อัพเดท 22 ปีรถไฟฟ้า 6 สายเชื่อมกทม.-ปริมณฑล เปิดให้บริการแล้ว 211 กม.

You are currently viewing อัพเดท 22 ปีรถไฟฟ้า 6 สายเชื่อมกทม.-ปริมณฑล เปิดให้บริการแล้ว 211 กม.

นับตั้งแต่มีการเปิดให้บริการระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสครั้งแรกตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2542 ปัจจุบันเมืองกรุงเทพฯมีรถฟ้าไฟเปิดให้บริการมาแล้ว 22 ปีเต็ม ถือเป็นหนึ่งในช่องทางเลือกในการเดินทางของคนกรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนจากการโดยสารยานพาหนะบนท้องถนนทั้งรถโดยสาสาธารณะและรถยนต์ส่วนตัว มาใช้บริการระบบขนส่งทางรางมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางบนท้องถนนที่มีปัญหาด้านการจราจรติดขัด

22 ปีเปิดให้บริการรถไฟฟ้าแล้ว 211 กม.

ทั้งนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้กำหนดแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-MAP) ระยะเวลา 20 ปี (ปี 2553-2572) จำนวนรถไฟฟ้า 12 สาย ครอบคลุม 515.2 กิโลเมตร รวม 312 สถานี เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร)

แต่ตามแผนเร่งรัดของมติคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายให้เร่งการดำเนินการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้า 10 สายหลักจากทั้งหมด 12 โครงการ ระยะทาง 464 กิโลเมตร

อัพเดทข้อมูลล่าสุด ระบบรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล คือ ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ ครอบคลุมระยะทางรวม 210.9 กิโลเมตร โดยมีผู้ให้บริการทั้งหมด 3 ราย  คือ  บีทีเอสซี, บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM  และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

โดยแบ่งเป็นการดำเนินงานของ บีทีเอสซี หรือบีทีเอส ระยะทางรวม 70 กิโลเมตร ในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลักและส่วนต่อขยาย 1 และ 2 รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1

ในขณะที่ BEM หรือ รฟม. เปิดให้บริการรถไฟฟ้า2สาย คือ สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ระยะทางรวม 71 กิโลเมตร แบ่งเป็นสายสีน้ำเงินเดิม หัวลำโพง-บางซื่อ และสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-หลักสอง และบางซื่อ-ท่าพระ รวมระยะทาง 48 กิโลเมตร จำนวน38 สถานี และสายสีม่วง เตาปูน-คลองบางไผ่ ระยะทาง 23  กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี

ส่วน รฟท. เปิดให้บริการรถไฟฟ้า 2 สาย คือ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เส้นทางพญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 28.5 กิโลเมตร และรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม  บางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตรจำนวน  8 สถานี

และรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15  กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี  ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าชานเมืองสายล่าสุดที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

“บีทีเอส” รถไฟฟ้าสายแรกของเมืองไทยเชื่อม3จังหวัดรวมระยะทาง 70 กม.

โดยในส่วนของบีทีเอสซี ซึ่งได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสหรือ Sky Train ครั้งแรกเมื่อปี 2542 แนวเส้นทางรถไฟฟ้าได้วิ่งผ่านย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพ ทั้งสุขุมวิท สยาม เพลินจิต ชิดลม อโศก ทองหล่อ รวมถึงสีลมและสาทร และเป็นรถไฟฟ้าสายแรกที่วิ่งผ่าน 3 จังหวัดคือ ปทุมธานี,กรุงเทพ และสมุทรปราการ โดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวน

ประกอบด้วย เส้นทางรถไฟฟ้าสายหลัก ระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร จำนวน 24 สถานี คือ สายสุขุมวิท หมอชิต – อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร และสายสีลม สนามกีฬาแห่งชาติ – สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร

หลังจากนั้นในปี 2552 ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย จากรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลัก ระยะทาง 12.75 กิโลเมตร ประกอบด้วย ส่วนต่อขยายสายสีลม สะพานตากสิน – บางหว้า ระยะทาง 7.45 กิโลเมตร จำนวน 6 สถานี และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท อ่อนนุช – แบริ่ง ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร  จำนวน 5 สถานี

และในปี 2561 ได้เปิดเส้นทางเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ แบริ่ง – เคหะฯ ระยะทาง 13 กิโลเมตร จำนวน 9สถานี

ปี 2563 ได้เปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ หมอชิต- คูคต ระยะทาง 19  กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี และรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1 กรุงธนบุรี-คลองสาน ระระทางประมาณ 2 กิโลเมตร จำนวน 3 สถานี

เปรียบเทียบการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าของเมืองกรุงเทพฯกับประเทศใกล้เคียง

ทั้งนี้จากข้อมูลในรายงานประจำปี 2563/64 ของบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โอลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในปี 2563 ท่ผ่านมา ระบุว่า อัตราการครอบคุลุมพื้นที่ของรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เป็น 15.6 กิโลเมตรต่อประชากรล้านคน เนื่องจากมีการขขายตัวของโครงข่ายระบบรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคตครบทั้ง 16 สถานี รวมระยะทาง 19 กิโลเมตร และการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะยที่ 1 จำนวน 3 สถานี ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกันในด้านของอัตราการครอบคลุมพื้นที่ของรถไฟฟ้าในประเทศไทยถือว่ายังมีสัดส่วนน้อย เช่น ประเทศญี่ปุ่น มีอัตราครอบคลุมพื้นที่ของรถไฟฟ้าในกรุงโตเกียว อยู่ที่  41.6 กิโลเมตรต่อประชากรล้านคน ประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ 39.3 กิโลเมตรต่อประชากรล้านคน และประเทศฮ่องกงอยู่ที่ 35.9 กิโลเมตรต่อประชากรล้านคน

สะท้อนให้เห็นว่าเมืองกรุงเทพฯยังต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าอย่าเร่งด่วนเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียง