พร็อพเพอร์ตี้กูรูฯเปิดตัวแบรนด์ใหม่ “พร็อพเพอร์ตี้กูรู ฟอร์ บิสิเนส”พร้อมโซลูชั่นครบวงจรหวังตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มธุรกิจและองค์กรในภาคอสังหาริมทรัพย์ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถรับมือสภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในอนาคต เผยแนวโน้มตลาดอสังหาฯ 5 ประเทศในปี 66 พบยังชะลอตัวจากหลายปัจจัยลบ แฟลต-บ้านเช่า-บ้านมือสองเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้น
นายแฮรี่ วี คริชนัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป เปิดเผยว่า ล่าสุด พร็อพเพอร์ตี้กูรูได้เปิดตัวแบรนด์ใหม่ “พร็อพเพอร์ตี้กูรู ฟอร์ บิสิเนส(PropertyGuru For Business)” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้คำแนะนำลูกค้าในกลุ่มธุรกิจและองค์กร อาทิ ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์, เอเจนซี่อสังหาฯ, ธนาคารและสถาบันการเงิน, นักประเมินค่าทรัพย์สิน, นักวางผังเมือง รวมไปถึง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการวางนโยบายต่างๆซึ่งต้องการสร้างความโปร่งใสให้กับเส้นทางอสังหาฯ และสร้างแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้สำหรับทุกคนที่หาบ้านรวมไปถึงพันธมิตรทางธุรกิจของบริษัทฯ ด้วยการทุ่มเทสรรพกำลังทั้งข้อมูล เทคโนโลยี และบุคลากรที่มี จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจให้กับพันธมิตรทางธุรกิจและลูกค้าของเราได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น
“การตัดสินใจต่างๆ ในระดับองค์กร หรือในระดับเมือง นับเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญเนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้คนนับพัน หรืออาจมากกว่าหลายล้านคน พร็อพเพอร์ตี้กูรู ฟอร์ บิสิเนสจะเป็นโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ ที่ช่วยแนะแนวทางให้กับลูกค้าของเราเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนลง เราเชื่อว่า พร็อพเพอร์ตี้กูรู ฟอร์ บิสิเนส เปิดตัวในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าองค์กรของเรามีข้อมูล, เครื่องมือ และรายละเอียดที่ถูกต้องในการตัดสินใจ เพื่อรับมือกับสภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนที่รออยู่ข้างหน้า และเตรียมพร้อมให้บริการลูกค้าของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น โดนบริการและโซลูชั่นหลักของพร็อพเพอร์ตี้กูรู ฟอร์ บิสิเนส ประกอบด้วย ดาต้าเซนส์(DataSense), แวลูเน็ต (ValueNet), ฟาสต์คีย์ (FastKey), การจัดอีเวนต์ต่าง ๆ รวมไปถึงการบริการด้านกลยุทธ์การตลาด (MaaS)”นายแฮรี่ กล่าว
นายแฮรี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลตลาดเชิงลึกของพร็อพเพอร์ตี้กูรู ฟอร์ บิสิเนส อย่าง “ดาต้าเซนส์” นั้น (ก่อนหน้านี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ แวนเทจพลัส (Vantage+)) จะนำเสนอชุดฟีเจอร์และโซลูชั่นใหม่ ๆ ที่ช่วยตอบโจทย์ผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ นำข้อมูลบทวิเคราะห์ไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการดำเนินธุรกิจของตัวเองได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบันดาต้าเซนส์มีให้บริการเฉพาะในประเทศมาเลเซียเท่านั้น โดยมีแผนจะขยายบริการดังกล่าวมายังประเทศสิงคโปร์, เวียดนาม, ไทย และอินโดนีเซียต่อไป
โดยการเปิดตัวของพร็อพเพอร์ตี้กูรู ฟอร์ บิสิเนสในครั้งนี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเนื่องจากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังอยู่ในช่วงที่เทคโนโลยีกำลังได้รับความสนใจ และองค์กรต่าง ๆ กำลังพยายามเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลมากยิ่งขึ้นทำให้บริการและโซลูชั่นของบริษัทมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
ด้านนางชินยี โฮ–สแตรนกาส กรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจการบริการข้อมูลและซอฟต์แวร์(DSS) พร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป กล่าวว่า ทราบดีว่าแต่ละประเทศมีขั้นตอน กฎระเบียบในการครอบครอง รวมไปถึงการจัดการที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น พร็อพเพอร์ตี้กูรู ฟอร์บิสิเนสจะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบในประเทศที่เราให้บริการ โดยจะนำเอาระบบดิจิทัลเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจอสังหาฯ สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกเพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ในระบบนิเวศของธุรกิจอสังหาฯ ที่มีความโปร่งใสยิ่งขึ้น
ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ยังใช้ระบบและกระบวนการทำงานแบบดั้งเดิม ซึ่งไม่ได้แบ่งปันแบบดิจิทัลทำให้ยากต่อการอัปเดต แก้ไข หรือปรับปรุง อย่างไรก็ตามสำหรับองค์กรและบริษัทต่าง ๆ ที่พร้อมจะใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลแล้วบริการและโซลูชั่นของ พร็อพเพอร์ตี้กูรู ฟอร์ บิสิเนส คือคำตอบสำหรับลูกค้าที่กำลังมองหาแพลตฟอร์มข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และซอฟต์แวร์อัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจของคุณ ข้อมูลเชิงลึกในภาคอสังหาฯ นั้นไม่ได้มีประโยชน์แค่เฉพาะกับผู้พัฒนาโครงการที่มีวิสัยทัศน์เท่านั้น แต่การทำให้ข้อมูลเป็นดิจิทัลยังมีประโยชน์นานัปการสำหรับทุกคนในวงจรของอสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็น การเงิน-การธนาคาร, การก่อสร้าง รวมไปถึงผู้ให้บริการต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมอสังหาฯ อีกด้วย นี่คือความตั้งใจของบริษัทฯที่จะสนับสนุนความยั่งยืน, นวัตกรรม และเทคโนโลยีให้กับภูมิภาคนี้
นายเจเรมี วิลเลียมส์ กรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจมาร์เก็ตเพลส พร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป กล่าวว่า ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปในภาคธุรกิจอสังหาฯนั้น พบว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับความต้องการในการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล และบิ๊กดาต้า ควบคู่กับความสามารถที่จะมอบบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงกับลูกค้าได้เป็นอย่างดี การรวมบริการและโซลูชั่นของบริษัทฯให้อยู่ภายใต้แบรนด์เดียวจะช่วยให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ การตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตของผู้คนที่พึ่งพาข้อมูลด้านอสังหาฯ เหล่านี้
“พร็อพเพอร์ตี้กูรู ฟอร์ บิสิเนสจะช่วยให้ผู้คนในแวดวงอสังหาฯ เข้าถึงรายการประกาศอสังหาฯกว่าล้านรายการบนเว็บไซต์ต่าง ๆ ของเรา ซึ่งประกาศเหล่านี้จะให้ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมที่หาไม่ได้จากแพลตฟอร์มอื่น ๆ ช่วยให้ลูกค้าของเราเห็นตลาดภาพรวมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น” นายเจเรมีกล่าว
สำหรับแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2566 โดยแยกได้ 5 ประเทศ คือ
สิงคโปร์
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 กิจกรรมการขายในตลาดที่อยู่อาศัยของสิงคโปร์คาดว่าจะมีการชะลอตัวเนื่องจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการควบคุมความร้อนแรงของราคาซึ่งบังคับใช้ในเดือนธันวาคม2565 แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ภาพรวมของเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัว
โดยสินค้าที่ผู้ซื้ออสังหาฯ ชาวสิงคโปร์ให้ความนิยมคือ แฟลต HDB (Housing and Development Board) ที่มีพื้นที่กว้าง ซึ่งในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมาเกิดสถิติการซื้อขายแฟลต HDB ที่สูงถึงล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามในปี 2566 เป็นที่คาดว่ากลุ่มผู้ซื้อบ้านหลังแรกในสิงคโปร์จะเบนเข็มไปเป็นการเช่าแทน เนื่องจากไม่มีเงินเก็บมากพอที่จะเริ่มต้นซื้อบ้านได้ อย่างไรก็ดี ในระยะกลาง-ระยะยาวสิงคโปร์จะยังคงเป็นประเทศที่สามารถดึงดูดนักลงทุนและผู้ซื้อต่างชาติเข้ามาได้อย่างต่อเนื่องซึ่งจะทำให้เกิดรายได้และคนมีพรสวรรค์ใหม่ ๆ ขึ้นในตลาด และแน่นอนว่าจะทำให้เกิดดีมานด์ใหม่ ๆ ในที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นได้อีก
มาเลเซีย
เช่นเดียวกับตลาดสิงคโปร์ และตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค สิ่งที่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในมาเลเซียต้องเผชิญในปี 2566 คืออัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้นจากดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง ดังนั้น ในการซื้อที่อยู่อาศัย ผู้ซื้อจะใช้เวลาในการตัดสินใจค่อนข้างนานกว่าปกติ แต่อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นดูจะไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อตลาดนักลงทุนเท่าใดนัก เนื่องจากยังมีส่วนได้จากส่วนต่างของกำไรจากการขายหรือการปล่อยเช่าที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
ส่วนตลาดผู้ขายก็ชะลอตัวไม่แพ้กัน นอกจากต้องดึงดูดผู้ซื้อด้วยการแข่งกันลดราคา เนื่องจากซัพพลายที่มีอยู่ในตลาดนั้นมีปริมาณค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามแม้เศรษฐกิจของมาเลเซียจะถูกคาดการณ์ว่าจะยังคงอยู่ในช่วงชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่สำหรับสภาวะตลาดที่อยู่อาศัยนั้นคาดว่ายังคงไปต่อได้ โดยมีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลเตรียมออกนโยบายเพื่อช่วยเหลือให้ชาวมาเลเซียมีบ้านได้ง่ายขึ้นในปีหน้านั่นเอง
อินโดนีเซีย
แม้ในปี2566 เราจะยังคงอยู่ในยุคเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่สำหรับอินโดนีเซียแล้ว การถดถอยของเศรษฐกิจคงไม่หนักเท่าพิษเศรษฐกิจอันเกิดจากโควิด-19 ที่ผ่านมา เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าจำเป็นอย่างน้ำมันปาล์มและถ่านหิน ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดนั่นเอง
ส่วนการขยายตัวของระบบขนส่งในประเทศ อาทิ ถนนและระบบขนส่งสาธารณะอย่างรวดเร็วทำให้เกิดทำเลศักยภาพใหม่ ๆ ขึ้นในอินโดนีเซีย และนั่นหมายถึงตัวเลือกที่เพิ่มมากขึ้นของผู้ที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยในอินโดนีเซีย และราคาจะยังอยู่ในระดับที่จับต้องได้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของผู้ที่สนใจจะซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองหรือลงทุนในทำเลศักยภาพใหม่เหล่านี้
โดยในช่วงปลายปี 2565 พบว่าราคาและดีมานด์ในที่อยู่อาศัยในอินโดนีเซียมีการปรับตัวขึ้นโดยเฉพาะบ้านเซกเมนต์ 1 พันล้านรูเปียห์อินโดนีเซียขึ้นไป (ราว 2.3 ล้านบาท) มีการค้นหาถึง56% บนเว็บไซต์ Rumah.com เมื่อเทียบกับอสังหาฯ ราคาอื่น ๆ และคาดว่าแนวโน้มดังกล่าวน่าจะยังคงอยู่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566
อีกหนึ่งปัจจัยของการเติบโตของตลาดอสังหาฯ ในอินโดนีเซียในปี 2566 ขึ้นอยู่กับมาตรการจากทางรัฐบาลในการที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ของประชากรในประเทศนั่นเอง
เวียดนาม
ในขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดอื่นๆในภูมิภาคจะเป็นไปอย่างช้า ๆ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2566 คาดว่าจะเป็นแบบ K-shape โดยที่ภาคส่วนต่าง ๆ มีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกันออกไป
โดยอุตสาหกรรมการส่งออกจะเติบโตอย่างคึกคักจากการเข้ามาลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติ ในขณะที่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลับคาดว่าจะเกิดการชะลอตัวเช่นเดียวกับตลาดอื่น ๆ
อย่างไรก็ดี ด้วยปริมาณซัพพลายที่ค่อนข้างน้อยในตลาดปัจจุบัน ผนวกกับเศรษฐกิจของเวียดนามที่คาดว่าจะโตดีกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค จะส่งผลต่อตลาดที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในเรื่องของราคาในตลาดรีเซล หรือบ้านมือสอง ขณะที่อัตราสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้นมีแนวโน้มที่ทำให้ผู้ซื้อบ้านในเวียดนามโดยเฉพาะในเซกเมนต์ตลาดกลางจะเปลี่ยนไปเช่าแทนการซื้อ
ไทย
ราคาอสังหาฯ โดยเฉพาะโครงการเปิดใหม่ในปี 2566 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 5-10% จากราคาต้นทุนการก่อสร้างทั้งค่าวัสดุ ค่าแรงขั้นต่ำ และราคาที่ดินที่สูงขึ้น แต่ถือเป็นโอกาสของบ้านมือสองหรือบ้านราคาต้นทุนเดิมที่คาดว่าจะได้รับความสนใจจากผู้ซื้อมากขึ้น
บ้านเดี่ยวมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการพื้นที่ใช้สอยที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค และความคืบหน้าของเส้นทางรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯรอบนอก ซึ่งมักเป็นทำเลของบ้านเดี่ยว จึงส่งผลให้ระดับราคาอสังหาฯ เพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้นอีก ส่งผลต่อผู้ที่กู้ซื้อบ้าน หรือกำลังผ่อนบ้านอยู่ ต้องจ่ายค่างวดมากขึ้นหรือใช้ระยะเวลาผ่อนนานขึ้น
ส่วนมาตรการรัฐที่หมดไปในสิ้นปี 2565 เช่น การลดค่าโอน-จดจำนอง เหลือ 0.01% รวมถึงมาตรการผ่อนคลายสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย(Loan to Value : LTV) ทำให้ผู้ซื้อบ้านหลังที่สองขึ้นไป หรือบ้านหลังแรกที่ราคาเกิน 10 ล้านบาท ต้องวางเงินดาวน์ 10-30% อาจทำให้ตลาดอสังหาฯ ชะลอตัว