การกลับมาเปิดไซต์งานก่อสร้างในกรุงเทพมหานครและอีกหลายจังหวัดอาจจะดูเหมือนไม่ค่อยคึกคักหรือมีกิจกรรมอะไรมากมายแบบก่อนหน้านี้ เพราะว่าบางไซต์ก่อสร้างหรือว่าบางที่พักคนงานยังคงอยู่ในช่วงของการกักตัวหรือเฝ้าระวังการติดเชื้อเพิ่มเติมอยู่ยังไม่สามารถเริ่มการก่อสร้างได้แบบที่ตั้งใจ นอกจากนี้การที่เกิดปัญหาในเรื่องของการสั่งปิดไซต์งานก่อสร้างและที่พักคนงานในช่วงปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลให้คนงานก่อสร้างบางส่วนเลือกที่จะเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดหรือไปหางานทำที่จังหวัดอื่นๆ ที่ไม่โดนสั่งปิดไซต์งานก่อสร้าง เพราะคนงานส่วนใหญ่ยังคงต้องการรายได้และมีรายจ่ายทีชัดเจนอยู่แล้วไม่สามารถหยุดงานได้แบบที่รัฐบาลต้องการ
การกลับมาเปิดไซต์งานก่อสร้างยังคงมีปัญหาใหญ่อีก 1 ปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอดในช่วงปีกว่าๆ – 2 ปีที่ผ่านมา คือ เรื่องของการขาดแคลนคนงานก่อสร้าง เนื่องจากว่าก่อนหน้านี้มีการปิดช่องทางผ่านแดนตามแนวชายแดนทุกๆ ช่องทาง ซึ่งมีผลให้การนำเข้าแรงงานต่างชาติติดปัญหา อีกทั้งแรงงานก่อสร้างที่เป็นคนไทยก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ซึ่งมีกิจกรรมการก่อสร้างต่อเนื่องทั้งโครงการของรัฐบาลและเอกชน
ภาคการก่อสร้างหลายๆ ฝ่ายทั้งเอกชนและราชการพยายามผลักดันให้รัฐบาลแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างชาติมาโดยตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ที่มีการอนุมัติให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะชาวเมียนมา ลาว และกัมพูชามาได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 59 และ 63/2 ก่อนที่จะมีการอนุมัติผ่านมติคณะรัฐมนตรีอีกครั้งเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทยแบบถูกต้องตามกฎหมาย ยังไม่รวมชนกลุ่มน้อยอีกบางส่วนที่เข้ามาทำงานตามมาตรา 63/1 ซึ่งเรื่องการแก้ปัญหานี้รัฐบาลและหน่วยงานี่เกี่ยวข้องพยายามช่วยเหลือบริษัทเอกชนที่ต้องการแรงงานต่างด้าวเพื่อทดแทนแรงงานชาวไทยที่ลดลงและไม่ทำงานที่ใช้แรงงานหรืองานหนัก
ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน พบว่าจำนวนแรงงานต่างด้าวแบบถูกกฎหมายที่เป็นคนจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศคือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งเป็น 3 แรงงานหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานในประเทศไทย นอกเหนือจากแรงงานคนไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 อยู่ที่รวมกัน 2.169 ล้านคนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 91% ของจำนวนแรงงานต่างด้าวแบบถูกกฎหมายที่มีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย
ซึ่งจากสถิติที่รวบรวมมาพบว่า จำนวนแรงงานต่างด้าวของ 3 สัญชาติดังกล่าว ลดลงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ก่อนที่รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือโดยผ่านมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวจาก 3 ประเทศดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยได้เพิ่มเติมมากขึ้น แต่จำนวนก็ยังคงไม่เทียบเท่าตอนก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 เพราะจำนวนของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติดังกล่าว ณ สิ้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 มีจำนวนรวมกันที่ประมาณ 2.169 ล้านคนยังคงน้อยกว่าตอนสิ้นปีพ.ศ. 2562 อยู่ 6.3 แสนคน ซึ่งแน่นอนว่ามีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลายๆ อย่างในประเทศไทย แม้ว่าจะมีโรงงานหรือกิจการจำนวนไม่น้อยที่ปิดกิจการไปในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา แต่บางอุตสาหกรรมยังคงเดินหน้าอยู่ เช่น อุตสาหกรรมหรือกิจการก่อสร้าง
แรงงานในกิจการก่อสร้างส่วนหนึ่งเป็นชาวต่างชาติจาก 3 ประเทศ คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งแน่นอนว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 แบบชัดเจน โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา เพราะการปิดด่านชายแดนและการกักตัวเมื่อเดินทางเข้ามาในประเทศไทย รวมไปถึงการจ้างงานต่างๆ ซึ่งมีปัญหาแน่นอน
แม้ว่ารัฐบาลพยายามช่วยเหลือผ่านมาตรการที่อนุมัติมติคณะรัฐมนตรีในการนำเข้าแรงงานจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทย แต่จำนวนแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมหรือกิจการก่อสร้างจาก 3 ประเทศ ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 อยู่ที่ประมาณ 440,968 คนยังคงน้อยกว่าตอนสิ้นปี พ.ศ. 2562 ประมาณ 21% หรือลดน้อยลงไป 118,650 คน ซึ่งมีผลต่อกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างในประเทศไทยแน่นอน ยังไม่นับการที่แรงงานก่อสร้างคนไทยที่ทำงานในกรุงเทพมหานครหรือในจังหวัดใหญ่ๆ ซึ่งเลือกที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อป้องกันตัวเองจากโควิด-19
ดังนั้นบริษัทผู้รับเหมาที่ยังคงต้องดำเนินกิจการก่อสร้างต่อเนื่องเพราะรับงานไว้แล้ว และงานก่อสร้างทุกงานนั้นมีกำหนดการที่ชัดเจนอีกทั้งไม่สามารถผัดผ่อนหรือเลื่อนกำหนดส่งมอบงานออกไปได้ ยกเว้นมีเหตุผลที่เพียงพอซึ่งเรื่องของการปิดไซต์งานก่อสร้างก็อาจจะเป็นเหตุผลในการส่งมอบงานล่าช้า แต่ก็ยืดระยะเวลาออกไปได้ไม่นานเพราะปิดไซต์ก่อสร้างไม่ถึง 1 เดือน การขาดแคลนแรงงานก่อสร้างไม่ใช่เหตุผลที่สามารถใช้เจรจายืดระยะเวลากำหนดแล้วเสร็จออกไปจากเดิม
บริษัทก่อสร้างต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการเจรจากับผู้ว่าจ้างโครงการซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อเลือกเพียงบางโครงการที่มีความจำเป็นต้องให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนดก่อนจะเริ่มการก่อสร้างโครงการใหม่ เพราะผู้พัฒนาที่เป็นเจ้าของโครงการมีกำหนดแล้วเสร็จของแต่ละโครงการอยู่แล้ว โดยโครงการที่จำเป็นต้องมีการระดมคนงานเพื่อเร่งให้แล้วเสร็จก่อนโครงการอื่นๆ คือ โครงการที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2564 หรือในช่วงต้นปี พ.ศ. 2565
เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการเงินที่ได้จากการโอนกรรมสิทธิ์มาหมุนเวียนในองค์กร โครงการที่ยังไม่เริ่มการก่อสร้างหรือมีกำหนดแล้วเสร็จนานกว่าที่ระบุก็อาจจะส่งคนงานไปไม่มาก ไม่ต้องเร่งงานมากทำไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาค่อยระดมคนงานไปช่วยทีหลัง ซึ่งได้ผลดีทั้งในมุมของบริษัทก่อสร้าง และฝั่งของผู้พัฒนาเจ้าของโครงการ เนื่องจากจำนวนคนงานที่บริษัทก่อสร้างมีในตอนนี้มีไม่มากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ การสรรหาแรงงงานเข้ามาเพิ่มเติมก็ยังทำได้ไม่เต็มที่
ทุกบริษัทพยายามรักษาแรงงานหรือคนงานภายใต้บริษัทของตนเองให้ยังคงทำงานต่อเนื่องไปให้ได้ยาวนานขึ้น แม้ว่าจะเริ่มมีการจ่ายค่าแรงมากขึ้น หรือมีการอาศัยความสัมพันธ์ในกลุ่มคนงานมาดึงแรงงานบ้างแล้ว แต่ยังไม่มากนัก เพราะแรงงานเหล่านี้มีหัวหน้าหรือคนที่เป็นเสมือนหัวหน้าคอยควบคุมกันเอง บางโครงการที่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานก็เริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้น แต่เป็นการทดแทนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เช่น การใช้ Precast หรือแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป โครงสร้างสำเร็จรูป หรือห้องน้ำสำเร็จรูป แต่สุดท้ายแล้วก็ยังคงต้องอาศัยแรงงานคนในการประกอบและติดตั้ง
การก่อสร้างล่าช้าอาจจะมีผลต่อการโอนกรรมสิทธิ์โครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ ไม่มากนัก เพราะการจะโอนกรรมสิทธิ์ได้นั้นไม่ได้อยู่ที่การก่อสร้างเพียงอย่างเดียว ต้องอยู่ที่มีการซื้อขายกันด้วย ซึ่งในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศไทยชะลอตัวรุนแรงแบบทีเห็นกันมาในช่วง 2 – 3 ปีก็ชัดเจนว่าการโอนกรรมสิทธิ์ในปีพ.ศ.2564 คงไม่เทียบเท่าปีที่ผ่านมาหรือปีก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการบางรายเลือกที่จะลดเว้นการเปิดขายโครงการใหม่ในช่วงปีพ.ศ.2564 แต่เน้นไปที่การโอนกรรมสิทธิ์รวมไปถึงการหาธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเสริมหรือขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจของตนเองให้กว้างกว่าที่เคยทำมาในอดีต เพื่อความยั่งยืนและต่อเนื่องของกิจการในอนาคตซึ่งไม่สามารถพึ่งพารายได้จากเพียง 1 ช่องทางได้อีกแล้ว