ครม.มีมติให้มหาดไทยถอนร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวฯ หวังนำไปรับฟังความคิด–วิเคราะห์ผลกระทบ และนำไปศึกษาเพิ่มเติมให้มีความรอบคอบถี่ถ้วน ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน รวมถึงการฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อพิจารณาถึงผลดีผลเสียที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ–สังคม เพื่อให้ร่างกฎกระทรวงเกิดประสิทธิภาพเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ
วันนี้(8 พฤศจิกายน 2565) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าครม.ได้อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทย(มท.)ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้เสนอให้เพิกถอนมติครม.วันที่ 25 ตุลาคม 2565 ในการแก้ไขการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อนำไปศึกษาเพิ่มเติม รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์อย่างรอบด้านของผู้ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง สู่ประเทศไทย พ.ศ. … ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เป็นการเฉพาะเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินของกลุ่มคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท ได้แก่
1.กลุ่มประชาคมโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง
2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ
3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย
4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 1 ไร่ ตาม ม.96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยต้องนำเงินมาลงทุนในธุรกิจ หรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท โดยต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น สำหรับการได้มาซึ่งที่ดินที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวโดยทั่วไปยังคงเป็นไปตามกฎกระทรวง พ.ศ.2545 ที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสาระสำคัญเหมือนเดิมแต่ให้คงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ในไทยไว้ 5 ปี
นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้ขอถอนร่างกฎกระทรวงเพื่อนำไปรับฟังความคิดและวิเคราะห์ผลกระทบและนำไปศึกษาเพิ่มเติมให้มีความรอบคอบ ถี่ถ้วน และครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน รวมถึงการฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อพิจารณาถึงผลดีผลเสียที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ร่างกฎกระทรวงเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติต่อไป