ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯเผยข้อมูลตลาดอสังหาฯ3จังหวัดเขตเมือง EEC ช่วง9 เดือนที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เต็มๆ ส่งผลให้อุปทานและอุปสงค์ของตลาดที่อยู่อาศัยหดตัวแรง โครงการที่่ขอออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินลดลงถึง -31.3% ส่วนการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่ลดลงเหลือ 4,913 ยูนิต และอาคารชุดมือสองจำนวน 2,223 ยูนิต
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัด EEC ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาว่า อุปทานและอุปสงค์ของตลาดที่อยู่อาศัยหดตัวลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินลดลงทั้งจำนวนโครงการถึง -31.3% และจำนวนหน่วย -34.6% ส่วนการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.1% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และรัฐบาลมีการควบคุมการดำเนินธุรกิจบางประเภท รวมถึงจำกัดการเดินทางเข้า-ออกในบางจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) และมีการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19
แต่ยังมีปัจจัยบวกจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดที่อยู่ในระดับต่ำมาก รวมถึงรัฐบาลได้ขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทไปจนถึงสิ้นปี 2565 และลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเหลือร้อยละ 10
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากนโยบายของธนาคารแห่งประเทศที่ได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีส่วนทำให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในจังหวัด EEC ลดลงไม่รุนแรง
ดังนั้นศูนย์ข้อมูลฯ คาดการณ์ว่าในปี 2564 สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC ในด้านการขอใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน จะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วง -16%ถึง-31.3% และการขอใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยจะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วง -9.1% ถึง 11.2%
ส่วนด้านอุปสงค์ในปีนี้ คาดว่าหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วง -14.8%ถึง -30.3% ขณะที่จำนวนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยคาดว่าจะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วง -0.1%ถึง -18.3% เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยต่อหน่วยปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563
โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 มีโครงการที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินจากกรมที่ดินจำนวน 28 โครงการ 2,575 ยูนิต ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งมี 52 โครงการ 6,358 ยูนิต โดยเฉพาะจำนวนหน่วยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินลดลง -59.5% ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปีนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งมีจำนวน 4,043 ยูนิต
ขณะที่ใน 9 เดือนแรกของปี 2564 มีโครงการที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินจากกรมที่ดินจำนวน 99 โครงการ 9,665 ยูนิต ลดลงทั้งจำนวนโครงการและจำนวนหน่วย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ซึ่งมี 144 โครงการ 14,767 ยูนิต
โดยในจำนวนที่อยู่อาศัย 9,665 ยูนิต ส่วนใหญ่ออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินเป็นทาวน์เฮ้าส์มากที่สุด จำนวน 4,872 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 50.4% ของจำนวนการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั้งหมด แต่ลดลง -37.4% รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยวจำนวน 2,425 ยูนิต และบ้านแฝดจำนวน 2,234 ยูนิต ที่เหลือเป็นอาคารพาณิชย์ และที่ดินจัดสรร
ด้านการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยใน 9 เดือนแรก ทั้งบ้านที่ประชาชนสร้างเอง บ้านในโครงการจัดสรร และอาคารชุด มีจำนวนประมาณ 25,411 ยูนิต เพิ่มขึ้น 9.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 แบ่งออกเป็นการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบประมาณ 20,269 ยูนิต และอาคารชุดประมาณ 5,142 ยูนิต
ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน3ล้านครองแชมป์สูงสุด
สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประเภทบ้านแนวราบใน 9 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า เป็นการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่หรือบ้านสร้างใหม่ที่โอนจากนิติบุคคลจำนวน 9,119 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 24,291 ล้านบาท และการโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสองจำนวน 10,084 ยูนิต มูลค่า 21,240 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่ต่อที่อยู่อาศัยมือสองใน 9 เดือนเท่ากับ 47 : 53 ขณะที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ของบ้านสร้างใหม่ต่อบ้านมือสองมีสัดส่วน 53:47
ในจำนวนหน่วยนี้เมื่อจำแนกตามระดับราคา พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในระดับราคา 2.01 – 3ล้านบาทมากที่สุด มีจำนวน 7,027 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 36.6% ของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์แนวราบทั้งหมด โดยแบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่จำนวน 3,992 ยูนิต บ้านมือสองจำนวน 3,035 ยูนิต รองลงเป็นบ้านระดับราคา 1.51 – 2 ล้านบาท มีจำนวน 4,581 ยูนิต คิดเป็น 23.9% โดยแบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่จำนวน 2,203 หน่วย บ้านมือสองจำนวน 2,378 หน่วย และเป็นระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท มีจำนวน 2,649 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.8 โดยแบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่จำนวน 1,740 หน่วย บ้านมือสองจำนวน 909 หน่วย ตามลำดับ
ส่วนการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดใน 9 เดือนแรก เป็นการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่จำนวน 4,913 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 11,311 ล้านบาท และโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดมือสองจำนวน 2,223 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 4,353 ล้านบาท
ทั้งนี้หากจำแนกตามระดับราคา พบว่าส่วนใหญ่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในระดับดับราคา 1.51 – 2 ล้านบาทมากที่สุดจำนวน 2,228 ยูนิต แบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่จำนวน 1,860 ยูนิต อาคารชุดมือสองจำนวน 368 ยูนิต รองลงเป็นระดับราคา 2.01 – 3 ล้านบาทมีจำนวน 1,490 ยูนิต แบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่จำนวน 1,095 ยูนิต อาคารชุดมือสองจำนวน 395 ยูนิต ส่วนระดับราคาไม่เกิน 1.01 – 1.5 ล้านบาท มีจำนวน 1,318 ยูนิต ในจำนวนนี้เป็นการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่จำนวน 770 ยูนิต