ่าตัวตาย
“เราจะพบจุดตายในแคมป์ก่อสร้างที่จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้นั้น ได้แก่ 1.จุดน้ำดื่ม แก้วน้ำที่ถูกเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ ซึ่งทางกรมควบคุมโรค เสนอให้ใช้ระบบนำเครื่องเหยียบน้ำดื่มมาแทน แต่ละคนต้องมีแก้วน้ำเป็นของตนเอง 2.กรณีที่ไม่ใช่คนในครอบครัวเดียวกัน การรับประทานอาหารควรเว้นระยะห่าง 1 ตารางเมตร(ตร.ม.) 3.โรงอาหาร ควรมีฉากกั้น ลดเวลาให้เกิดการเหลื่อมล้ำเวลาทานอาหาร 4.ราวบันได อาจต้องจัดคนคอยเช็ดราวบันได เนื่องจากตรวจพบเชื้อโควิด-19ที่ราวบันได 5.กรณีที่คนงานอยู่ในพื้นที่สีแดง ต้องควบคุมห้ามกลับภูลำเนา เช่น พื้นที่กรุงเทพฯ และจ.สมุทรปราการ และ 6.จดทำทะเบียนลูกจ้างและมาพิจารณาในเรื่องลูกจ้างที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายจะทำอย่างไร”แพทย์หญิงวรรณา กล่าวในที่สุด