วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยเผยหลังรัฐประกาศสั่งปิดแคมป์คนงาน-หยุดงานก่อสร้าง ส่งผลกระทบธุรกิจก่อสร้างในวงกว้าง ระบุพื้นที่กมท.ในแคมป์ใน-นอกงานก่อสร้างร่วม 600 แห่ง วอนภาครัฐผ่อนงานบางประเภทให้เดินหน้าแล้วเสร็จ มิเช่นนั้นจะมีผลกับความปลอดภัยในโครงการ-ที่อยู่อาศัยในชุมชน และสัญญาก่อสร้าง ทั้งเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯช่วยผ่อนคลายกฏเกณฑ์ ลดความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยว่า จากการสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง ตามประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 มิถุนายน 2564 นั้น ประกาศให้ปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราว(แคมป์) สำหรับคนงานทั้งภายในภายนอกสถานที่ก่อสร้าง รวมทั้งให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามการเดินทาง
และเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นเวลา 1 เดือน ทำให้การก่อสร้างต้องหยุดลงทันที ส่งผลกระทบให้ธุรกิจก่อสร้าง ในประเทศไทยได้รับผลกระทบในวงกว้าง เนื่องจากในกรุงเทพมหานครมีแคมป์ (Camp) คนงานที่อยู่ในไซต์งาน ประมาณ 120 แห่ง Camp คนงานที่อยู่นอกไซต์ ประมาณ 480 แห่ง ทั้งนี้ยังไม่รวมในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะงานที่ต้องทำต่อเนื่อง งานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย รวมถึงเรื่องสัญญาก่อสร้าง สัญญาการว่าจ้างบริษัทรายย่อยที่จะมีผลตามมาอีกมาก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ จึงมีข้อเสนอให้มีการผ่อนปรนให้สามารถทำงานได้ต่อไป
ด้านรองศาสตราจารย์ สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า แนวทางป้องกันความเสียหายของงานก่อสร้างที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ งานก่อสร้างทุกชนิดทุกประเภท ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เป็นการทำงานที่มีกระบวนการ มีขั้นตอนการเริ่มต้น การดูแล การตรวจตรา เพื่อให้งานออกมา
เสร็จสิ้นสมบูรณ์ มีความมั่นคงแข็งแรงให้ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้อาคารนั้น ๆ แต่ละขั้นตอนมีหลักการปฏิบัติ ต้องดำเนินการต่ออย่างต่อเนื่อง และถูกต้องตามหลักวิชาการ การหยุดการดำเนินการอย่างทันทีทันใด น่าจะส่งผลกระทบทางลบให้กับผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก
โดยที่เห็นอย่างชัดเจน ก็คือ เรื่องเสถียรภาพของโครงสร้างอาคารงานที่กำลังจะดำเนินการ เช่น งานที่ดำเนินการติดตั้งเหล็กเสริม คาน พื้น เรียบร้อยแล้ว มีแผนการตรวจสอบความถูกต้อง ความมั่นคง แข็งแรง ของไม้แบบ ค้ำยันต่าง ๆ พร้อมที่จะกำหนดเทคอนกรีตได้แล้ว ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ไม่มีการทำต่อเนื่อง เหล็กเสริมที่เตรียมการไว้เกิดเป็นสนิม นั่งร้านค้ำยันที่ติดตั้งไว้ชั่วคราว ต้องมีการตรวจสอบตลอดเวลา อาจมีการเคลื่อนย้าย งานบางอย่างต้องทำต่อเนื่อง การขุดเจาะอุโมงค์การดันท่อลอด การขุดชั้นใต้ดิน เหล่านี้เป็นต้น รวมทั้งงานทดสอบ เช่น กำลังดำเนินการทดสอบอยู่ จะต้องมีการตรวจวัดอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้ มีผลกระทบโดยตรงกับการก่อสร้าง ยังไม่รวม Supplier ต่าง ๆ ที่เตรียมการส่งอุปกรณ์ติดตั้ง หยุดชะงักหมด รวมไปถึงการเข้าโครงการที่มีกำหนดการที่จะใช้อาคาร กลับต้องถูกเลื่อนออกไป และเมื่อครบกำหนดเปิดให้เข้าทำงานก่อสร้างได้ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องทันที จะต้องดำเนินการตรวจสอบ แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดจากการถูกปล่อยทิ้งไว้ อาจต้องมีการซ่อมแซม หรือเปลี่ยนเอาของใหม่มาแทน นอกจากเสียเวลาเพิ่มแล้ว ค่าใช้จ่ายอาจจะมีเพิ่ม ไม่ทราบว่าความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่ที่ส่วนใด
รองศาสตราจารย์ เอนก ศิริพานิชกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ในการที่จะก่อสร้างอาคาร ต้องมีการสร้างโครงสร้างชั่วคราว หรือ Temporary Structure ก่อน เช่น การตั้งนั่งร้าน ไม้แบบ ระบบป้องกันดินพัง สำหรับการขุดดินลึกเพื่อหล่อคอนกรีตฐานราก และห้องใต้ดิน ซึ่งจะต้องมีการรื้อถอนออกไปหลังจากการก่อสร้างโครงสร้างถาวรแล้วเสร็จ หากโครงสร้างอาคารถาวรยังไม่ได้สร้าง ก็จะเป็นปัญหาลำดับของการก่อสร้างผิดไป เช่น หากมีฝนตกลงมา และมีน้ำไปขัง หรือน้ำท่วมเข้าไปในสถานที่ก่อสร้างจะทำให้ดินทรุดพังลง และโครงสร้างพังเสียหายเครื่องจักรอุปกรณ์เกี่ยวกับงานก่อสร้าง เช่น เครน เป็นไปได้ที่เครนจะมีการแกว่งออกไปนอกสถานที่ก่อสร้างได้ อาจจะล้มลงทำให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากไม่ได้มีการทำงาน ในระหว่างหยุดงานก่อสร้างเป็นเวลานาน ปกติหากมีการสั่งงดการก่อสร้าง มักจะมีการแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน เพื่อให้ผู้ดูแลงานสามารถวางแผนการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ หากมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแบบนี้แล้ว ขอเสนอให้ส่วนราชการต้องพิจารณาให้อำนาจท้องถิ่นไปตรวจสอบโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ไหนบ้าง ที่อาจจะมีปัญหาในระหว่าง 30 วันนั้น และให้รีบดำเนินการให้เสร็จในส่วนที่เป็นอันตราย คือต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ควรมีเวลาสัก 15 วัน ในการดำเนินการ เพื่อทำให้ทุกอย่างปลอดภัย เช่น บริเวณใดที่ก่อสร้างยังไม่ครบขั้นตอน ก็ทำให้ครบ เพื่อทำให้มีโครงสร้างชั่วคราวคงเหลือน้อยที่สุด เพื่อความปลอดภัยเป็นหลัก
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ได้พิจารณาเห็นถึงความไม่ปลอดภัยและผลเสียที่อาจเกิดต่อเนื่องตามมาในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นผลให้อุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ ไม่สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ในทันที แม้เมื่อถึงเวลาที่ภาครัฐอนุญาตให้ทำการก่อสร้างต่อไปได้ เพราะประสบปัญหาที่ต้องมาแก้ไขในทางวิศวกรรมอย่างมาก จึงใคร่ขอเสนอแนวทางเพื่อขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาผ่อนปรน หรือบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ยังคงยึดมั่นและพร้อมปฏิบัติตามแนวทางเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเป็นหลัก โดยแนวทางที่ขอเสนอท่านเพื่อพิจารณามีดังนี้
1.กรณี Camp ที่พักคนงานอยู่ในหน่วยงานก่อสร้าง
-ใช้หลักการ Bubble and Seal (ส่งอาหารและวัสดุที่จำเป็น จากภายนอก)
-ให้ตรวจ Swab คนทำงานในหน่วยงานทั้งหมด 100% โดยในช่วง 14 วัน ตรวจ 2 ครั้ง
-สนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีน
หมายเหตุ : ได้รับแจ้งว่าคนงานบางกลุ่มมีกำหนดฉีดวัคซีนแล้ว แต่หลังมีข้อกำหนดให้ปิดการก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่อนุญาตให้ออกไปฉีดวัคซีน
2.กรณี Camp ที่พักคนงานอยู่ห่างจากหน่วยงานก่อสร้างที่ต้องมีการเดินทาง ไป – กลับ
-กำหนด Bubble and Seal และตรวจ Swab คนงานที่อยู่ในที่พัก และเมื่อคนงานใดได้นัดหมายให้ ฉีดวัคซีน อนุญาตให้ไปตามกำหนดนัดแล้วแยกออกจากบุคคลอื่น
-หากหน่วยงานก่อสร้างมีส่วนของงานที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในด้านวิศวกรรม เช่น การทำชั้นใต้ดินที่มีการขุดดินคงค้าง การทำฐานรากที่คงค้าง การทำท่อลอดใต้ดิน เป็นต้น ขอให้คัดคนงานที่มีจำนวนเพียงพอกับส่วนงานนั้น ๆ เข้าไปดำเนินงานและจัดให้พักในหน่วยงาน ไม่ต้องไป – กลับ และให้ Bubble and Seal หน่วยงาน (มีการจัดส่งอาหารและวัสดุจากภายนอก เข้ายังหน่วยงาน)
3.สำหรับพนักงาน Site office และ safety officer ของหน่วยงาน
-อนุญาตให้เข้าหน่วยงานเพื่อดูแลความปลอดภัยด้านวิศวกรรม
-ผู้ที่เข้าหน่วยงานต้องเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม
สำหรับงานก่อสร้างที่ไม่สามารถหยุดดำเนินการได้เพราะจะส่งผลเสียต่อเนื่องและเป็นอันตราย ทั้งต่อโครงการและสาธารณะนั้น ได้แก่
1.ปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane) ที่กำลังติดตั้ง หรือที่ยังไม่ได้ยึดรั้งให้เกิดเสถียรภาพ
2.งานทำฐานราก งานทดสอบเสาเข็ม งานก่อสร้างชั้นใต้ดิน งานกำแพงกันดิน ที่ทำงานคงค้างไว้ และต้องทำต่อเนื่องจนถึงระดับผิวดินจึงจะมีความปลอดภัย
3.พื้นคอนกรีตอัดแรง (Post Tension) จะต้องดึงลวดอัดแรงเมื่อคอนกรีตได้กำลังตามที่กำหนดไว้ รวมถึงการดูแลการค้ำยันชั่วคราวเพื่อรองรับพื้น
4.งานนั่งร้านค้ำยันชั่วคราว (Temporary Shoring) ต้องจัดการเพิ่มความแข็งแรงและเสถียรภาพ
5.งานดันท่อลอด (Pipe jacking) งานประเภทนี้ไม่ควรให้มีการหยุดดำเนินการเพราะเมื่อหยุดการ ดันท่อลอดเป็นระยะเวลานาน เมื่อกลับมาดำเนินงานต่อจะไม่สามารถดันท่อต่อไปได้ ต้องแก้ไขด้วยการเปิดดินจากด้านบนเป็นวงกว้าง เป็นผลกระทบต่อสาธารณชน ในบางพื้นที่อาจไม่สามารถดำเนินการได้
6.งานก่อสร้างเบ็ดเตล็ดที่ใช้คนทำงานไม่เกิน 15 คน เป็นส่วนงานที่ปริมาณคนไม่มาก สามารถดำเนินการ Bubble and Seal ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ยินดีจัดส่งบุคลากรเพื่อช่วยสนับสนุนเจ้าพนักงานท้องถิ่นและเจ้าพนักงานเขตกรณีต้องพิจารณาเกี่ยวกับงานใดที่ควรทำต่อเนื่องเพื่อความปลอดภัยและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้ยังคงให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคตามที่ภาครัฐได้กำหนดไว้