“เหล็กสยามฯ”คว้างานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงช่วงมวกเหล็กและลำตะคอง

You are currently viewing “เหล็กสยามฯ”คว้างานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงช่วงมวกเหล็กและลำตะคอง

เหล็กสยามยามาโตะ หรือ SYS   คว้างานเมกะโปรเจคโครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย เส้นทาง กรุงเทพฯ – หนองคาย โดยใช้เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนทั้งโครงการมากกว่า 8,000 ตัน ทำอุโมงค์ยาว 8 กิโลเมตร ช่วงมวกเหล็กและลำตะคอง

นายพงษ์ศักดิ์ แห่ล้อม ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด หรือ SYS ผู้ผลิตเหล็กเอชบีม ไวด์แฟลงก์  เปิดเผยว่า บริษัทได้รับเลือกจากบริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย เส้นทาง กรุงเทพฯ – หนองคาย เพื่อนำเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ภายใต้แบรนด์ SYS มาใช้ในส่วนโครงสร้างอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงช่วงมวกเหล็กและลำตะคอง  เนื่องจากเป็นเหล็กคุณภาพสูง มีคุณสมบัติตรงตามการใช้งานของโครงการนี้ โดยมีทีมวิศวกรให้คำแนะนำทางด้านเทคนิค และมีทีมประสานงานเพื่อวางแผนการส่งมอบเหล็กให้โครงการดำเนินงานก่อสร้างได้อย่างต่อเนื่อง

ด้านนายธนนท์ ดอกลัดดา ผู้จัดการโครงการ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ร่วมลงนามในสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อดำเนินงานโยธาโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค สายกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา) ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย

โดยบริษัทเลือกใช้เหล็กของ SYS จำนวนกว่า 8,000 ตันเพื่อใช้ในส่วนโครงสร้างอุโมงค์ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ของโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย สัญญาที่ 3-2 ในส่วนของงานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคองของรถไฟความเร็วสูงเฟสแรก (ช่วงมวกเหล็กและลำตะคอง) ระยะทางรวม 12.23 กิโลเมตร โดยมีกำหนดส่งมอบโครงการและเปิดให้ใช้บริการภายในปี 2569

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน เป็นโครงการเมกะโปรเจคของประเทศไทยที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา โดยเส้นทาง กรุงเทพฯ – หนองคาย ถือเป็นเส้นทางนำร่องจากทั้งหมด 4 เส้นทาง แบ่งการก่อสร้างออกเป็นสองเฟส เฟสแรกกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร ตลอดทั้งเส้นทางมี 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา เป็นการก่อสร้างในลักษณะทางยกระดับ 188.68 กิโลเมตร คันทางระดับดิน 54.99 กิโลเมตร และอุโมงค์บริเวณมวกเหล็กและลำตะคอง 8 กิโลเมตร