“ลุมพินี วิสดอมฯ” แนะผู้ประกอบการอสังหาฯ เลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในประเทศไทย เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายตามพันธสัญญา COP26 ที่ประเทศไทยจะลดปริมาณการปล่อย CO2 ลงมา 20-25% ในปี 2573
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาในเครือ บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ LPN เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบแนวคิด BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy)ซึ่งเป็น โมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจว่า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องใช้ทั้งทรัพยากรแรงงานและ วัสดุจำนวนมาก ในขณะที่กระบวนการก่อสร้างยังก่อให้เกิดมลภาวะทั้งฝุ่น และเสียง
จากงานวิจัยของ Architecture 2030 องค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีพันธกิจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมก่อสร้างและสร้างแนวทางแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ มาตั้งแต่ปี 2545 ระบุว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างผลิตก๊าซเรือนกระจกหรือ CO2 ในสัดส่วนกว่า 40% ในปี 2565 โดยแบ่งเป็น 27% มาจากกระบวนการบริหารจัดการอาคาร(Building Operations) 6% มาจากกระบวนการก่อสร้าง (Building Construction Industry) และ 7% มาจากกระบวนการอื่นๆ(Others Construction Industry) ซึ่งลดลงจากปี 2564 ที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 ในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ 47%
ทั้งนี้จากการที่อุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเกือบครึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก โดยเฉพาะอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการบริหารจัดการอาคาร จึงเป็นบทบาทและหน้าที่ที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ฯ จะต้องปรับแนวทางในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้ลดการสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องของการลดฝุ่น เสียง และขยะจากกระบวนการก่อสร้างไปจนถึง การลดปริมาณการปล่อย CO2 ภายใต้กระบวนการพัฒนาโครงการไปจนถึงการบริหารจัดการอาคาร เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการลด CO2 ของประเทศไทยภายใต้พันธสัญญาที่รัฐบาลไทยได้ให้ไว้กับภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 ที่กลาสโกว์ สกอตแลนด์ ประเทศอังกฤษ(The 26 of Conference of the Parties:COP26) ที่มีการประชุมระหว่างวันที่ 1-12 พฤศจิกายน 2564 ว่าประเทศไทยจะลดปริมาณ การปล่อยก๊าซ CO2 ลงมา 20-25% ภายในปี 2573 จากจำนวนก๊าซ CO2 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก หรือประมาณ 0.8% ของทั้งโลก ในปี 2561 ตามการจัดอันดับของ องค์กร Climate Watch และในปี 2563 ประเทศไทย มีการปล่อยก๊าซ CO2 224.3 ล้านตัน ลดลง 11.34% จากจำนวนการปล่อยก๊าซ CO2 253 ล้านตันในปี 2562
“การออกแบบและการเลือกวัสดุที่เหมาะสมเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซ CO2
โดยปัจจุบันผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างได้มีการพัฒนาและนำเทคโนโลยี เข้ามาใช้ในการพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิตไปจนถึงการนำวัสดุไปใช้ในกระบวนการก่อสร้าง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาคารเป็นอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อย CO2 อย่างยั่งยืน”นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว
จากการศึกษาของลุมพินี วิสดอมฯ พบว่าปัจจุบันมี วัสดุทางเลือกใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยลดการปล่อย CO2 ในขณะเดียวกันยังเป็นวัสดุที่ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ในการออกแบบ รวมไปถึงวิธีการก่อสร้างใหม่ๆ ที่ส่งผลให้อาคารที่ออกแบบใหม่มีรูปร่างหน้าตาและการออกแบบพื้นที่แบบใหม่ ๆ เช่น
Wooden Bamboo
เป็นนวัตกรรมที่นำผลงานวิจัยและเทคโนโลยี เข้ามาเสริมความแข็งแรงของไม้ไผ่ด้วยการเสริมเส้นใยไผ่ประสิทธิภาพสูงเข้าไป ทำให้เปลี่ยนข้อเสียของไม้ไผ่ที่รับแรงดึงไม่ค่อยได้ เป็นความสามารถ ในการรับแรงดึงที่มากกว่าเหล็กได้ถึง 3 เท่า ด้วยอายุขัยยาวนานมากถึง 50 ปีของไม้ไผ่ เมื่อเปรียบเทียบกับเหล็กแล้ว วัสดุจากไม้ไผ่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเหล็กถึง 22 เท่า ตลอดอายุการใช้งาน
I-Mesh Textile
I-Mesh ถูกเปิดตัวและใช้งานครั้งแรกในงาน Expo 2020 ที่ประเทศดูไบ โดยใช้เป็นหลังคากันแดดบริเวณทางเดินส่วนกลาง I-Mesh ผลิตจากเส้นใย Carbon, Fiber, Cheiron, Aramid และ Basalt
ทอเป็นวัสดุคล้ายใยแมงมุมโดยใช้เส้นด้ายเคลือบด้วยเรซิน ทำให้ได้สิ่งทอที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถใช้ได้ทั้งในร่มและกลางแจ้ง มีอายุการใช้งานยาวนานต่างจากวัสดุก่อสร้างที่เป็นสิ่งทอทั่วไป
PETG Particles
PETG คือวัสดุที่อยู่ใกล้ตัวเราเป็นอย่างมาก เช่นขวดน้ำที่ทำจากพลาสติกใส (โดยเรียกอีกชื่อว่าขวด PET) โดยกระบวนการของวัสดุนี้คือการนำเอาพลาสติกใส มาผ่านกระบวนการให้กลับไปเป็นเม็ดพลาสติก ก่อนนำไปทำเป็นเส้นพลาสติก และนำใช้เป็นวัสดุในเครื่องพิมพ์สามมิติ โดยข้อดีของวัสดุชนิดนี้คือน้ำหนักที่เบา แต่มีความแข็งแรงสูง มีความมันวาว แต่แสงสามารถผ่านได้ ทนต่อการเสื่อมสภาพอันเนื่องมาจากการกัดกร่อนของ UV ที่สำคัญที่สุดคือวัสดุชนิดนี้สามารถนำกลับไป Recycle ได้อย่างไม่จบสิ้น โดยจากงานวิจัยยังได้พบอีกว่า ยิ่งผ่านการใช้งานและ Recycle ไป PETG จะยิ่งปล่อยคาร์บอนน้อยลงมากกว่า 50%
ทั้ง 3 วัสดุที่กล่าวมาข้างต้น เป็นตัวอย่างของวัสดุที่ถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้แนวคิดที่ลดการปล่อย CO2 ไปสู่ชั้นบรรยากาศ โดยใช้หลักการของการ Reuse วัสดุเก่ากลับมาใช้ใหม่, การ Recycle วัสดุอันเป็นการลดการผลิตวัสดุใหม่ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม รวมไปถึงการออกแบบให้โครงสร้างสามารถแยกส่วนได้ ซึ่งทำให้กระบวนการ Reuse และ Recycle สามารถเกิดขึ้นได้จริง
“ถึงแม้ธุรกิจอสังหาฯ จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสร้างมลภาวะที่เป็นพิษในกระบวนการก่อสร้างทั้งฝุ่น เสียง และ การปล่อยก๊าซ CO2 แต่เราเลือกที่จะเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลภาวะที่เป็นพิษให้น้อยที่สุดได้ โดยการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกมากขึ้นทั้งวัสดุก่อสร้างและวัสดุตกแต่งภายใน พัฒนากระบวนการก่อสร้างให้สามารถลดมลภาวะให้น้อยที่สุด เพื่อให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม ที่มีส่วนช่วยลดโลกร้อน และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG อย่างยั่งยืน” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวในที่สุด