จากการที่ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ได้โพสต์ข้อความในเพจ “กรณ์ จาติกวณิช – Korn Chatikavanij” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ในการขอทำหน้าที่ในฐานะ “ประชาชนคนหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อน” โดยได้ยื่นขอระงับออกใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดหรู เขตยานนาวา แก่พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ระงับการออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ พร้อมยื่นหนังสือรายชื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ อาทิ ศาสตราจารย์กิตติคุณ เทียนฉาย กีระนันท์, ศาสตราจารย์พิเศษแพทย์หญิง เพ็ญแข ลิ่มศิลา, นายกรณ์ จาติกวณิช, นายประมนต์ สุธีวงศ์ , นายมนตรี ศรไพศาล , ครอบครัวสุจริตกุล, ครอบครัว ณ ระนอง และผู้พักอาศัยอีกกว่า 70 ครัวเรือน โดยต้องการให้ “คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ต้องมีค่ามากกว่ากำไรของเอกชน”
โดยเนื้อหาในจดหมายขอให้ระงับการออกใบอนุญาตก่อสร้าง โครงการ “ควินทารา ซิงค์ เย็นอากาศ” ของบริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) ในซอยประสาทสุข ถนนเย็นอากาศ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ ผล EIA ของกทม.ที่ให้ความเห็นชอบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อ โครงการ “ควินทารา ซิงค์ เย็นอากาศ” ของบริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เป็นการพิจารณาที่ไม่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาจราจรที่ประชาชนได้ชี้แจงไปแล้วหลายรอบ ทั้งเป็นซอยแคบ หน้ากว้างถนนไม่ถึง และใกล้โรงเรียนอีกหลายแห่ง แต่ EIA ของกทม.กลับให้น้ำหนักเอื้อต่อข้อเสนอของบริษัทพัฒนาที่ดิน ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสภาพการจราจรและความเป็นอยู่ของประชาชน ข้อเท็จจริงคือ กทม.อนุมัติให้โครงการนี้ผ่าน EIA ทั้งๆ ที่ถนนหน้าโครงการมีความกว้างตํ่ากว่าเกณฑ์กฎหมายอย่างชัดเจน และขัดกับหลักการวินิจฉัยของศาลปกครองในอดีตที่ความกว้างของถนนต้องเป็นความกว้างที่ “ใช้ได้จริง” ตามเกณฑ์ตลอดเส้นทาง “ผมและเพื่อนบ้านของเรา จึงขอให้ผู้ว่าฯ กทม. ใช้อำนาจปฏิเสธการออกใบอนุญาตก่อสร้าง แต่หากยังมีการดึงดันเดินหน้า เราจะดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายต่อไป ทั้งในศาลปกครอง ศาลแพ่งและศาลอาญา วันนี้ท่านผู้ว่าฯ ได้กรุณารับฟังและรับไปพิจารณาทบทวนข้อเท็จจริง ซึ่งผมได้เน้นว่าการก่อสร้างนอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับผู้อยู่อาศัยเดิม แต่จะเป็นทำให้ประชาชนที่จะมาซื้อโครงการในอนาคตอาจจะต้องรับความเสียหายอย่างมาก ตามที่เพิ่งปรากฎเป็นข่าวในกรณีโครงการในย่านอโศก ความเสียหายนี้หลีกเลี่ยงได้ และไม่ควรเป็นความเสียหายซ้ำซากอยากให้ผู้ว่าฯ กทม. ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ มากกว่าการทำกำไรของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทางผู้ว่าฯ กทม. รับปากว่าจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผลการทำงานของสำนักงานเขตยานนาวา และคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงทบทวนนโยบายการพิจารณาโครงการลักษณะนี้ในทั่วทุกพื้นที่ โดยการยึดหลักความสุขของประชาชนเป็นหลัก ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในการใช้ชีวิตในแต่ละพื้นที่” ทั้งนี้ต้องขอบคุณประชาชนเกือบ 70 ครัวเรือนที่ได้รวมตัวกันเพื่อรักษาสิทธิและคุณภาพชีวิตในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ และหวังว่าทางผู้ประกอบการจะทบทวนนโยบายเพื่อเปลี่ยนรูปแบบของโครงการในลักษณะที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่
ด้าน ดร.ต่อศักดิ์ เลิศศรีสกุลรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ ESTAR เปิดเผยว่า จากประเด็นดังกล่าว เบื้องต้นทาง ESTAR ก่อนที่จะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว รู้สึกมีความกังวลเรื่องความกว้างของเขตทางอยู่เช่นกัน เพราะปกติจะต้องมีการเช็กที่ดินทุกแปลงก่อนทำการซื้อขายอยู่แล้ว จึงได้เข้าไปตรวจสอบ และร้องขอให้ทางสำนักงานเขตมาทำการรังวัดจนได้เอกสารรับรองแล้ว จนมั่นใจว่าสามารถพัฒนาโครงการได้ จึงได้ตกลงซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาเพื่อพัฒนาต่อ
เมื่อซื้อที่ดินมาแล้วเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา จึงได้ได้รับทราบถึงข้อกังวลจากทั้งนายกรณ์ จาติกวณิช และชุมชน จึงได้มีการจัดประชุมไป 2 รอบ ไม่รวมการหารือนอกรอบอีกหลายครั้ง เรื่องประเด็นความกว้างเขตทาง ซึ่งก็ได้มีการทำการรังวัดใหม่ ตรวจสอบใหม่ทั้งหมดอีกรอบ โดยเพิ่มหน่วยงานที่ตรวจสอบเพื่อความมั่นใจ ก็ได้คำตอบยืนยันตามเดิมว่าสามารถดำเนินการพัฒนาโครงการได้
พร้อมกันนั้นเพื่อลดผลกระทบอื่นๆ จึงได้ทำการปรับแบบโครงการ โดยลดจำนวนอาคารพักอาศัย ลดจำนวนห้อง เพิ่มสัดส่วนที่จอดรถ เพื่อลดความห่วงกังวล ว่าจะเป็นสาเหตุปัญหาการจราจรเพิ่ม ในขอบเขตรูปแบบโครงการที่บริษัทฯยังพอทำธุรกิจได้ จนมาถึงขั้นตอนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็ได้มีการพิจารณากันหลายครั้ง ซึ่งทางนายกรณ์ จาติกวณิช และคนในชุมชนบางส่วนก็เข้ามามีส่วนร่วม ได้เข้าพบคณะผู้ชำนาญการด้วยตนเอง ทางกรรมการหรือชุมชนมีข้อห่วงกังวลอะไร บริษัทก็จะดำเนินการและปรับทั้งหมดที่จะดำเนินการได้ ส่วนอะไรที่ไม่ชัดเจนทางฝ่ายกฎหมายบริษัทฯก็พร้อมที่จะทำการตรวจสอบใหม่ทั้งหมด พร้อมขอจดหมายยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหากับชุมชน
“เราเข้าใจเขา เข้าใจชุมชน เราอยากทำธุรกิจกันยาวๆ เราอยากพัฒนาให้ดีขึ้น แต่ก็ยอมรับครับว่าการพัฒนาก็เหมือนศัลยกรรม มันต้องมีผลกระทบบ้างแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯได้มองลึกลงไปว่าปัญหาหลักจริงๆ คือ การจราจร ที่ชุมชนเป็นห่วง เพราะทำเลดังกล่าวเป็นทำเลที่ดีมาก อยู่ใจกลางเมือง และเป็นที่อยู่อาศัยชั้นดี บริษัทฯจึงพยายามระดมสมองทั้งจากภายในบริษัทและผู้เชี่ยวชาญภายนอก เพื่อหาทางแก้ไขให้ตรงจุด และเสนอมาตรการต่างๆที่พอทำได้ ภายใต้การร่วมมือของชุมชน ดังนี้
1.เสนอตัดแบ่งที่ดินบางส่วนด้านหน้าโครงการให้เกิดการสัญจรสวนกันบริเวณหัวโค้งได้สะดวกขึ้น และทำเป็นสวน ให้ทัศนียภาพในซอยตรงนั้นดูสวยงาม ร่มรื่น
2.เสนอจะปรับปรุงสภาพถนน มีการตีเส้นจราจรเพื่อความปลอดภัย ตีเส้นห้ามจอด หรืออะไรก็แล้วแต่เพื่อให้การไหลของจราจรในซอยสะดวกขึ้น โดยจะดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและการยอมรับของชุมชน เพราะบริษัทฯจะดำเนินการโดยพลการไม่ได้
3.เสนอทำแอปพลิเคชั่นช่วยเรื่องการรับส่งนักเรียน ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาหลักของซอยดังกล่าว ไปถึงการหารือกับสถานีตำรวจว่าบริษัทฯจะสามารถช่วยเรื่องการจราจรได้อย่างไรบ้าง
จนแม้กระทั่ง โครงการผ่านการพิจารณาจาก EIA แล้ว บริษัทฯก็ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างสร้างโครงการทันที เพราะต้องการให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจมากที่สุด ค่อยๆสร้างความเข้าใจกับชุมชน และพร้อมจะดำเนินการในสิ่งที่ทำให้สภาพแวดล้อมโดยรวมดีขึ้น หรือปัญหาที่เคยมีบรรเทาลงไป พร้อมกับการพัฒนาเมืองและชุมชน ที่คงจะต้องเกิดขึ้น ไม่ช้าก็เร็ว ซึ่งตนและทีมงานทุกคน เชื่อมั่นว่าบริษัทฯและชุมชน น่าจะมีทางออกที่ดีร่วมกันได้
“ขณะนี้ทางผู้บริหารและทีมทำงานของ ESTAR กำลังเร่งจัดเตรียมรายละเอียด เพื่อชี้แจงต่อทุกภาคส่วนต่อไปโดยเร็วที่สุด โดยยึดถือหลักการว่า ทางโครงการจะพยายามทำทุกอย่าง อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่ายต่อไป”