ธนาคารแห่งประเทศไทยเผย หลังเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัว ภาพรวมตลาดอสังหาฯ-ธุรกิจเกี่ยวเนื่องปรับตัวดีขึ้นหลังรับผลกระทบจากโควิด-19 เห็นควรไม่ต่อมาตรการ LTV ระบุหากขยายระยะเวลาการผ่อนคลายอาจเอื้อให้เกิดการสะสมความเสี่ยงในระบบการเงิน โดยเฉพาะการเก็งกำไรจากผู้มีรายได้ปานกลาง-สูง ส่งผลต่อระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงในอนาคต

ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ เปิดเผยว่า จากการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนและทั่วถึงมากขึ้น ขณะเดียวกันภาคอสังหาริมทรัพย์ก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งฝั่งของอุปสงค์และอุปทาน รวมทั้งการจ้างงานในภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นมากแล้ว
ดังนั้น ธปท. จึงเห็นควรจะไม่ต่ออายุการผ่อนคลายมาตรการการกำหนดอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value : LTV) จากที่กำหนดสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 31 ธันวาคม 65 นี้ จากที่ก่อนหน้านี้จำเป็นต้องผ่อนคลายมาตรการ LTV โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2664 – 31 ธันวาคม 2565 เนื่องจากเห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 (ช่วงเมษายน2564) กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ฐานะการเงินในบางภาคธุรกิจและครัวเรือนยังเปราะบาง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพยุงการจ้างงานเพิ่มเติม เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
ทั้งนี้เชื่อว่าการสิ้นสุดการผ่อนคลายมาตรการ LTV ไม่เป็นอุปสรรคต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากเกือบทั้งหมดกู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกที่มูลค่า ต่ำกว่า 10 ล้านบาทซึ่งมาตรการ LTV ปัจจุบันสำหรับซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกที่ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาทผ่อนคลายมากอยู่แล้ว (กำหนดไว้ที่ร้อยละ 100 แล้ว)
สำหรับตัวเลขการโอนอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 พบว่ามียอดการโอนขยายตัวสูงถึง 8.5% และจำนวนตัวเลขการเปิดโครงการใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ 9,000 หน่วยต่อเดือนเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 9,200 หน่วยต่อเดือน
“วัตถุประสงค์ของการผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราวนั้น เพื่อเติมเม็ดเงินใหม่ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก โดยการเพิ่มแรงจูงใจในการซื้อที่อยู่อาศัยให้กลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นไปที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่มากนัก และมีความสามารถรองรับการก่อหนี้เพิ่มได้ ทั้งนี้มองว่า หากมีการขยายระยะเวลาการผ่อนคลายมาตรการอาจเอื้อให้เกิดการสะสมความเสี่ยงในระบบการเงินในระยะต่อไปได้ เช่น การเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์โดยผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงและส่งผลต่อระดับหนี้ครัวเรือนให้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต” ดร.ชญาวดี กล่าวในที่สุด