2 กลุ่มที่ครองตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต

  • Post author:
You are currently viewing 2 กลุ่มที่ครองตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต
ตอนที่แล้วจบลงตอนช่วงปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมาเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มคาสิโนกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต เพราะเป็นเจ้าของทั้งบิ๊กซีและคาร์ฟูร์ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบิ๊กซีทั้งหมด แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปีก็เริ่มมีการเปลี่ยนมืออีกครั้ง เพียงแต่คราวนี้เป็นกลุ่มนักลงทุนไทยที่เข้ามาเล่นตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตบ้างหลังจากที่ปล่อยให้ต่างชาติครองตลาดนี้มานาน

โดยในช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมาถึงช่วงก่อนปี พ.ศ. 2560 ไฮเปอร์มาร์เก็ตขยายออกไปทั่วประเทศไทยมีสาขาอยู่แทบจะทุกจังหวัด บางจังหวัดมีครบทุกแบรนด์เลย และบางจังหวัดมีมากกว่า 1 สาขาด้วย รวมไปถึงซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่มีขนาดเล็กกว่าไฮเปอร์มาร์เก็ตแต่เป็นรูปแบบโครงการของผู้ประกอบการไฮเปอร์มาร์เก็ตด้วย

กลุ่มคาสิโนซื้อบิ๊กซีในปี พ.ศ. 2553 โดยซื้อทั้งหมดทุกสาขาในประเทศไทยรวม 42 สาขา โดยมีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 3.55 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมกับบิ๊กซีในเวลานั้นก็เท่ากับว่าบิ๊กซีในช่วงปี พ.ศ. 2554 มีสาขารวมกันทั้งหมด 103 สาขา ตามติดเจ้าตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างเทสโก้ โลตัสที่มีสาขา 116 สาขา

โดยในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2556 หลังจากที่บิ๊กซีปรับรุงและเปลี่ยนชื่อสาขาของคาร์ฟูร์ทั้งหมดแล้วมีการแบ่งรูปแบบของสาขารวมไปถึงสินค้าด้านในและขนาดออกเป็นหลายรูปแบบ ทั้งแบบบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ที่เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป แบบบิ๊กซี เอ็กซ์ตร้าที่ขายสินค้าพรีเมี่ยม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาขาของคาร์ฟูร์ และแบบขนาดเล็กที่มีพื้นที่น้อยกว่า 4,000 ตารางเมตร เช่น บิ๊กซี ฟู้ดเพลสที่เน้นขายอาหารสด บิ๊กซี มาร์เก็ตที่มีขนาดไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร และมินิ บิ๊กซี ที่ออกแนวร้านสะดวกซื้อ ซึ่งดูแล้วผลประกอบการก็น่าจะไปได้ดี แต่ในปี พ.ศ. 2559 เมื่อบริษัทแม่อย่างกลุ่มคาสิโนมีปัญหาทางการเงิน พวกเขาจึงตัดสินใจขายบิ๊กซีในประเทศไทย เวียดนาม และลาว โดยการประมูล ซึ่งในตอนนั้นมีกลุ่มทีซีซีโดยบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และกลุ่มเซ็นทรัลให้ความสนใจ แต่สุดท้ายแล้วกลุ่มทีซีซีชนะการประมูลไปด้วยราคาซื้อขายที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท กลุ่มเซ็นทรัลได้ส่วนของในประเทศเวียดนามไป เท่ากับว่าตอนปี พ.ศ. 2559 บิ๊กซีกลับมาเป็นของคนไทยอีกครั้งแล้ว

แต่ก่อนหน้าที่จะมีการซื้อบิ๊กซีนั้น ในปี พ.ศ. 2556 กลุ่มซีพีโดยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามแม็คโครโฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท โอเอชที จำกัด จากบริษัท เอสเอชวี เนเธอร์แลนด์ บีวี จำกัด รวมไปถึงการทำเทนเดอร์ออฟฟเฟอร์เพื่อซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอีก รวมแล้วใช้เงินไปทั้งหมด 1.88 แสนล้านบาท ก่อนที่จะโดนทำลายสถิติด้วยการซื้อกิจการบิ๊กซีของกลุ่มทีซีซี

การซื้อแม็คโครของซีพี เท่ากับว่าในตอนนั้นกลุ่มซีพีมีหน้าร้านในการขายสินค้าของตนเองครบทั้งแบบขนาดใหญ่ผ่านแม็คโคร และแบบขนาดเล็กที่มีสาขากระจายทั่วประเทศไทยแบบร้านสะดวกซื้อ รวมไปถึงเป็นมีครบซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำแบบแท้จริง จนมีการพูดกันว่ากลุ่มซีพีกินรวบธุรกิจค้าปลีกไปแล้ว แต่ปี พ.ศ. 2563 คำว่า “กินรวบ” ยิ่งถูกตอกย้ำหนักขึ้น เมื่อกลุ่มซีพีซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัสในประเทศไทย

ช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 กลุ่มเทสโก้ ประเทศอังกฤษเปิดเผยว่าต้องการขายกิจการเทสโก้ โลตัสในประเทศไทย และมาเลเซีย ซึ่งเฉพาะในประเทศไทยนั้นเทสโก้มีสาขารวมกันทุกรูปแบบประมาณ 2,000 สาขา มูลค่าการซื้อขายกิจการน่าจะสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การซื้อขายกิจการในประเทศไทย และใครที่ได้ไปจะกลายเป็นผู้ครองตลาดค้าปลีกทันที โดยในตอนนั้นมีกลุ่มซีพี กลุ่มทีซีซี และกลุ่มเซ็นทรัลแสดงความสนใจ และเข้าไปยื่นข้อเสนอซื้อกิจการ ซึ่งกลุ่มเทสโก้ใช้วิธีการประมูลโดยจะเลือกคนที่เสนอราคาสูงที่สุด ซึ่งราคาที่เสนอเข้ามาสูงที่สุดคือ 3.38 แสนล้านบาทของบริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด บริษัทที่มีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัดเป็นผู้ถือหุ้น โดยกระบวนการซื้อขายทั้งหมดแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 และได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นการผูกขาดธุรกิจในประเทศไทยจนมีการร้องเรียนกันอยู่ แต่ไม่ขอพูดถึงรายละเอียดในส่วนนั้น

ปัจจุบันนี้ธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบของไฮเปอร์มาร์เก็ตกลับมาเป็นของคนไทยแบบสมบูรณ์แล้ว โดยบิ๊กซีทุกรูปแบบเป็นของกลุ่มทีซีซี โลตัสและแม็คโครเป็นของกลุ่มซีพี ซึ่งหลังจากนี้ต้องดูว่าทั้ง 2 กลุ่มนี้จะขับเคลื่อนธุรกิจของตนเองไปในรูปแบบใด เพราะการขยายสาขาในปัจจุบันนั้นทำได้ยากมากขึ้น ทั้งการต่อต้านหรือคัดค้านจากชุมชน เพราะมีผลให้ร้านค้าขนาดเล็กดำเนินธุรกิจต่อไปได้ยาก และเรื่องของข้อกำหนดทางผังเมืองหรือกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่มีผลต่อการขยายสาขาหรือพัฒนาไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ และการพัฒนารูปแบบขนาดเล็กก็เป็นไปได้ยาก เพราะร้านสะดวกซื้อก็มีกระจายแทบจะทุกชุมชนในประเทศไปแล้ว

ในขณะที่การขยายสาขาในปั๊มน้ำมันที่เคยเห็นก่อนหน้านี้ของมินิ บิ๊กซีก็อาจจะไม่สะดวกหรือราบรื่นแบบที่คิด เพราะสู้คู่แข่งสำคัญอย่างเซเว่น อีเลฟเว่นได้ยาก อาจจะมีการเปลี่ยนรูปแบบไปของไฮเปอร์มาร์เก็ตบ้างแบบที่เทสโก้ โลตัสเคยทำเมื่อ 10 กว่าปีก่อนหน้านี้ที่มีการพัฒนารูปแบบของพลัส มอลล์ขึ้นมาในบางสาขา หรือรูปแบบพลาซ่าของบิ๊กซี แต่ก็มีสาขาในรูปแบบนั้นไม่มากนัก หรือแม็คโครที่มีรูปแบบของแม็คโคร ฟู้ดเซอร์วิสที่ใช้ขนาดพื้นที่ประมาณ 1,000 – 3,000 ตารางเมตรและเน้นขายอาหารสดออกมาก็เช่นกันที่มีจำนวนสาขาไม่มากนัก ในขณะที่ผู้เล่นรายอื่นๆ ยังมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ยกเว้นการเปลี่ยนชื่อของโลตัสที่ไม่มีคำว่าเทสโก้แล้ว

เอ่ยถึงร้านสะดวกซื้อหลายครั้งในตอนนี้ ตอนต่อไปเลยขอพูดถึงร้านสะดวกซื้อบ้างละกัน แม้ว่าเกือบทุกคนในประเทศไทยจะรู้อยู่แล้วว่าใครครองตลาดร้านสะดวกซื้อ และแทบไม่มีคู่แข่งเลยในปัจจุบัน แต่ก็ยังพอมีแง่มุมที่น่าสนใจอยู่ในตลาดนี้เช่นกัน