รัฐคุมเข้มแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

  • Post author:
You are currently viewing รัฐคุมเข้มแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีวาระในการประชุมจำนวน 35 เรื่อง หนึ่งในนั้นเป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในข้อ 15 เรื่อง การบริหาจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้

1. คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อนายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐาน หากเอกสารครบถ้วนนายทะเบียนจะพิจารณาอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยออกใบอนุญาตทำงานให้กับคนต่างด้าว จากนั้นต้องมีการประกันสุขภาพ ตรวจสุขภาพ และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 เพื่อไปดำเนินการขอรับการตรวจลงตราและตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ซึ่งจะได้รับรับการตรวจลงตราและตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566

ทั้งนี้ ในการประกันสุขภาพของคนต่างด้าวดังกล่าว สามารถประกันสุขภาพได้กับโรงพยาบาลตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัยในประเทศตามแนวทางที่กระทรวงแรงงานกำหนด
โดยการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1.1 กระทรวงมหาดไทย ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ดังนี้

1) อนุญาตให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางานอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 เพื่อขอรับการตรวจลงตราและตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

2) อนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตรวจลงตราและตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ทั้งนี้ ให้คนต่างด้าวดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565

3) คนต่างด้าวสามารถทำงานได้ทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของนายจ้าง โดยการเคลื่อนย้ายดังกล่าวให้เป็นไปตามแนวทางมาตรการควบคุมโรคซึ่งแต่ละจังหวัดและกรุงเทพมหานครกำหนด

4) มิให้นำมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 มาใช้บังคับแก่คนต่างด้าวดังกล่าวถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 รวมถึงกำหนดการสิ้นผลของการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งทำงานในสถานประกอบการ โรงงาน หรืองานก่อสร้าง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ …………………………………………..

1.2 กระทรวงแรงงาน ออกประกาศกระทรวงแรงงาน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดำเนินการ ดังนี้

1) การเข้าไปตรวจ สถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขแก่นายจ้างและคนต่างด้าว โดยมีระยะเวลาดำเนินการดังกล่าว 30 วัน ทั้งนี้ เริ่มดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ

2) เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงานและสถานที่ทำงานดังกล่าว หากพบคนต่างด้าวที่อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้นายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ รวมทั้ง ชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน และเมื่อนายทะเบียนตรวจสอบคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว รวมทั้งเอกสารหรือหลักฐานว่าถูกต้องและครบถ้วนให้นายทะเบียนออกใบขออนุญาตทำงานให้กับคนต่างด้าวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางที่กรมการจัดหางานกำหนด ทั้งนี้ คนต่างด้าวมีสิทธิทำงานกับนายจ้างได้ทุกประเภทงานที่มิได้มีประกาศห้ามคนต่างด้าวทำโดยให้นำประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ลงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563 และประกาศกรมการจัดหางาน เรื่อง เงื่อนไขการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานกรรมกรและงานขายของหน้าร้านกับนายจ้าง ลงวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม และสามารถทำงานได้ทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของนายจ้าง โดยการเคลื่อนย้ายดังกล่าวให้เป็นไปตามแนวทางมาตรการควบคุมโรคซึ่งแต่ละจังหวัดและกรุงเทพมหานครกำหนด

3) มิให้นำมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาใช้บังคับแก่นายจ้างและคนต่างด้าว ที่นายจ้างได้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ภายในระยะเวลาที่กำหนด
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งทำงานในสถานประกอบการโรงงาน หรืองานก่อสร้าง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ………………………………………

1.3 กระทรวงสาธารณสุข และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ดำเนินการตรวจโรคต้องห้ามตามกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนต่างด้าวที่จะขอรับใบอนุญาตทำงาน พ.ศ. 2563 และขายประกันสุขภาพ ให้กับคนต่างด้าวที่ทำงานกับนายจ้างในกิจการที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมและคนต่างด้าวที่อยู่ระหว่างการเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยให้ซื้อประกันสุขภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เว้นแต่คนต่างด้าวที่อยู่ระหว่างการเข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งผ่านการตรวจโรคต้องห้ามฯ ที่ได้ซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย เป็นระยะเวลา 4 เดือนแล้ว โดยอัตราเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทประกันภัย

1.4 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการดังนี้

1) จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลต่างด้าว ที่กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565

2) ตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565

1.5 กรมการปกครอง และกรุงเทพมหานคร จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริหารการทะเบียนภาคสาขาจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่กรมการปกครองกำหนด

2. คนต่างด้าวที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

2.1 กระทรวงมหาดไทย ปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 และที่เกี่ยวข้อง โดยอนุญาตให้คนต่างด้าวที่นายจ้างได้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว (บต. 48) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานคนต่างด้าว ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 (ฉบับที่ ..)

2.2 กระทรวงแรงงาน ออกประกาศปรับปรุงแก้ไข ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564 และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

1) กรมการจัดหางานพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานให้กับคนต่างด้าวที่นายจ้างได้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว (บต. 48) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานคนต่างด้าว ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 และในระหว่างที่ยังมิได้รับใบอนุญาตทำงานให้คนต่างด้าวใช้ใบเสร็จรับเงินและใบรับคำขอดังกล่าวเสมือนใบอนุญาตทำงาน เพื่อเป็นหลักฐานแทนใบอนุญาตทำงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงาน ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

2) ให้กรมการจัดหางานมีอำนาจกำหนดเวลาการดำเนินการแต่ละขั้นตอนได้ตามที่เห็นสมควรไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2564 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งกำหนดการดำเนินการอื่นที่จำเป็น เพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไปหรือเฉพาะกรณี
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 (ฉบับที่ ..)

3. หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าว ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงและฝ่ายปกครอง ดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมดำเนินคดี คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด