บิ๊กพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟคฯ เผยแคมเปญ “ไทยเที่ยวไทย” ยังไม่ใช่ยาแรงดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ แนะแก้ปัญหาลดซัพพลายก่อสร้างโรงแรมใหม่ออกไปอย่างน้อย 2-3 ปี ล่าสุดตัดขายโรงแรม 1 แห่งให้นายทุนใหม่ พร้อมแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯพ.ย.นี้ หวังนำเม็ดเงินชำระหนี้สถาบันการเงิน–กำกระแสเงินสดผุดโครงการอนาคต ระบุปีหน้าจ่อนำสินทรัพย์เร่ขายอีกต่อเนื่อง เพิ่มสภาพคล่องบริษัท ปี65 จ่อผุด 14 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 19,400 ล้านบาท ตั้งเป้ากวาดยอดขาย–รายได้ปีหน้าแตะ 15,000 ล้านบาท
นายศานิต อรรถญาณสกุล ประธานกรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองประธานกรรมการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ภาครัฐประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งประเมินว่า การท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัวได้ตั้งแต่กลางปี 2565 ซึ่งอัตราการเข้าพักน่าจะปรับตัวมากขึ้นในอัตรา 50-60% เมื่อเทียบกับปี 2562 แต่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนประมาณต้นปี 2566 เนื่องจากแม้ประเทศไทยจะมีการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีในการปรับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่ประชาชนชาวจีนกว่าจะได้รับการฉีดวัคซีน mRNA คงต้องใช้เวลา ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนยังไม่ได้เข้ามาเต็มที่
ในส่วนของบริษัทฯเองนั้นคงต้องหาวิธีการใหม่ๆมากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องรอให้มีความพร้อมก่อน เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 สาหัสมาก ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่มีส่วนสำคัญต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ประมาณ 20% ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งรัดการแก้ไขกลุ่มท่องเที่ยวให้เร็วที่สุด เนื่องจากมีกลุ่มคนที่ทำงานในธุรกิจโรงแรมกระจายตัวค่อนข้างมาก การจะใช้แคมเปญ “ไทยเที่ยวไทย” คิดว่ายังไม่แรงพอ เพราะปีนี้นักท่องเที่ยวยังเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยไม่ถึง 10 ล้านคน ดังนั้นควรแก้ปํญหาที่ซัพพลาย ด้วยการให้ชะลอการก่อสร้างโรงแรมใหม่ๆ ออกไปก่อนอย่างน้อย 2-3 ปี ซึ่งภาคสถาบันการเงินอาจจะชะลอการปล่อยสินเชื่้อโครงการออกไป เนื่องจากซัพพลายยังมีจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามในส่วนระยะเวลาอีกเกือบ 2 เดือน ของปี 2564 นั้น ทางบริษัทฯได้เตรียมรับมือกับสภาวะตลาดอสังหาฯที่ยังชะลอตัว ด้วยการตัดขายสินทรัพย์บางส่วนออกไป ได้เตรียมที่จะขายโรงแรม 1 แห่ง ให้กับนักลงทุนรายใหม่ ซึ่งขณะนี้ ตกลงในรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากยังไม่ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าจะจบดีลทั้งหมดได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ เพื่อเร่งสร้างรายได้ในอนาคต โดยเม็ดเงินส่วนหนึ่งจะนำไปชำระหนี้กับสถาบันการเงินและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต่อไป และในปี 2565 ทางบริษัทฯยังคงมีแผนที่จะขายสินทรัพย์อีกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการบริหารสภาพคล่องให้กับบริษัทฯ
นายศานิต กล่าวเพิ่มเติมถึงภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 ว่า ที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ยังไม่มีปัญหา ยังมีการเติบโตในกลุ่มระดับราคากลางถึงบน ตั้งแต่ราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากพฤติกรรมความต้องการที่เปลี่ยนไป ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง จะเติบโตช้า เพราะประสบปัญหามีภาพหลอนจากมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value : LTV) และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากถูกตัดเงินเดือน จะมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ ขณะที่กลุ่มคอนโดมิเนียมคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากลูกค้าต่างชาติจะกลับมาซื้อโครงการคอนโดฯน่าจะประมาณครึ่งหลังของปี 2565
ด้านนายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ PF กล่าวว่า ในปี 2565 บริษัทมีแผนเปิดตัวใหม่ จำนวน 14 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 19,400 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการแนวราบที่บริษัทเป็นผู้พัฒนาเอง จำนวน 12 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 14,800 ล้านบาท และเป็นโครงการแนวราบที่ร่วมทุนกับพันธมิตร (JV) จำนวน 2 โครงการ มูลค่าโครงการประมาณ 4,600 ล้านบาท
“ปัจจัยบวกที่จะเข้ามาหนุนผลการดำเนินงานในปี 2565 ให้เติบโต และเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คือสถานการณ์ของโควิด-19 ที่คลี่คลาย ประกอบกับการผ่อนคลายสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับ LTV สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็น 100% ถึงสิ้นปี 2565 จะทำให้กำลังซื้อของลูกค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง” นายวงศกรณ์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2565 จะเติบโตขึ้นจากปี 2564 โดยตั้งเป้าหมายรายได้ และยอดขาย (Presale) ในปี 2565 ไว้ที่ระดับ 15,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2564 ที่คาดจะมีรายได้ที่ระดับ 12,000-13,000 ล้านบาท จากการทยอยรับรู้ยอดขายรอโอน (Backlog) อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมียอด Backlog ในมือมูลค่ารวมประมาณ 2,700 ล้านบาท จะทยอยรับรู้ต่อเนื่องถึงปี 2565 โดย Backlog ทั้งหทด แบ่งเป็น ยอด Backlog จากโครงการแนวราบที่บริษัทพัฒนาเอง จำนวน 1,500 ล้านบาท, เป็นยอด Backlog จากโครงการคอนโดมิเนียม จำนวน 500 ล้านบาท และเป็นยอด Backlog จากโครงการร่วมทุน (JV) จำนวน 700 ล้านบาท
ล่าสุดได้จับมือ 7 องค์กร ร่วมสร้าง “ถนนหอการค้าไทย” ให้เป็นถนนสีเขียว มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต มีระยะทาง 4 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างถ.ชัยพฤกษ์และถ.สะพานนนทบุรี-บางบัวทอง ซึ่งถนนดังกล่าวมีพื้นที่สำหรับพัฒนาโครงการรวม 1,226 ไร่ ปัจจุบันเติบโตเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีโครงการที่อยู่อาศัย สถาบันการศึกษา โรงเรียนนานาชาติ ศูนย์การค้าชุมชน ธุรกิจร้านค้าต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย อีกทั้งยังมีพื้นที่รอการพัฒนาและมีศักยภาพที่จะขยายตัวต่อเนื่องในอนาคต จากการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ บริษัทจึงมีแนวคิดที่จะผลักดันให้ถนนหอการค้าไทย เป็นถนนที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
“เราได้ร่วมมือกับองค์กรชั้นนำเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดบนถนนหอการค้าไทย โดยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เริ่มจากการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้สะดวก ด้วยการตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าบนพื้นที่ส่วนกลางและบริเวณชุมชน มีการติดตั้ง EV Charger Home Box ให้กับบ้านเดี่ยวทุกโครงการทุกระดับราคา มีการศึกษาถึงการให้บริการ EV Bus และตู้สลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อให้บริการในชุมชน ตลอดจนยังได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจที่ตั้งอยู่บนถนนนี้ ที่มีแนวทางการดำเนินงานในแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจะติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในศูนย์ราชการนนทบุรี เพื่อจุดประกายให้คนหันมาสนใจการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น” นายวงศกรณ์ กล่าวในที่สุด