จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ให้ได้รับสิทธิครอบครองที่ดินได้ไม่เกิน 1 ไร่ จำนวนเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ระยะเวลาการลงทุนไม่น้อยกว่า 3 ปีนับจากวันที่ยื่นขอ หากถอนการลงทุนก่อนกำหนดครบระยะเวลาการดำรงทุน หรือก่อนครบ 3 ปี สิทธิที่ได้รับจากที่ดิน 1 ไร่จะต้องระงับไป หลังจากที่ข่าวดังกล่าวมีการเผยแพร่ออกไป ส่งผลให้กลายเป็นประเด็นร้อนในทันทีและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง จนมีข่าวว่า ครม.ได้มีการหาลือในทางลับ ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า “ในขั้นตอนนี้ยังปรับเกณฑ์บางอย่างได้ เพื่อให้สังคมเข้าใจและยอมรับ” และมียังแผนที่จะให้มอบหมายให้ตัวแทนของ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ออกมาร่วมชี้แจง โดยหลังประชุมครม.จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อรับฟังความคิดเห็นก่อนตรวจร่าง เมื่อร่างเสร็จอาจนำขึ้นรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง หากมีผู้ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ก็จะมีการนำเข้าครม.อีกครั้งหนึ่ง
ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI ได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นว่า มาตรการส่งเสริมชาวต่างชาติเฉพาะกลุ่มให้มีสิทธิซื้อบ้าน+ที่ดินไม่เกิน 1ไร่ ในเขตเมือง เริ่มร้อนแรง มีการถกเถียงกันมากขึ้นๆ และระบุว่าคือ “ขายชาติ” เมื่อมีคนค้านมากๆเข้าก็มีคนเสนอให้หาทางถอยด้วยการปรับเปลี่ยนจากยอมให้ชาวต่างชาติ“ถือกรรมสิทธิ์”เป็น”การเช่าระยะยาว” ไม่เกิน 30 ปีแทน เพราะ“การเช่า”จะเรียกว่า “ขาย” ไม่ได้
ส่วนการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวระยะสั้นนั้นคนไทยเกือบทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้คนไทยมีงานทำมากขึ้นมีรายได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน คนไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร จึงรักผืนแผ่นดินมากซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
ความคิดดังกล่าวข้างต้นจากการขาย การเช่าระยะยาว และการท่องเที่ยวระยะสั้น 3 กรณี ถ้านำมาประมวลและเปรียบเทียบเป็นตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ จะเป็นดังนี้…
ถ้ามีชาวต่างชาติจะแต่งงานกับคนไทยตลอดชีวิตและคนไทยยอมแต่งด้วย จะถูกสรุปว่า”ขายชาติ”
แต่ถ้าเขาขอแต่งงานด้วยระยะยาวไม่เกิน30 ปีจะมีผู้รู้สึกว่าน่าจะยอมรับได้
แต่ถ้าเขาขอแต่งด้วยไม่กี่วันโดยจ่ายค่าตอบแทนตามที่เราต้องการ เราก็ถือว่าไม่น่าจะเสียหายอะไร
กระนั้นหรือ?
ถ้าชาวต่างชาติซื้อบ้าน+ที่ดิน 1 ไร่ ในราคา 40 ล้านบาท จะเทียบเท่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาใช้จ่ายคนละ 50000 บาท 800 คน
หรือถ้าซื้อคอนโดราคา 10 ล้านบาท จะเทียบเท่านักท่องเที่ยวที่ใช้จ่าย50,000 บาท 200 คน
บางคนคิดว่าการยินยอมให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดินได้ไม่เกิน1 ไร่จะก่อให้เกิดการเก็งกำไรทำให้ที่ดินราคาแพงจนคนไทยซื้อไม่ไหว
ที่จริง “การเก็งกำไร” นั้นประเทศไทยเราเปิดกว้างมานานแล้วให้ชาวต่างชาติทั่วโลกเข้ามาลงทุน/เก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยยกเว้นการเสียภาษีเงินได้ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก อนึ่งการลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์ ใช้เงินลงทุนเพียงหลักหมื่นก็ทำได้อีกทั้งสภาพคล่องการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯก็สูงกว่าและดีกว่าอสังหาริมทรัพย์มากกล่าวคือ ถ้าต้องการขายหลักทรัพย์จะสามารถขายได้เกือบทุกวันแต่ถ้าจะขายที่ดินส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาเป็นเดือน
ดังนั้นชาวต่างชาติถ้าต้องการเก็งกำไรในประเทศไทยเขามีทางเลือกที่ดีกว่า ง่ายกว่าการเก็งกำไรที่ดิน ก็คือตลาดหลักทรัพย์ฯ นั่นเองหรืออาจจะหันไปเก็งกำไรเงินตราในสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย…
“ผมจึงไม่คิดว่าชาวต่างชาติจะแห่กันมาซื้อบ้าน+ที่ดินมาก อย่างที่พวกเราหลายคนเป็นห่วงเพราะตั้งแต่ถูกจำกัดด้วยคน 4 กลุ่ม ที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ ผู้มีรายได้สูงคนเกษียณ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่ประสงค์พำนักเพื่อทำงาน ผมยังเชื่อว่าชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะนิยมซื้อคอนโดฯหรือห้องชุด ที่ประเทศไทยเปิดโอกาสให้ซื้อได้มานานแล้ว โดยจะซื้อมูลค่ากี่ร้อยล้านก็ได้ โดยไม่จำกัดด้วยขนาด หรือราคาของห้องชุด เพียงแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 49 ของแต่ละอาคารชุดส่วนที่เหลือจะถือกรรมสิทธิ์โดยคนไทยร้อยละ 51เหตุผลที่ชาวต่างชาติจะนิยมคอนโดฯมากกว่าเพราะคอนโดฯมักมีทำเลใจกลางเมืองที่เดินทางสะดวกและใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆมากกว่า”
ถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้แล้วการส่งเสริมให้ชาวต่างชาติให้มาซื้อบ้านหรือคอนโดฯในประเทศไทยจะเปรียบเสมือนมาตรการยิงนกทีเดียวได้ 3 ตัว คือ.-
1.เป็นการส่งเสริมการส่งออกโดยสินค้านั้นยังคงอยู่ในประเทศไทย
2.เป็นการส่งเสริมการลงทุนที่เราได้เงินตราเข้าประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้คนไทยมีรายได้ดีขึ้น
3.เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างถาวรเพราะเขาจะอยู่นานมากขึ้นและมาบ่อยๆช่วงที่อยู่ก็ต้องจับจ่ายใช้สอยต่างๆ
เมื่อชาวต่างชาติมาซื้อบ้านหรือคอนโดฯแต่ละราย เทียบเท่านักท่องเที่ยวหลายร้อยคนแล้วการส่งเสริมให้อยู่ระยะยาวจะดีกว่าการส่งเสริมให้อยู่ระยะสั้นๆหรือไม่?