ลูกบ้านแอชตันอโศกรวมพลังปกป้องสิทธิตั้ง “ทีมกฎหมาย”สู้

You are currently viewing ลูกบ้านแอชตันอโศกรวมพลังปกป้องสิทธิตั้ง “ทีมกฎหมาย”สู้

ผ่านมา1สัปดาห์กว่าแล้วแต่ยังไม่มีความชัดเจนใดๆให้กับลูกบ้านแอนตัน อโศกได้อุ่นใจหรือคลายความกังวล หลังจากศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ส. 53/2559 คดีหมายเลขแดงที่ ส. 19/2564 ให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคารโดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ และมาตรา 39 ตรี แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือแจ้งความประสงค์ดังกล่าวทุกฉบับ

ในวันนี้กลุ่มลูกบ้านแอชตันได้จัดตั้งทีมกฎหมายและคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อทำงานร่วมกับบริษัทอนันดาฯ ในการร่วมกันหาแนวทางในการเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับโครงการแอชตัน อโศกที่ซื้อห้องชุดดังกล่าวมาโดยสุจริตแต่กลับได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

“ก่อนที่พวกเราจะตัดสินใจซื้อห้องชุดของโครงการแอชตัน อโศกก็ได้มีการเช็คข้อมูลรอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องใบอนุญาตจาก EIA ที่ถือว่าใช้เวลาในการพิจารณาค่อนข้างนานและมีผู้พิจารณาหลายคน ซึ่งโครงการนี้ก็ได้ผ่านการ Approved จาก EIA เรียบร้อย และตอนที่ยื่นกู้ลูกบ้านก็ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินมาเรียบร้อย แต่จนถึงวันนี้ลูกบ้านกลับต้องมาได้รับผลกระทบจากคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ทั้งที่ลูกบ้านไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น”

สำหรับปัญหาระยะสั้นที่เกิดขึ้นกับลูกบ้านในตอนนี้ คือ  ลูกบ้านหลายรายได้ยื่นขอรีไฟแนนซ์สินเชื่อกับสถาบันการเงินหลายแห่ง แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธการให้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน ด้วยเหตุผลที่ว่าหลักประกันไม่มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์ของผู้พัฒนาโครงการ

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการซื้อขายห้องชุด เนื่องจากผู้จะซื้อห้องชุดต่อจากเจ้าของห้องชุดเดิมมีความกังวลเรื่องกรรมสิทธิ์ของห้องชุดในโครงการ ทำให้ผู้จะซื้อบางรายได้ตัดสินใจยกเลิกสัญญาเพราะไม่มั่นใจในกรรมสิทธิ์ห้องชุด

เสียงสะท้อนจากลูกบ้านโครงการ Ashton Asoke

ดังนั้นกลุ่มลูกบ้านแอซตัน อโศกจึงได้รวมตัวกันเรียกร้องให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งบริษัทอนันดาฯและหน่วยงานราชการดำเนินการแก้ไขเยียวยาในสิ่งที่ลูกบ้านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจำนวน 3 ข้อ คือ

1.ขอให้กลุ่มอนันดาฯและสถาบันการเงินช่วยเหลือในการพิจารณาคำขอรีไฟแนนซ์ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสถาบันการเงินโดยเร่งด่วน

ล่าสุดทางบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันมีลูกบ้านแอชตัน อโศกประมาณ 348 ครอบครัวที่ใช้สินเชื่อที่อยู่อาศัยจาก 9 สถาบันการเงิน มีมูลค่ารวมเกือบ 3,000 ล้านบาท ประกอบด้วยธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรี ธนาคารยูโอบี ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน

โดยบริษัทได้หารือกับธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อดังกล่าว เพื่อเร่งออกมาตรการช่วยเหลือลูกบ้านทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการช่วยเหลือสำหรับลูกค้าที่จะทำการ Retention กับสถาบันการเงินเดิมจะมีการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยพิเศษให้กับลูกค้า

2.ขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตก่อสร้างหรือกฎหมายควบคุมอาคารพิจารณาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่สืบเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารที่ไม่สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน โดยให้เสนอมีการแก้ไขกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการพัฒนาตามความเจริญของชุมชนเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อป้องกันไม่ให้โครงการคอนโดมิเนียมที่อยู่ในแนวรถไฟฟ้าใต้ดินกว่า 100 โครงการที่มีความสูงตั้งแต่ 8 ชั้นขึ้นไปได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับโครงการของแอชตัน อโศก

3.ขอให้คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคและคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในสภาผู้แทนราษฎรทำการพิจารณาศึกษาปัญหาและอุปสรรคอันสืบเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารที่ไม่สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และเสนอแนวทางเยียวยาแก่กลุ่มลูกบ้านชาวแอซตันอโศกที่ได้รับผลกระทบ

“ปัญหาที่ลูกบ้านมีความกังวลในตอนนี้คือ การผ่อนเงินกู้กับสถาบันการเงินที่ใช้เวลาอย่างน้อย 20-30ปีจะเป็นการสูญเงินก้อนไปรึเปล่า หากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ต้องทุบตึกทิ้ง และเงินค่าส่วนกลางที่ลูกบ้านจ่ายไปจะเพียงพอกับการแก้ไขกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในตอนนี้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาลูกบ้านไม่ได้รับทราบถึงความคืบหน้าของคดีความที่เกิดขึ้น จนกระทั่งมีข่าวออกมาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา  ลูกบ้านจึงได้รวมตัวกันว่าจ้างที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายเพื่อเป็นตัวแทนในการเข้าไปรับฟังปัญหาและเป็นปากเสียงแทนลูกบ้าน”

 ทั้งนี้หากถึงที่สุดแล้วศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ต้องทุบอาคารแอชตัน อโศก ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบแทนลูกบ้าน หน่วยงานของภาครัฐหรือทางบริษัทอนันดาฯ เพราะบริษัทที่ลูกบ้านทำธุรกิจซื้อขายด้วยคือ บริษัทอนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ที่เป็นบริษัทลูกของอนันดาฯ หากอนาคตบริษัทนี้ปิดกิจการไป ใครจะต้องยื่นมือเข้ามาเยียวยาลูกบ้าน”

โครงการแอซตัน อโศก  เป็นคอนโดมิเนียมสูง 50 ชั้น ตั้งอยู่บนถนนอโศกมนตรี มีจำนวนห้องชุดทั้งหมด783 ยูนิต มูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างกลุ่มอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์กับกลุ่มมิตซุยฟูโดซัง จากประเทศญี่ปุ่น โดยก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มทยอยโอนห้องชุดให้กับลูกค้าไปเมื่อช่วงกลางปี 2561 ที่ผ่านมาปัจจุบันมีลูกคค้ารับโอนห้องชุดไปแล้ว 666 ยูนิตจำนวน 578 ครอบครัว แบ่งงเป็นคนไทย 438 ครอบครัว และชาวต่างชาติอีก 140 ครอบครัวจาก 20 ประเทศ

อ่านข่าวเกี่ยวกับโครงการ ASHTON ASOKE เพิ่มเติม

ลุ้นชะตากรรมลูกบ้าน“แอชตัน อโศก”หลังศาลปกครองสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง

“อนันดา”สู้คดีจ่อยื่นอุทธรณ์ภายใน30วันช่วยลูกบ้าน “แอชตัน อโศก”

เปิดมุมมองสมาคมสถาปนิกสยามฯประเด็น”แอชตัน อโศก”